HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 05/08/2564 ]
ติดโควิดไทยพุ่งทุบสถิติทะลุ 2 หมื่นรายเสียชีวิตวันเดียว 188 ศพ

 สธ.เร่งค้นหา-คัดกรองควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดทยอยส่งวัคซีนไฟเซอร์ฉีดเข็ม3ให้บุคลากรแพทย์
          ยอดป่วยโควิดไทยทำสถิติใหม่พุ่งทะลุ 20,200 ราย ตายวันเดียว 188 ศพ อาการหนัก 4,910/ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,033 ราย กทม. ติดเชื้อใหม่เกิน 4 พันราย สธ.เร่งค้นหา คัดกรองผู้ติดเชื้อเข้าระบบ คุมให้อยู่วงจำกัด ลดการแพร่ ในชุมชน-กระจายวัคซีนให้ทุกจังหวัด เร่งฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดอาการป่วยรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิต กรมควบคุมโรค ทยอยส่งวัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ ไปยังรพ.ในกทม.ปริมณฑลลุยฉีดเข็มที่ 3 ให้บุคลากร ทางการแพทย์-ด่านหน้า อย.เตือนอย่าซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ กินเอง เสี่ยงเจอยาปลอม-การใช้ยาที่ไม่ถูกวิธีอาจเชื้อดื้อยาได้ รัฐเตรียมนำระบบ BKK HI Care ติดตามผู้ป่วย Home Isolation
          เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่าวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 20,200 ราย  มีผู้รักษาหายเพิ่ม 17,975 คน หายป่วยสะสม 456,025 คนเสียชีวิตเพิ่มอีก 188 คน รวมเสียชีวิตสะสม 5,503 คน และในจำนวนนี้มีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK (Antigen Test Kit) โดยมีผู้ติดเชื้อที่เข้าข่ายจำนวน 522 ราย และมียอดสะสมในส่วนนี้ 6,357 ราย
          เสียชีวิตเพิ่ม188ราย-สะสม5,503ราย
          สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 20,200 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 20,013 ราย ติดเชื้อ ภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 187 ราย ผู้ป่วยสะสม 643,522 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) หายป่วยกลับบ้าน 17,975 ราย หายป่วยสะสม 428,380 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) ผู้ป่วยกำลังรักษา 211,076 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 188 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 5,503 คน คิดเป็น 0.82%
          นอกจากนี้ มีที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 211,076  ราย เป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 71,946  ราย อยู่ในรพ.สนามและอื่นๆ 139,130 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนักอยู่ 4,910 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจจำนวน 1,035 ราย
          กทม.พุ่งไม่หยุดทะลุ 4,118 ราย
          ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้รายงานสถานการณ์จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุดสำหรับตัวเลขวันนี้ เป็นสถานการณ์ ที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากหลายพื้นที่พบอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ติดเชื้อใหม่ วันนี้พบผู้ป่วยมากถึง 4,118 ราย จากเมื่อวาน 3,566 ราย ขณะที่ ยอดผู้ป่วย ติดเชื้อภายในประเทศรายใหม่ ตามรายภาค จำนวน 19,992 ราย
          สธ.ระดมค้นหา คัดกรองผู้ติดเชื้อ
          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 จากเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก รวมทั้งในต่างจังหวัดจากผู้ป่วยที่เดินทางกลับไปรักษาที่บ้าน ซึ่งวันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่กว่า 20,000 ราย จึงต้องเร่งดำเนินการค้นหา คัดกรองผู้ติดเชื้อ โดยมีทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค (Operation) ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัด และกทม. เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่ม และแยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูง/เสี่ยงต่ำ ให้เข้าระบบการเฝ้าระวัง ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็วที่สุด
          เริ่มกระจายไฟเซอร์ในกทม.ปริมณฑล
          นพ.โอภาสกล่าวว่า ในวันนี้กรมควบคุมโรค ได้เริ่มทยอยจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ ลอตการบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา ไปยังโรงพยาบาลในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อฉีดเป็นบูสเตอร์โดส (Booster dose)หรือเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้าในการรับมือผู้ป่วยโควิด-19 โดยได้มีการประสานกับ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช และ รพ.จุฬาฯ ถ้าพร้อมก็จัดส่งได้เลย ส่วนในต่างจังหวัดก็ประสานกับ รพ.ในปริมณฑล
          นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้เร่งกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ตามการจัดสรรของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยในเดือนสิงหาคมนี้ จะทยอยส่งวัคซีนให้จังหวัด จำนวน 10 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่ม ผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และเพิ่มกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีโรคประจำตัว เพื่อลดอาการป่วยที่รุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต รวมทั้งฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรการแพทย์และบุคลากร ด่านหน้า จะจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปให้จังหวัดในสัปดาห์นี้
          ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวว่า วันนี้เริ่มกระจายวัคซีนลงไปยังแต่ละพื้นที่ คาดว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับวัคซีนก่อน โดยทั่วประเทศจะได้รับวัคซีนครบทุกจังหวัด เพื่อเร่งฉีดเป็นกระตุ้นเข็ม 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้า ซึ่งจะมีการทยอยส่งไปให้เบื้องต้นจะส่งไปจำนวน 50% ของบุคลากร ที่ได้ลงชื่อตามความสมัครใจไว้ในแต่ละ โรงพยาบาล
          แอสตราเซเนกา415,000โดสถึงไทย
          เฟซบุ๊คแฟนเพจ UK in Thailand ของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า วัคซีน 415,000 โดสของออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา เดินทาง จากสหราชอาณาจักรถึงประเทศไทยแล้วเมื่อสักครู่นี้ วัคซีนจากการบริจาคของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่เพิ่งเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. นี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเราทุกคนที่จะก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยการช่วยลดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยจุดประสงค์ของการบริจาคเพื่อช่วยกระจายวัคซีนให้ถึงประชาชนทั่วประเทศมากขึ้นอย่างเท่าเทียม โดยการบริจาคครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการบริจาควัคซีนชุดแรกจำนวน 9 ล้านโดสของสหราชอาณาจักร ซึ่งจะเข้าสู่โครงการ COVAX จำนวน 5 ล้านโดส และบริจาคโดยตรงกับประเทศอื่นๆ อีก 4 ล้านโดส สหราชอาณาจักรยังมีแผนบริจาควัคซีน เพิ่มเติมอีก โดยจะบริจาคทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ภายในกลางปี 2022
          แห่จองซิโนฟาร์มรอบ2ทำระบบล่ม
          มีรายงานว่า ภายหลัง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับบุคคลธรรมดา รอบ 2 จำนวน 75,000 ราย ในวันที่ 4 ส.ค.นี้  โดยระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 10.10 น. ก่อนที่เวลา 14.00 น. จะเปิดระบบการจองวัคซีนสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จ หลังจากถึงเวลาเปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ประชาชนจำนวนแห่จองวัคซีนจำนวนมาก ส่งผลให้เว็บไซต์รองรับจำนวนผู้เข้าใช้ไม่ไหว จนระบบล่ม ไม่ต่างจากการเปิดจองซิโนฟาร์มในรอบแรก
          ต่อมา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊คระบุว่า ขณะนี้การลงทะเบียนขอรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับบุคคลธรรมดา รอบ 2 เต็มจำนวนแล้ว
          ศิริราชเปิดจองฉีดวัคซีนผ่านแอปฯ
          รพ.ศิริราช ได้ประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 59 ปี 10 เดือน และ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ซึ่งเป็น ผู้มีประวัติการรักษา และ/หรือมีหมายเลขเวชระเบียนผู้ป่วย รพ.ศิริราช สามารถจองวัน และเวลาการฉีดวัคซีนโควิด 19 AstraZeneca สำหรับเดือนสิงหาคม 2564 ผ่านแอปพลิเคชั่น Siriraj Connect โดยเปิดให้จองในวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป การฉีดวัคซีนครั้งนี้เป็นการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิดใด ๆ มาก่อน และต้องการฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 1 จึงเรียนมาเพื่อแจ้งให้ ผู้ต้องการรับการฉีดวัคซีนที่เข้าเกณฑ์ข้างต้นเข้าจองวัคซีนต่อไป
          อย.เตือนอย่าซื้อฟาวิพิราเวียร์กินเอง
          นายแพทย์ สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏมีการขายยา ฟาวิพิราเวียร์โดยไม่ได้รับอนุญาต เตือนประชาชนอย่าซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญอยู่เลย หรือได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานทำให้เสียโอกาสในการรักษา และอาจได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน รวมถึงการซื้อยาผ่านอินเตอร์เนตผู้ป่วยอาจไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
          "ยาฟาวิพิราเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จำเป็นต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา การใช้ยาในผู้ป่วยบางกลุ่มจำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่จะตามมาโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์  นอกจากนี้ จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด "รองเลขาธิการ อย.กล่าว และว่า หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับเป็นยาปลอมสามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556 อีเมล 1556@fda.moph.go.th
          เตรียมนำระบบBKK HI Care มาใช้
          นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ภายใต้กำกับของ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาระบบ "BKK HI Care" ในการติดตามและดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีเขียว ที่รักษา/กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) อย่างใกล้ชิด ตลอดจนผู้ป่วยสามารถรายงานและรับคำแนะนำการรักษาที่ ถูกต้องจากแพทย์และพยาบาล เช่น การวัดอุณหภูมิร่างกาย และการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดตามเวลาที่กำหนด แล้วแจ้งผลให้ทางสถาบัน/ โรงพยาบาลทราบทันที ซึ่งระบบนี้ดำเนินการ ผ่าน Line Application โดยการสแกน QR Code หรือแอดไลน์ เมื่อมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากสถานพยาบาลที่ ผู้ป่วยได้เข้าทำการตรวจเชื้อหรือรักษา โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่นใหม่ ปัจจุบันมีสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 285 แห่ง มีผู้ป่วยที่อยู่ในระบบแล้วกว่า 9,000 ราย ซึ่งจะช่วยทำให้ 1 คลินิกชุมชนดูแลผู้ป่วยได้ถึง 200 ราย
          แนวทางดูแลผู้ป่วยด้วย BKK HI Care
          ทั้งนี้ แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย Home Isolation ผ่าน BKK HI Care มีดังนี้ 1.มอบชุดสำหรับ Home Isolation (BKK HI CARE kit) ซึ่งประกอบไปด้วย หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล/สเปรย์/ ถุงแดง แผ่นพับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว แผ่นบันทึกอาการ (กรณี ไม่มี Smart phone) Pulse oximeter (เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด) Digital thermometer (เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล) และยาฟ้าทะลายโจรหรือยาฟาวิพิราเวียร์ 2.บริการจัดส่งอาหารทุกวัน 3.ให้ผู้ป่วยวัดอุณหภูมิร่างกาย และวัดปริมาณออกซิเจนในร่างกาย วันละ 2 ครั้ง และรายงานอาการ และ 4.เจ้าหน้าที่จาก ศูนย์บริการสาธารณสุข ติดตามดูแล สังเกต อาการผู้ป่วย ผ่านระบบ BKK HI Care/โทรศัพท์ เป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งโครงการ ดังกล่าวเป็นการสนองนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในการนำดิจิทัลมาบริหารงาน
          ยืนยันยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ
          นายธนกรกล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลดำเนินการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ให้เพียงพอ ทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศ และการผลิตเองในประเทศ โดยขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เริ่มผลิตได้ และจะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้มีศักยภาพการผลิตอยู่ที่เดือนละ 2-4 ล้านเม็ด แต่ในเดือนกันยายนคาดว่า จะผลิตได้จำนวน 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้น ไปจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ่ายให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทำ Home Isolation โดยพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรหรือยา ฟาวิพิราเวียร์ตามระดับอาการด้วยแล้ว ดังนั้น ขอให้ประชามั่นใจว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอต่อการรักษาอย่างแน่นอน
          แพทย์ชนบท40ทีมลุยปฏิบัติการ
          ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คว่า เริ่มแล้ว.day1 ปฏิบัติการแพทย์ชนบทกู้ภัยโควิดกรุงเทพมหานคร 4-10 สิงหาคม 2564 กว่า 400 ชีวิตจาก 40 ทีม พร้อม!!!!  ทุกคน มาด้วยพลังและความมุ่งมั่น  ลงปฏิบัติการ 24 จุดทั่วกรุง โดยการสู้กับเชื้อโรคครั้งนี้  เป้าหมายคือค้นหาผู้ติดเชื้อให้มาก เจอให้เร็ว รักษาจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว นำเข้า ระบบ Home Isolation จะได้ลดอัตราป่วยหนักที่ต้องการเตียงโรงพยาบาล (เพราะเตียงโรงพยาบาลล้นสุดๆ แล้ว) และลดอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงยาหรือเข้าไม่ถึงโรงพยาบาลลงได้ เราคงลดอัตราการติดเชื้อไม่ได้ โดยง่าย  แต่หวังว่าจะลดอัตราเตียงล้นโรงพยาบาลในกรุงเทพฯและลดอัตราตายลงได้บ้าง
          กทม.เร่งเปิด Modular ICU
          พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเพิ่มเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรง (สีแดง) ของ กทม. ว่า ในวันที่ 5 ส.ค. กทม.จะเปิดห้อง Modular ICU สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรง (สีแดง) เพิ่มเติมอีก 2 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้ 20 เตียง ณ อาคารที่ 3 และ 4 (ICU 3,4) ภายในศูนย์การเรียนรู้ของ รพ.ราชพิพัฒน์ เขต ทวีวัฒนา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดบริการแล้ว 2 อาคาร (ICU 1 ,2) รองรับผู้ป่วยได้ 20 เตียง ขณะนี้มีผู้เข้าพักเต็มแล้ว จำนวน 20 เตียง โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) ในการดำเนินการเพิ่มเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยที่อาการรุนแรงโดยใช้นวัตกรรม Modular ICU ในการปรับเพิ่มห้อง ICU โดยถูกออกแบบตามลักษณะการทำงานของข้อกำหนดห้อง ICU ที่ใช้ใน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนจำนวน 4 อาคาร รองรับ ผู้ป่วยได้ 40 เตียง
          จัดทำกรมธรรม์คุ้มครองบุคลากรแพทย์
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศที่ทุ่มเทเสียสละในการดูแลรักษาผู้ป่วย ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้น รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงร่วมกับบริษัทประกันภัยต่างๆ จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จำนวน 250,120 กรมธรรม์ แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 223,872 กรมธรรม์ และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กทม., โรงพยาบาล ภูมิพล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, โรงเรียนแพทย์, กองทัพเรือ และกรมแพทย์ทหารบก รวม 26,248 กรมธรรม์
          ได้รับความคุ้มครองแล้ว171ราย
          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการ ปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังมีบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งที่เกิดการติดเชื้อขึ้น โดยได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยจากโควิด-19 แล้วจำนวน 171 ราย ใน 3 กรมธรรม์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1.กรมธรรม์ประกันภัย คุ้มครองการ เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวนเงินความ คุ้มครอง 1 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาคุ้มครอง 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ 2.กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองภาวะโคม่าจากโรคโควิด-19 จำนวนเงินความคุ้มครอง 1 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ และ 3.กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 จำนวนเงินความคุ้มครอง 1 หมื่นบาทต่อราย และคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุ 1 หมื่นบาทต่อราย ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ
          รพ.บุษราคัมเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยไอซียู
          นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผอ.รพ.บุษราคัม กล่าวว่า รพ.บุษราคัม เปิดมาแล้ว 82 วัน มีผู้ป่วยสะสมรักษาอยู่ 14,213 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 11,000 คน เหลือ นอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 3,333 คน ในจำนวนนี้ ใช้ออกซิเจน 450 คน โดยเป็นใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์ 169 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 2 คน เมื่อวันที่ 3 ส.ค. มี ผู้ป่วยหายกลับบ้าน 287 ราย แต่ก็รับเข้ามาใหม่ 378 ราย ข้อสังเกตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยใช้เครื่องออกซิเจนลดลงปกติใช้ 750 ราย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ช่วงค่ำ เหลือ 450 ราย แต่ยังคงมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์อยู่ประมาณ 160 ราย ต้องใช้ประมาณ 8-10 คนต่อวัน
          นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ในทุกๆ วัน จะมีผู้ป่วยในระดับวิกฤติต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่โดยตลอด การส่งต่อไปยัง รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่าต้องรอคอยนาน เพราะไอซียูใน รพ.ใน กทม. และปริมณฑลก็มีข้อจำกัด ทำให้รพ.บุษราคัมต้องดูแลผู้ป่วยหนักตลอด ดังนั้นที่ประชุมศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุข จึงอนุมัติให้ตั้งไอซียูที่ รพ.บุษราคัม ซึ่งขณะนี้ตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้พื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านหลัง มีทั้งหมด 17 เตียง เป็นโคฮอต ICU 13 เตียง อีก 4 เตียงเป็นห้องแยกผู้ป่วยความดันลบโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
          ย้ำสั่งอาหารในห้างผ่านเดลิเวอรี่
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค. )ยังคงเน้นย้ำต่อมาตรการสำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่ม ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้ มอลล์ สถานประกอบการกิจการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกันโดยให้ดำเนินการได้เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service )ทั้งในระบบออนไลน์ระบบโทรศัพท์หรือระบบบริการช่วยเหลือของร้านอาหารและเครื่องดื่มในการจัดส่งที่ไม่ให้ผู้บริโภคสัมผัสติดต่อใกล้ชิดกับร้านอาหาร และเครื่องดื่มโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงการแออัดในบริเวณร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มและเปิดได้ ไม่เกินเวลา 20.00 น. โดยให้ผู้จัดการ เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในสถานที่ข้างต้นจัดเตรียมพื้นที่เพิ่มเติมภายในบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ตหรือสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดจนเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
          แหล่งข่าวในที่ประชุม ศปก.ศบค. กล่าวย้ำว่ามาตรการดังกล่าวนั้น กรมอนามัยได้ดำเนินการชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่กรมอนามัยได้ชี้แจงคือไม่อนุญาตจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายและผู้บริโภค ซึ่งอาจไปแออัดบริเวณหน้าร้าน โดยต้องดำเนินการภายในเงื่อนไข เวลา และการจัดระบบระเบียบ ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด


pageview  1205837    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved