HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 11/06/2555 ]
สธ.หวั่นโรคระบาด"มือ-เท้า-ปากเปื่อย"ลามหนักเปิดเทอมยอดป่วยเพิ่ม3เท่าต่ำ3ขวบอันตราย

  เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น เป็นฤดูกาลระบาดของ โรคมือเท้าปาก ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก โดยขณะนี้มีรายงานหลายจังหวัด เริ่มพบผู้ป่วยประปราย เช่น จ.กาญจนบุรี ยะลา จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ (สสจ.) เฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 20,000 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษาเนื่องจาก โรงเรียนทุกแห่งเปิดเทอม เด็กอยู่รวมกันจำนวนมากหากมีเด็กป่วยจะแพร่เชื้อติดกันได้ง่าย โดยหากพบผู้ป่วยในพื้นที่ก็ให้สอบสวนโรคและควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดทันที พร้อมทั้งขอความร่วมมือ ครูและผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ หาก พบเด็กป่วย มีไข้ มีแผลเปื่อยหลายแผลในปากและเจ็บ มีตุ่มพองขนาดเล็กขึ้น ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อให้การดูแลเด็กอย่างถูกวิธี และควบคุมโรคอย่างทันท่วงที
          ขณะที่ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการ ประเมินสถานการณ์โรคมือเท้าปากในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-เดือนพฤษภาคม 2555 สำนักระบาดวิทยารายงานทั่วประเทศ พบผู้ป่วย 6,109 ราย ไม่มีเสียชีวิต โดยพบ ภาคเหนือป่วยมากที่สุด จำนวน 1,868 ราย รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 1,748 ราย ภาคใต้ 1,573 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 920 ราย โดยจำนวนผู้ป่วย ในรอบ 5 เดือนปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 3 เท่าตัว ผู้ป่วย ร้อยละ 81 อายุต่ำกว่า 3 ขวบ
          โดยโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิด จากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) มีหลายชนิด ที่พบบ่อยคือ ไวรัส ค็อคแซกกี่ เอ 16 (Coxsackieviruses A 16) ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ป่วยประมาณ 7-10 วัน จะหายเองได้ และชนิดรุนแรงทำให้เด็กเสียชีวิตได้ คือ ไวรัสเอนเทอโร 71 (Enterovirus 71) เชื้อชนิดนี้พบในประเทศไทยน้อยมาก ส่วนใหญ่จะ พบระบาดในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เป็นต้น โดยอาการจะปรากฏหลังติดเชื้อประมาณ 3-6 วัน เริ่มจากมีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมาจะมีเจ็บปาก และเบื่ออาหารเนื่องจากมีแผลอักเสบที่ลิ้น เหงือกและกระพุ้งแก้ม ต่อมาจะเกิดผื่นแดง มักไม่คันขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นหรือที่หัวเข่าได้ ผื่นจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ จะแดง และแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ เชื้อโรคจะถูกขับออกมาทางอุจจาระของผู้ป่วย และติดต่อคนอื่นได้ จากการกิน โดยเชื้อจะติดมากับมือ น้ำลาย น้ำมูก และน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย
          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรค ขอให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กให้เด็กหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลล้างมือทุกครั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหาร หลังขับถ่ายและเล่นของเล่น ตัดเล็บให้สั้น เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสะสมในเล็บ และทำความสะอาดมือได้ง่าย ดูแลรักษาความสะอาดอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้และของเล่น ต่างๆ เป็นประจำด้วยน้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันแพร่เชื้อสู่เด็กอื่น หากมีเด็กป่วยหรือมีอาการสงสัยจะป่วยเป็นโรคมือเท้าปากในศูนย์เด็กเล็ก หรือ ที่โรงเรียน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย


pageview  1205456    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved