HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 09/09/2564 ]
วัคซีน2เข็ม-ATKทุก7วัน ภาคธุรกิจโอด ยังไม่พร้อม

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าหลายประเทศในโลกเริ่มปรับนโยบายสู่การ "อยู่ร่วมกับโควิด" เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)" อันหมายถึงวัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ และเมื่อฉีดให้ประชากรอย่างกว้างขวางก็จะทำให้เชื้อไม่สามารถระบาดได้และหายไปในที่สุด ดังนั้น นอกจากการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงหากติดเชื้อ ที่ในภาพรวมหมายถึงการลดจำนวน ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิต รักษาระบบสาธารณสุขให้ทำงานได้ไม่ล่มสลายแล้ว ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยง
          เช่น "วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport)"ที่หลายประเทศออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับ ใช้ร่วมกับหนังสือเดินทางเมื่อต้องไปต่างประเทศ หรือการเดินทาง ข้ามเมือง ตลอดจนการเข้าไปใช้บริการในสถานที่บางแห่ง หรือ "แสดงผลตรวจโควิดภายในระยะเวลาไม่เกิน...วัน" (3 วันบ้าง 4 วันบ้าง 7 วันบ้าง) ด้วยการ "ตรวจ ATK" กรณียังไมได้ฉีด วัคซีน หรือฉีดแล้วแต่ยังไม่ครบจำนวนที่วัคซีนชนิดนั้นๆ กำหนด
          สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการ "COVID Free Setting" ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ว่า ผู้รับบริการต้องมีเอกสารรับรอง หรือ COVID Free Pass ว่าผ่านการรับวัคซีนแล้วครบโดส หรือมีประวัติการติดเชื้อ 1-3 เดือนหรือมีการตรวจเชื้อด้วย ATK ให้ผลเป็นลบ
          และอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย. 2564 ซึ่ง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า พนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติ ติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย รวมถึงหา ATK ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน ส่วนผู้ใช้บริการ หากจะใช้บริการในกิจการเสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจ ATK ผลเป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน
          แม้จะเป็นนโยบายที่ดีเพื่อคัดกรองหาผู้ติดเชื้อใน เบื้องต้นอันเป็นการลดโอกาสเกิดโรคระบาด แต่ก็มีเสียงสะท้อน "จะทำได้จริงหรือไม่"จากภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ สรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเปิดเผยว่า วันนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารกังวลอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ข้อกำหนดการฉีดวัคซีนครบโดส (หรือ 2 เข็ม) เนื่องจากคนไทยเองก็ยังฉีดไม่ครบ ขณะเดียวกันธุรกิจร้านอาหารมีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และหลายคนยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่เข็มเดียว
          เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลขาดการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเป็นวงกว้างให้นายจ้างพาลูกจ้างไปฉีดวัคซีน มีเพียงการประสานกับผู้ประกอบการเป็นการภายในผ่านกลไกสมาคมเท่านั้น จึงทำให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างอีกจำนวนไม่น้อยไม่ทราบเรื่อง ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่า รัฐบาลอาจกังวลกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนชาวไทย กรณีคนไทยยังฉีดวัคซีนกันไม่ครบเหตุใดต้องนำไปฉีดให้ชาวต่างชาติก่อนด้วย แต่ก็เชื่อว่าหากรัฐบาลอธิบายอย่างตรงไปตรงมาถึงความจำเป็นในการควบคุมโรคระบาด ประชาชนชาวไทยก็น่าจะเข้าใจ
          "ถ้าเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอยู่กับโควิด วัคซีนต้องไม่จำแนกชาติพันธุ์ เพราะเราต้องยอมรับว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยมหาศาล เอา ง่ายๆ เลย กรุงเทพฯ สมมุติคนไทยฉีดครบหมด ต่างชาติยังไม่ได้ฉีด ไม่ได้นะ! เพราะเขาเดินอยู่ในกรุงเทพฯ ผมก็ถือว่า เขาหายใจร่วมกับเรา ดังนั้น ก็ควรประกาศออกมาได้แล้ว แล้ว ผมเชื่อว่าคนไทยไม่มีใครดราม่าหรอก เพราะตอนนี้กรุงเทพฯ คน ได้เข็มแรก 80 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว เข็ม 2 มันเขยิบขึ้นมา 25-26 เปอร์เซ็นต์แล้ว ต้องเปิดโอกาสให้เขา ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจมันขับเคลื่อนไปไม่ได้" ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร อธิบาย กับ 2.การตรวจโควิดพนักงานด้วยชุดตรวจ ATK ทุกๆ 7 วัน ซึ่ง สรเทพกล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ประกอบการกังวลมาก เช่น หากพนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วยังจะต้องตรวจ ATK ทุกๆ 7 วันอีกหรือไม่ เพราะราคาชุดตรวจ 1 ชุดต่อพนักงาน 1 คน อยู่ที่ชุดละ 280 บาท อย่างพนักงานในร้านมี 50 คน ก็เท่ากับ 280 คูณด้วย 50 จะเท่ากับตรวจครั้งหนึ่งผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่าย 14,000 บาทแล้ว ดังนั้น หากต้องตรวจทุกสัปดาห์ ใน 1 เดือนก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงกว่า 5 หมื่นบาท ร้านอยู่ไม่ได้แน่นอน
          "ผมฝากเรียกร้องหน่อยเถอะ รัฐบาล สาธารณสุข หรือ ศบค. จะออกมาตรการอะไรมา กรุณาคำนึงถึงค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบธุรกิจด้วย คุณเองช่วยเหลือผู้ประกอบการในยามที่ล็อกดาวน์คุณก็ช่วยเหลือน้อยมาก แทบจะไม่ได้รับการช่วยเหลือเลยด้วยซ้ำ ผู้ประกอบธุรกิจบางราย อย่างฟิตเนส ขืนเปิดมา 1 ตุลา คลายล็อก ฟิตเนสเปิดได้แต่ต้องตรวจ ATK ทุก 7 วัน เอาเฉพาะหนี้สินที่พอกพูนมา 2 ปี ก็ตายแล้ว ออกมาตรการต้องใช้ความเป็นจริงได้ อย่าออกมาตรการหรือเอากฎหมายมาซ้ำเติม ผู้ประกอบการเลย" สรเทพ กล่าวในประเด็นชุดตรวจ ATK ราคาสูงจนกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนนั้น พิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย กล่าวว่า หลังจากร้านนวดได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดอีกครั้ง ก็พอให้มีค่าข้าว-ค่าน้ำกับพนักงานบ้าง แม้จะไม่ได้ดีเท่าใดนักแต่ก็ยังดีกว่าช่วงที่ปิดร้าน แต่ "มาตรการให้ตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK พนักงานและลูกค้าหากนำมาบังคับใช้จริง รัฐบาลต้องสนับสนุนชุดตรวจให้กับสถานประกอบการ" และไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้ผู้ประกอบการซื้อชุดตรวจเพื่อตรวจพนักงานและลูกค้า
          เช่นเดียวกับ สมเพชร ศรีชัยโย นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมสวยและช่างตัดผมไทย ระบุว่า เท่าที่ทราบ ในต่างประเทศต้นทุนชุดตรวจ ATK อยู่ที่ประมาณ 30 กว่าบาท เท่านั้น หากรัฐบาลไทยอยากได้กำไร เชื่อว่าตั้งราคาไว้ที่ไม่เกิน 50 บาทต่อชุด ผู้ประกอบการและประชาชนก็ยังพอมีกำลังซื้อมาใช้ ไม่ใช่ปัจจุบันที่ราคา 200-300 กว่าบาทต่อชุด และ ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพราะไม่อยากบังคับพนักงาน ซึ่งพนักงานก็ไม่ได้มีรายได้มากอยู่แล้ว หากต้องมาหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้อีก สุดท้ายพนักงานก็อาจจะย้ายไปอยู่กับร้านที่มาตรการไม่เข้มงวด
          "เคยนำสินค้าเข้ามาจากจีนหลายปีมาก ก็ลองสั่งมาดูรอบหนึ่งหลายร้อยชิ้น สั่งมาแจกไม่ได้มาขาย สั่งมาตกชิ้นหนึ่ง 34 บาท รวมค่าส่งแล้วอยู่ประมาณ 37 บาท พอเราจะสั่งรอบ 2 ไม่ได้แล้ว เขาห้าม คาร์โกเขาไม่ส่งให้แล้ว เลยรู้ราคา ถ้ารัฐบาล สั่งเป็นหลักล้าน เราสั่งหลักร้อย เขาขาย 50 บาทให้ราษฎรเขา ก็มีกำไร ความจริงมันมีอยู่ หลานๆ เขาอยู่อเมริกา เขาถามว่าทำไมอาต้องซื้อ ที่โน่นเขาส่งมาให้ที่บ้านเลย แต่ละบ้านเลขที่ ได้รับเลย ฟรี แล้วถ้าเราใช้เยอะ ตามร้านค้าเขาขายตกประมาณ 30 กว่าบาท ถ้าเป็นเกรดดีๆ หน่อยไม่เกิน 45 บาท" สมเพชร กล่าว


pageview  1205094    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved