HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 08/09/2564 ]
กทม.ดีเดย์เข็มแรก21ก.ย.ลุยฉีดไฟเซอร์ นร.กลุ่มเสี่ยงอายุ12-18ปี

รบ.อนุมัติงบ4,254ล้านซื้อซิโนแวคเพิ่ม12ล้านโดสหนุนเดินหน้าวัคซีนสูตรผสมสปสช.เริ่มแจกATK16กันยาป่วยใหม่13,821-ตาย241ศพ
          ยอดติดโควิดไทยเริ่มลดลงรายวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ 13,821 คน หายป่วย เพิ่มขึ้นต่อเนื่องวันเดียว 16,737 คน เสียชีวิต 241 ศพ ขณะที่การฉีดวัคซีนสะสม 35,912,894 โดส ด้านสปสช.เคาะดีเดย์ 16 ก.ย. แจกชุดตรวจโควิด ATK ด้วยตัวเองให้ปชช.กลุ่มเสี่ยง แจงยิบ 2 ช่องทาง "รับได้ที่ชุมชน-ตลาด / หน่วยบริการสธ.-ร้านขายยา" โดยลงทะเบียน ผ่านแอปเป๋าตัง ด้านครม.ทุ่มเงินกู้ 4,254 ล้าน ซื้อซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส ฉีดสูตรผสม กทม.ประเดิมฉีดไฟเซอร์เข็มแรกให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง อายุ 12-18 ปี เริ่ม 21 ก.ย.
          เมื่อวันที่ 7 กันยายน ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 13,821 คน เป็นการติดเชื้อใหม่ 13,303 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 518 คน รวมผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 1,279,480 คน หายป่วยเพิ่ม 16,737 คน รวมหายป่วยสะสม 1,122,169 คน กำลังรักษา 145,465 คน
          เซ่นโควิดรายวันอีก241ศพ
          ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 241 คน เป็นเพศชาย 133 ราย เพศหญิง 108 ราย อายุน้อยที่สุด 22 ปี อายุมากที่สุด 100 ปี เป็น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 169 ราย คิดเป็น 70% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 39 ราย คิดเป็น 16% ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 31 ราย คิดเป็น 13% และพบหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 ราย ในจ.บุรีรัมย์ โดยมาจากจ.สมุทรสาคร และจันทบุรี ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตอยู่ในกทม. มากที่สุด 85 ราย ในจำนวนนี้รายงานหลังเสียชีวิต เกิน 7 วัน 17 ราย สำหรับข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-5 กันยายน มีผู้ได้รับวัคซีนสะสม 35,912,894 โดส เป็นการฉีดเข็มที่ 1 สะสม 25,234,259 คน เข็มที่ 2 สะสม 10,074,612 คน เข็มที่ 3 สะสม 604,023 คน
          ATKลอตแรกถึงไทยพร้อมแจก
          ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการจัดหาชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) เพื่อแจกให้ประชาชนตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดด้วยตัวเอง โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดซื้อ ยี่ห้อเล่อปู๋ (LEPU) 8.5 ล้านชุด ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วันเดียวกันนี้ ชุดตรวจ ATK ลอตแรก 3 ล้านชุด มาถึงไทย โดยเครื่องบิน เช่าเหมาลำออกจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เตรียมแจกให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ประมาณกลางเดือนกันยายน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเดียวกัน 1 ล้านชุด ส่งถึงประเทศไทยแล้ว แต่เป็นส่วนของพรีออเดอร์ สำหรับจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป
          16ก.ย.แจก8.5ล้านชุดให้กลุ่มเสี่ยง
          วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ค "สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" โพสต์ข้อความ แจ้งความคืบหน้ากรณีแจกชุดตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ด้วยตัวเอง หรือ ATK ให้ประชาชน กลุ่มเสี่ยงระบุว่า สปสช.เตรียมแจกชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทุกสิทธิการรักษา ได้แก่ สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ตรวจโควิดด้วยตนเอง เพื่อป้องกันควบคุมโรค รู้เร็ว รักษาเร็ว ลดการระบาด โดยจะแจกคนละ 2 ชุด ห่างกัน 5 วัน โดยจะเริ่มแจกได้วันที่ 16 กันยายนเป็นต้นไป
          กระจาย2ช่องทาง/ชุมชน-ตลาด
          เฟซบุ๊ค สปสช.ยังให้รายละเอียดการแจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดำเนินการใน 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 แจก ATK ที่ชุมชนแออัดและตลาด ผู้ประสานงาน ที่ชุมชนกำหนด หรือ อสม., อสส. ลงทะเบียน รับ ATK กับศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) กรณีอยู่ในกทม. ส่วนต่างจังหวัด ผู้นำชุมชนลงทะเบียนรับ ATK กับหน่วยบริการในพื้นที่ เช่น รพ.สต. หรือ รพ.ใกล้ชุมชน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย 1.ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 2.ผู้สงสัยติดเชื้อ มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจหอบ หายใจลำบาก 3.ผู้อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อโควิด 4.ผู้ทำงานประสานงานในชุมชน
          สำหรับขั้นตอนนั้น เริ่มจากผู้ประสานงาน ที่ชุมชนกำหนดฯ แจก ATK ให้กลุ่มเป้าหมาย คนละ 2 ชุด Ffp ประชาชนที่ได้รับแจก ต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปเป๋าตัง กรณีไม่มี สมาร์ทโฟน ผู้ประสานงานฯ จะยืนยันตัวตนให้ เมื่อได้ชุดตรวจแล้วให้กลับไปตรวจโควิดด้วยตนเองที่บ้าน แจ้งผลตรวจให้ผู้ประสานงานฯ รับทราบ หากผลเป็นลบ แนะนำการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันโควิดและตรวจซ้ำอีกครั้งห่างกันครั้งละ 5 วัน
          ทั้งนี้ ถ้าผลเป็นบวกคือ ติดเชื้อโควิด ผู้ประสานงานจะลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน ผู้ติดเชื้อจะได้รับการจับคู่กับหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อดูแลรักษาที่บ้านตามมาตรฐาน กรณีจังหวัดนั้นยังไม่มีระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน จะเข้าระบบรักษากับหน่วยบริการต่อไป กรณีมีอาการ แพทย์พิจารณาสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ติดเชื้อ ผู้ประสานงานฯ นำไปส่งให้ผู้ติดเชื้อในชุมชน
          จุด2แจกที่หน่วยบริการสธ.-ร้านขายยา
          รูปแบบที่ 2 แจกที่หน่วยบริการ (รพ. รพ.สต. ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) รวมถึง คลินิก และร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ) ในพื้นที่สีแดง ผ่านแอปเป๋าตัง เมนู ฟรี ชุดตรวจโควิด ระบบจะขึ้นวันที่ 16 กันยายน ขั้นตอนคือประชาชนที่ต้องการได้รับ แจกชุดตรวจ ต้องกรอกแบบคัดกรอง ในแอปเป๋าตัง โดยเข้าไปที่เมนู รับชุดตรวจ โควิด-19 ฟรี ทำแบบประเมินก่อนรับชุดตรวจ โควิด-19 ตอบคำถาม 3 ข้อ มีอาการอย่างใด อย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว มีประวัติพักอาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ ระบาดหรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วัน ที่ผ่านมา มีสมาชิกในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือเดินทางร่วมยานพาหนะกับผู้ติดเชื้อโควิด
          โหลดแอปเป๋าตังลงทะเบียน
          ถ้าตอบแบบประเมินแล้วพบว่า คุณสามารถรับชุดตรวจโควิด-19 ได้ ให้คลิกที่เมนู หน่วยบริการใกล้ฉัน เลือกหน่วยบริการที่จะไปรับชุดตรวจ โทรประสานเพื่อไปขอรับหรือให้ผู้อื่นไปรับที่หน่วยบริการ หน่วยบริการจะจ่ายชุดตรวจ ATK ให้ 2 ชุด สำหรับตรวจ 2 ครั้ง กรณีผลเป็นลบ ตรวจซ้ำ อีกครั้งห่างกันครั้งละ 5 วัน ก่อนรับชุดตรวจ ATK ต้องยืนยันตัวตนด้วยการสแกน QR Code ที่หน่วยบริการส่งให้ ผ่านแอปเป๋าตัง เมนู สแกน QR เพื่อรับชุดตรวจ ตรวจโควิดด้วยตนเองที่บ้าน พร้อมบันทึกผลตรวจผ่านแอปเป๋าตัง เลือกเมนูบันทึกผลตรวจ หากผลเป็นบวก เลือกเมนูลงทะเบียนเข้ารับการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนต่อไป
          กรณีไม่มีมือถือสมาร์ทโฟนไปขอรับได้ที่ รพ., รพ.สต., ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) เจ้าหน้าที่จะคัดกรองและยืนยัน ตัวตนให้ กรณีไปขอรับที่คลินิกและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับผู้มีมือถือเท่านั้น
          ทั้งนี้ วิธีใช้งาน รวมถึงข้อระวังต่างๆ เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อจะได้ทราบผลการตรวจที่ถูกต้อง แม่นยำ ชุดตรวจนี้ใช้เวลาตรวจ อ่านผลการตรวจด้วยตาเปล่าและออกผลการตรวจได้ในระยะเวลา 15-30 นาที สามารถรับฟังและรับชม วิธีการใช้ชุดตรวจ ATK ให้ถูกต้องผ่านช่องทาง https://www.youtube.com/watch?v=Zla2ILGeYvQ
          9ก.ย.'ไทยร่วมใจลงทะเบียนฉีดแอสตราฯ
          ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย เตรียม เปิดให้ประชาชนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ลงทะเบียนรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 1 ทั้งนี้ เป็นวัคซีนคงเหลือจากผู้ที่ไม่มาแสดงตน 100,000 โดส เริ่มลงทะเบียนวันที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. และจะปิดรับเมื่อมี ผู้จองสิทธิครบตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับ จัดสรรมา โดยจะฉีดวัคซีนวันที่ 14-15 กันยายน สำหรับผู้มีสิทธิรับวัคซีน ได้แก่ ประชาชนทั่วไปมีอายุ 18 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย พักอาศัย ใน กทม.ลงทะเบียนเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com เวลา 09.00-22.00 น. แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เวลา 09.00-22.00 น. และร้านสะดวกซื้อที่ร่วมโครงการ 08.30-18.00 น.
          อนุทินสั่งสอบแฮกข้อมูลรพ.เพชรบูรณ์
          ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก รัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีมีข่าวแฮกข้อมูลผู้ป่วย ของกระทรวงสาธารณสุข 16 ล้านคนว่า ตนทราบข้อมูลแล้ว และสั่งฝ่ายเทคนิคเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นได้รับรายงานเหตุเกิดที่จ.เพชรบูรณ์ ปลัด สธ.ตรวจสอบข้อมูลแล้ว หากเป็นการเข้าสู่ระบบเพื่อลักลอบนำข้อมูลผู้ป่วยออกไปจริงจะต้องมีการแจ้งความ ดำเนินคดี และตามตัวผู้กระทำความผิดมารับบทลงโทษตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด เพราะข้อมูล ทุกอย่างเป็นสิทธิผู้ป่วย ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 7 ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและอาจทำให้บุคคลนั้นเสียหาย ไม่ได้ นอกจากนั้น ยังผิดตามกระบวนกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย
          สธ.แจงได้ข้อมูลไปหมื่นราย
          ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงการแฮกข้อมูลผู้ป่วยในระบบสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุขว่า ทันทีที่ได้ทราบข่าวได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน ทั้งนี้ ข้อมูลที่ประกาศขายผ่านสื่อออนไลน์นั้น ไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูลบริการคนไข้ปกติของโรงพยาบาล แต่เป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ทำโปรแกรมขึ้นมาใหม่ 1 โปรแกรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ดูแลคนไข้ แต่ข้อมูลที่ได้ไปไม่ใช่ฐานข้อมูลสุขภาพ การวินิจฉัยรักษาโรค หรือผลแลบทั้งสิ้น ข้อมูลที่ได้ไป 10,095 ราย เช่น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิการรักษา แต่มีบางรายที่จะถูกระบุอาการป่วย ข้อมูลมารพ.ออกจากรพ. วันนัดหมาย แพทย์ที่เข้าเวร
          มีแพทย์39คนถูกฉกเลขบัตรปชช.
          นอกจากนี้ยังมีบันทึกข้อมูลการคำนวณรายจ่ายผ่าตัด กลุ่มออร์โธปิดิกส์ อีก 692 ราย เป็นการคำนวณรายจ่ายเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ผ่าเข่า ทั้งนี้ มีแพทย์ถูกนำเลขบัตรประชาชน 13 หลักออกไปด้วยประมาณ 39 คน
          "วันนี้ระบบของโรงพยาบาลดำเนินการ ได้ตามปกติ ข้อมูลทุกอย่างยังอยู่ ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบความเสี่ยงและ Backup ข้อมูล ตรวจสอบทั้งหมดว่าจะซ่อน อะไรอยู่ในเว็บไซต์ หรือ Server หรือไม่โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและกระทรวงดีอี" นพ.ธงชัย กล่าว
          รพ.เพชรบูรณ์แจ้งความแล้ว
          และว่า ส่วนที่มีรายงานข่าวออกมาว่า มีข้อมูลคนไข้ถูกนำออกไปกว่า 16 ล้านรายนั้น ไม่เป็นความจริง เฉพาะประชากรที่เพชรบูรณ์ก็ไม่ถึงล้านคนแล้ว ความจริงคือ ตัวเลข 16 ล้าน เป็นตัวเลขบันทึก 16 ล้านครั้ง แต่มีข้อมูลประชาชน 10,095 ราย ตอนนี้ได้ แจ้งความดำเนินคดีแล้ว มูลเหตุจูงใจนั้นไม่ทราบ แต่พฤติกรรมของแฮกเกอร์ เจาะไปทั่ว เพื่อ เอาข้อมูลไปขาย ซึ่งการแฮกข้อมูลที่รพ.เพชรบูรณ์ ครั้งนี้ต่างจากการแฮกข้อมูลที่รพ.สระบุรี ซึ่งครั้งนั้นเจาะเข้าฐานข้อมูลผู้ป่วย ไม่สามารถเปิดข้อมูล กระทบการให้บริการผู้ป่วย อีกทั้ง ยังมีการเรียกค่าไถ่ด้วย แต่เราแก้ปัญหาได้ ไม่ต้องจ่ายเงินค่าไถ่ ส่วนที่รพ.เพชรบูรณ์ ไม่ได้ เจาะเข้าระบบฐานข้อมูลสุขภาพใหญ่ ไม่ได้เรียกค่าไถ่ และไม่กระทบบริการสาธารณสุข หลังจากนี้ จะเร่งตั้งศูนย์เฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านสุขภาพฯ คาดว่าจะตั้งได้ภายในปีนี้ และตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่รพ.เพชรบูรณ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
          แฉฉกข้อมูลไปขายทางเว็บไซต์
          นพ.อนันต์  กนกศิลป์  ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า  เซอร์เวอร์ที่ถูกโจมตี แยกออกมาต่างหาก อยู่ภายใต้การปกป้องของไฟวอร์ของ รพ. การพัฒนาโปรแกรมของ รพ. เป็นโอเพ่นซอร์ส เดิมใช้ในรพ.เพื่ออำนวยความสะดวก จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เนต ศูนย์ฯร่วมกับศูนย์ปลอดภัยไซเบอร์ ลงไปตรวจสอบ รพ.เพชรบูรณ์ ก็ได้ตัดการเชื่อมต่อกับภายนอกทั้งหมด และตรวจสอบความเสียหายเบื้องต้น ไม่พบบุกรุกเข้าเซิอร์เวอร์อื่นของรพ. การที่ข้อมูลรั่วไหลครั้งนี้ ผู้ดำเนินการนำข้อมูลไปประกาศขายทางเว็บไซต์ ขณะนี้ทบทวนมาตรการและทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงและจัดการให้ปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการให้ความรู้ และเข้มงวดเรื่องการ กว่าเดิมสิ่งสำคัญคือการให้ความรู้หรือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับบุคลากรให้เข้มงวดมาตรการที่รพ.กำหนด
          ไฟเขียว4.25พันล.ซื้อซิโนแวค12ล.โดส
          วันเดียวกัน  นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม 12 ล้านโดส (ซิโนแวค) ของกรมควบคุมโรค กรอบวงเงินรวม 4,254 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสมระหว่างวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกา หลังผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่า ปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นมาก
          กทม.ประเดิมไฟเซอร์เข็มแรกนร.
          ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในกรุงเทพมหานคร โดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.เตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงสังกัด กทม. โดยประชาสัมพันธ์แจ้งโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 โรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนที่อายุตั้งแต่ 12-18 ปี  ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง เข้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน โดยให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน คิวอาร์ โค้ด (QR Code) ตั้งแต่วันที่ 6-8 กันยายน ซึ่งนักเรียนที่จะได้ฉีดวัคซีนต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ โดยมีเอกสารระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดตรวจสถานพยาบาล หรือใบรับรองความพิการ หรือใบรับรองหรือเอกสารที่ระบุว่าเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนด
          เน้นอายุ12-18ปี/มี7โรคประจำตัว
          "ทั้งนี้ กทม.ได้สำรวจข้อมูลนักเรียนในสังกัดที่อายุระหว่าง 12-18 ปี ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลวางแผนรับวัคซีนโดยสำรวจผู้มีภาวะเสี่ยงและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้ ผู้มีภาวะเสี่ยง กลุ่มอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม กลุ่มอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม กลุ่มอายุ 15-18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ 1. โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น  2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้ง หอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 4. โรคไตวายเรื้อรัง 5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6. โรคเบาหวาน 7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
          และว่า กทม.โดยสำนักอนามัยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนฉีดวัคซีนให้นักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี ทุกสังกัดในกรุงเทพมหานคร โดยจะวางแผนร่วมกันตั้งแต่การสำรวจกลุ่ม เป้าหมายนักเรียนและผู้ปกครองถึงความประสงค์ให้เข้ารับวัคซีน การจัดหน่วยสาธารณสุขเพื่อให้บริการฉีดวัคซีน ติดตามอาการหลังได้รับวัคซีน และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและเตรียมตัวฉีดวัคซีนโควิด ในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับนักเรียนจะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วย


pageview  1204937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved