HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 24/09/2564 ]
ภาวะการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังและไขสันหลัง

 บทความโดย นพ.พล อนันตวราศิลป์
          นพ.อานุภาพ พันธุ์คงทรัพย์
          ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
          การบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในการเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ อุบัติเหตุทางจราจร (40-50%), ตกจากที่สูง, การเล่นกีฬา, ทำให้ถูกแรงกระแทกโดยตรงและโดยอ้อมที่บริเวณหลังส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้หลายระดับตั้งแต่อาการบาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงรุนแรงทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้
          อาการในผู้ป่วยขึ้นกับตำแหน่งและความรุนแรงที่ได้รับ โดยตำแหน่งการบาดเจ็บพบบ่อยมากกว่า 50% ที่กระดูก สันหลังระดับคอ ตำแหน่งที่พบบ่อย ระดับอื่นๆ ได้แก่ กระดูกสันหลังระดับอกต่อเอว และระดับเอว ส่วนระดับความรุนแรงมีตั้งแต่ อาการปวดบริเวณที่ได้รับ บาดเจ็บ, ภาวะหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง, อาการอ่อนแรงบริเวณแขนขาตามตำแหน่ง ของไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บ จนถึง อาการชาตามแขนขา ลำตัว, ความผิดปกติ ของการขับถ่ายปัสสาวะ, อุจจาระสำหรับการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังระดับคอมีโอกาสเกิดความผิดปกติของสัญญาณชีพและการหายใจได้
          เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัย ว่ามีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง แพทย์จะทำการส่งตรวจทางรังสีเพื่อประเมินตำแหน่งและความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ เพื่อตัดสินใจในการให้การรักษาต่อไป การตรวจทางรังสีในผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง ได้แก่
          1.เอกซเรย์กระดูกสันหลัง- เป็นการตรวจเบื้องต้น ดูรูปร่าง, การเรียงตัว ของกระดูกสันหลัง เพื่อหาภาวะกระดูกสันหลังแตกหรือเคลื่อน
          2.CT scan-การตรวจเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์เป็นการตรวจดูลักษณะ โครงสร้าง, การเรียงตัวของกระดูก สันหลังโดยละเอียด เพื่อหาภาวะกระดูกสันหลังแตกหรือเคลื่อน เป็นการตรวจที่ให้ความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์กระดูกสันหลังเบื้องต้น
          3.MRI-การตรวจภาพโดย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการตรวจเพื่อดูการบาดเจ็บของไขสันหลัง, เส้นประสาท, เอ็นยึดกระดูก, กล้ามเนื้อ รวมถึงเนื้อเยื่อต่างๆ โดยรอบกระดูกสันหลัง ซึ่งไม่สามารถเห็นได้จาก CT scan
          แนวทางการรักษา ในผู้ป่วยกระดูกสันหลังมีการบาดเจ็บควรได้รับการรักษาโดยรีบด่วนหลังจากการประเมินและให้การรักษาเบื้องต้นแล้ว สิ่งสำคัญคืออย่าให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม โดยการใช้กระดาน อุปกรณ์พยุงคอ และหลังเมื่อจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยบางกรณีหากมีกระดูกสันหลังเคลื่อนต้องใช้เครื่องดึงถ่วงน้ำหนักเพื่อลดการกดทับต่อไขสันหลังสำหรับยาที่มีประโยชน์ใน ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังในระยะแรกได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
          การรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับการ บาดเจ็บของกระดูก และไขสันหลัง มีหลากหลายระดับ ตั้งแต่การให้ยาลดการ อักเสบ, ยาคลายกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการ ปวดที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็น, กล้ามเนื้อ หรือภาวการณ์หดเกร็งตัวของ กล้ามเนื้อได้การใส่อุปกรณ์พยุงคอหรือหลัง (orthosis) ช่วยลดการขยับของกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลัง ช่วยลดอาการปวด ในผู้ป่วยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
          การผ่าตัด ในรายที่มีภาวะระบบ ประสาทถูกกดทับ ช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ช่วยทำให้ อาการทางระบบประสาทฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนั้นในรายที่มีภาวะกระดูกสันหลังหัก หรือเคลื่อนและมีความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง อาจมีการใส่เหล็กยึดดาม กระดูกเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ช่วยลดอาการปวดจากการบาดเจ็บได้


pageview  1205131    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved