HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 06/08/2564 ]
เริ่มฉีดแล้ววัคซีน ไฟเซอร์ 69รพ.-10จังหวัด บุคลากรแพทย์ครบสิ้นส.ค.นี้

ติวเข้ม600พยาบาลรอปักเข็มมท.สั่งผู้ว่าฯเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยกลับรักษาตัวภูมิลำเนานับแสนป่วยเพิ่ม20,920คน-ดับ160ศพสธ.ลุยตรวจประชาชนเชิงรุกATK
          ไทยติดเชื้อโควิดเกิน 2 หมื่นวันที่สอง ตาย 160 ศพ สลดมีหญิงท้องด้วย ฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 18.9 ล้านโดส สธ.ลุยตรวจหาเชื้อเชิงรุกด้วยATK เปิดเว็บไซต์สอนวิธีใช้ให้ปชช.จ่อขยายเตียงรพ.สนาม โดยมีรพ. รัฐ-เอกชนพร้อมเป็นพี่เลี้ยง ด้าน "ศบค.มท." สั่งผู้ว่าฯทุกจังหวัดเตรียม ขยายเตียง รองรับผู้ติดเชื้อโควิด ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กรมควบคุมโรคจัดจิตอาสา 60 ซุปเปอร์ไรเดอร์ ส่งยาพร้อมเวชภัณฑ์ด่วนให้ผู้ติดเชื้อสีเขียวในกทม.ที่เข้าระบบกักตัวรักษาที่บ้าน พร้อมจัดทีมปฏิบัติการเชิงรุกในชุมชน (CCR Team) 12-15 ทีม ลงค้นหา ผู้ติดเชื้อในชุมชนกทม. 6 โซน สธ.เผยตัวเลข ผู้ป่วยกลับรักษาตัวภูมิลำเนา 94,644 คน เกือบครึ่งไปอีสาน เผยอัตราครองเตียงเหลือเตียงกว่า 4 หมื่นเตียง กระจายไฟเซอร์ถึง 10 จว.ลุยฉีดทันทีให้บุคลากรทางการแพทย์
          เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล  พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงสถานการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิตประจำวันที่มีจำนวนมากสองหมื่นคนต่อเนื่องวันที่ 2
          ติดเชื้อ20,920-ตายเพิ่ม160ศพ
          พญ.อภิสมัยกล่าวว่า วันนี้ไทยพบ ผู้ติดเชื้อใหม่ 20,920 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,650 ราย มาจากระบบเฝ้าระวัง และระบบบริการ 17,312 ราย มาจากการ ค้นหาเชิงรุก 3,338 ราย มาจากเรือนจำ  262 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ  8 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 693,305 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 17,926 ราย หายป่วย สะสม 473,732 ราย อยู่ระหว่างรักษา  213,910 ราย อาการหนัก 4,993 ราย ใส่ท่อ ช่วยหายใจ 1,058 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 160 ศพ เป็นชาย 90 ราย หญิง 70 ราย  อยู่ในกทม.มากที่สุด 78 ราย มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 5,569  ราย
          ส่งไฟเซอร์เข็ม3ให้บุคลากรแพทย์
          ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทย  วันที่ 4 สิงหาคม  383,607 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 18,961,703 โดส และปัจจุบัน วัคซีนไฟเซอร์ที่จะส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อกระตุ้นภูมิได้กระจายไปโรงพยาบาลต่างๆทั้งในกทม. ในต่างจังหวัด อาทิ รพ.พุทธโสธร รพ.พระปกเกล้าชลบุรี สำหรับวัคซีนที่ฉีดให้นักศึกษาที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ และได้โควตาตรงนี้ ขอให้ไป ลงทะเบียนโดยสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อนัดหมาย ฉีดวัคซีน ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อ สะสม 200,989,018 ราย เสียชีวิตสะสม  4,270,029 ราย
          ขึ้นทะเบียนชุดตรวจ2แบบเร่งหาเชื้อ
          พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับใน พื้นที่กทม.อธิบดีกรมควบคุมโรคข้อมูลการ ตรวจเชิงรุก เห็นชัดว่าการตรวจเชิงรุกโดย  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับระเบียบให้ประชาชนสามารถหา Antigen Test Kit (ATK) มาตรวจด้วยตัวเอง และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้น ทะเบียนชุดตรวจ 2 แบบคือ แบบที่ใช้ใน สถานพยาบาล และแบบที่ประชาชนหามาใช้ เองได้ ซึ่งตอนนี้อนุญาตไปแล้ว 19 ยี่ห้อ  และจะเสนออนุมัติเพิ่มเติมอีก โดยต้องหาซื้อ ในสถานพยาบาลหรือร้านขายยาเท่านั้น ยังไม่อนุญาต ให้ซื้อในออนไลน์หรือร้านสะดวกซื้อ  และตอนนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯมีนโยบายให้โรงงานและสถานบริการเข้ามาอบรมวิธีการตรวจ เพื่อจะได้ตรวจบุคลากรของตัวเองได้ อีกทั้งยังเผยแพร่คลิปวีดีโอการตรวจได้ที่เว็บไซด์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
          ตรวจATKเป็นบวกลงทะเบียนเข้ารพ.
          ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) จัดหางบประมาณอนุมัติ ชุดตรวจแบบห้องปฏิบัติการ 8.5 ล้านชุด สามารถ ให้ประชาชนเบิกจ่ายใช้ได้ อย่างไรก็ตาม  หากประชาชนต้องการตรวจแบบ ATK  สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่ให้บริการตรวจแบบ ATK ได้ที่ www.koncovid.com ส่วนการตรวจเชิงรุกในกทม.สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
          สำหรับผู้ตรวจ ATK แล้ว ข้อมูลของ กทม.ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  พบว่ามีบางช่วงผลเป็นบวกถึง 20% โดย นโยบายของกรมการแพทย์ทุกคนที่ติดเชื้อ โควิด ต้องรับบริการทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด และถ้าผลบวกอย่าตื่นตระหนก ขอให้ลงทะเบียนเข้าระบบก่อน โดยติดต่อรพ.ที่ไปตรวจ หรือสายด่วน 1330  หมายเลขเดียวเท่านั้น ส่วนสายด่วน 1669 ขอสงวนไว้เป็น สายด่วนช่วยชีวิต ให้ผู้ป่วยสีแดงได้ใช้เข้าถึงข้อมูลโดยเร็ว เพื่อลดความหนาแน่นที่ประชาชาชนจะโทรเข้าไป และในกทม.ยังมีสายตรง 50 เลขหมาย ใน 50 เขต โดยแต่ละเลขหมายมี 20 คู่สาย โดยจากข้อมูลเฉพาะวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการถึง 5 พันสาย ทั้งนี้ ก่อนจะโทรสายด่วนไม่ว่าหมายเลขใด ขอให้เตรียมข้อมูลและเอกสารส่วนตัวให้พร้อม ทั้งหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ เพื่อลงทะเบียนให้เบิกจ่ายจากสปสช.ได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งยา เวชภัณฑ์ ขณะนี้มีศูนย์บริการที่จะเข้ามาดูแลผู้ป่วยในกทม.มีทั้งหมด 226 หน่วย
          กทม.เข้าโฮมไอโซเรชั่นแสนราย
          พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยใน กรุงเทพมหานครที่เข้าสู่ โฮมไอโซเรชั่น เกือบ  100,000 ราย แล้วข้อมูลจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม และรายงานในที่ประชุมศปก.ศบค.ถึงการ จับคู่ศูนย์บริการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในเขตกรุงเทพ มหานคร ซึ่งมีมากถึง 232 จุด แล้ว ซึ่งมีความคืบหน้าและทุกภาคส่วนทำงานหนักเพื่อให้ระบบดูแลประชาชนปลอดภัย รวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ตัวเลขอัพเดท คอมมูนิตี้ไอโซเรชั่น ในกรุงเทพมหานครมี 64 แห่ง จำนวนเตียงรองรับได้อยู่ที่ 6,958  เตียง มีผู้ป่วยเข้าไปแล้ว  3,015 คน หรือ 43% และยังมีคอมมูนิตี้ ไอโซเรชั่น ที่ดำเนินการโดยชุมชนภาค ประชาสังคมอีกกว่า 100 แห่ง ที่เปิดให้บริการ แล้ว และมีที่เปิดให้บริการโดยชุมชนในกทม.  ได้เร่งลงทะเบียนกับสำนักงานเขตเพื่อช่วยสนับสนุนทั้ง ค่ายา ค่าอาหาร และส่งทีมช่วยจัดสุขาภิบาล ขยะติดเชื้อ
          รพ.รัฐ-เอกชนดูแลคอมมูนิตี้ไอโซเรชั่น
          พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า คอมมูนิตี้ ไอโซเรชั่น ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก โรงพยาบาลพี่เลี้ยงและภาคประชาสังคมชุมชน เอ็นจีโอ โดยจะมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยง  จากกรมการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลราชวิถี เป็น พี่เลี้ยงให้อาคารกีฬาเวสน์ 2 โรงพยาบาลกลาง เป็นพี่เลี้ยงให้ศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร  โรงพยาบาลตำรวจ เป็นพี่เลี้ยงที่วัดบรมนิวาส  นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลเอกชน เช่น   โรงพยาบาลปิยะเวท เป็นพี่เลี้ยงให้สุเหร่าบ้านดอน โรงพยาบาลบางปะกอก 8 เป็น พี่เลี้ยงโรงเรียนวัดตลิ่งชัน โรงพยาบาลกรุงเทพ  ดูแล เพิ่มเป็น 122 เตียง ที่ช่วยดูแลผู้ป่วย  โควิด ไอซียู 24 เตียง และยังเปิดให้บริการฮอสพิเทลอีก 77 เตียง และกำลังจะเปิดอีก 2 แห่ง ให้ได้ 1,000 เตียง และยังเป็นพี่เลี้ยงให้วัดบุญรอดธรรมาราม ดูแลผู้ป่วยได้ 30 เตียง และให้บริการโฮมไอโซเรชั่น รองรับผู้ป่วยได้ 176 คน และให้วัคซีนในกลุ่มพระสงฆ์ แม่ชี ผู้พิการด้วย  นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนที่เข้ามีส่วนร่วมมือ อาทิ  โรงพยาบาลในเครือสมิติเวช โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา  โรงพยาบาลปิยะเวท ซึ่งเปิดฮอทพิเทล  2,500 เตียง ซึ่งเต็มไป 98% แล้ว กำลังจะเปิดในเดือนสิงหาคมอีก 1,000  เตียง และดูแลผู้ป่วยสีเหลือง 350 เตียง สีแดงรับได้อีก  120 เตียง ซึ่งจะเปิดเดือนสิงหาคม
          ตั้ง3จุดตรวจกทม.เชิงรุกฟรี4พันคน/วัน
          ขณะที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์ว่า กรมควบคุมโรค (คร.) เร่งป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ เพื่อค้นหาผู้ป่วย ผู้สัมผัสโรคที่อยู่ในบ้านและชุมชน เข้าระบบดูแลรักษาป้องกันแพร่เชื้อให้เร็วที่สุด ลดผู้ป่วยรายใหม่ ลดเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยส่วนกลางร่วมกับ กทม. ส่วนต่างจังหวัดมอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เนื่องจากในกทม. ยังพบผู้ป่วยโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรคมอบให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ร่วมกับ กทม.ตั้งจุดตรวจภาคสนาม บริการประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค 3 แห่ง คือ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ สนาม ราชมังคลากีฬาสถาน และสโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีฯ ตรวจคัดกรองได้ 4,000 คนต่อวัน โดยใช้ชุดตรวจ เอทีเค (Antigen Test Kit : ATK) รู้ผลเร็ว รายใดผลเป็นบวก จะตรวจยืนยันด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ด้วยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน และรถเอกซเรย์ปอดเคลื่อนที่ (เฉพาะจุดสโมสรกองทัพบก) แยกผู้ติดเชื้อตามระดับอาการ นำเข้าระบบดูแลรักษาที่เหมาะสมตามมาตรฐาน ทั้งที่บ้าน ชุมชน หรือโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
          60ซุปเปอร์ไรเดอร์ส่งยาด่วนให้ผู้ป่วยสีเขียว
          สำหรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมี อาการน้อย สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยต้องขึ้นทะเบียนและแยกรักษาตัวที่บ้าน 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะหาย กรมควบคุมโรค จัดหน่วยส่งยาด่วน หรือเรียกว่า "ซุปเปอร์ไรเดอร์" ซึ่งเป็นประชาชนจิตอาสา ขณะนี้มีจำนวน 60 คน เพื่อนำชุดอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาอาการที่บ้าน ประกอบด้วย ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ยาฟ้าทะลายโจร ปรอทวัดไข้ เครื่องตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เจลแอลกอฮอล์ ล้างมือ หน้ากากอนามัย ป้องกันการแพร่เชื้อ ขณะนี้ส่งมอบไปแล้ว กว่า 100 ราย
          ส่งCCRค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน6โซน
          ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคยังจัดทีมปฏิบัติการป้องกันแก้ปัญหาโควิด-19 เชิงรุก หรือที่เรียกว่า ซีซีอาร์ทีม (Comprehensive COVID-19 Response Team : CCR Team) จากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง 12-15 ทีม ร่วมกับกทม. และ เครือข่ายอื่น เข้าค้นหาผู้เสี่ยงที่อยู่ในชุมชนทั้ง 6 โซน ใน 50 เขตของกทม. ซึ่งแต่ละทีม จะควบคุมโรค ตรวจคัดกรองเชื้อด้วยชุดเอทีเค ได้วันละประมาณ 1,000 ราย ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งประเมินระบบป้องกันควบคุมโควิด ตามพื้นที่เสี่ยงสำคัญ เช่น แคมป์ก่อสร้าง ตลาดสด ชุมชน และให้ความรู้ ป้องกันโควิด ประชาชนที่สงสัยติดเชื้อโควิด โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
          สธ.ติวเข้ม600บุคลากรลุยฉีดไฟเซอร์
          นพ.โอภาส ยังแถลงความคืบหน้าการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ 1.5 ล้านโดส ว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคเร่งดำเนินการตามแผน ทั้งเตรียมพร้อมบุคลากรที่จะฉีดด้านเทคนิคและวิธีฉีดให้ได้มาตรฐานไฟเซอร์ รวมทั้งระบบติดตามเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น  เพราะเป็นวัคซีนอาร์เอ็นเอ (RNA base vaccine) ที่เข้มข้นสูง ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่กำหนด เพื่อคงประสิทธิภาพวัคซีน ซึ่งได้ให้สถาบันบำราศนราดูรจัดอบรมออนไลน์แก่ทีมบุคลากรของสถานพยาบาลกว่า 600 คนทั่วประเทศ โดยวัคซีนไฟเซอร์ ลอตแรก จะเร่งฉีดให้บุคลากรแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแล ผู้ป่วยตามที่สถานพยาบาล หรือสถานบริการพิจารณา เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
          ลอตแรก10จว.69รพ.ได้แล้วฉีดทันที
          "สิ่งสำคัญคือ การบริหารจัดส่งวัคซีน เพราะวัคซีนไฟเซอร์จะเก็บรักษาในความเย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส อายุเพียง 1 เดือน จึงแบ่งการจัดส่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 วันที่ 4-7 สิงหาคม ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด โดยวันที่ 4-5 สิงหาคมส่งไปถึงปลายทางแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ กทม., จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, สมุทรปราการ, นครนายก, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี รวมสถานพยาบาล 69 แห่ง ซึ่งพื้นที่แจ้งขอเพิ่มเติมได้ตามจำนวนและความต้องการ ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งช่วงที่ 2"นพ.โอภาสระบุ
          ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้วทั้งกทม.และต่างจังหวัด อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สถาบันบำราศนราดูร,โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลนครนายก,โรงพยาบาลสระบุรี, โรงพยาบาลระยอง บางแห่งเริ่มฉีดให้บุคลากรแพทย์ฯแล้วช่วงบ่ายวันนี้ (5 สิงหาคม) และให้ครบตามเป้าหมายภายในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเร่งดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายอื่นต่อไป
          กลับภูมิลำเนารักษาตัวเฉียดแสน
          นพ.ธงชัย  วิไลเลิศรัตนพงศ์  หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ขณะนี้พบปัญหาติดเชื้อโควิดในกทม. และปริมณฑลจำนวนมาก ทำให้มีประชาชนบางส่วนเดินทางกลับภูมิลำเนาไปรักษาตัวจาก การเก็บข้อมูลวันที่ 1 กรกฎาคม-4 สิงหาคมรวม 94,664 คน และยังมีแบบประปรายอีกจำนวนมาก พบว่า ภูมิลำเนาที่ประชาชนเดินทางกลับไปรักษาจำนวนมาก ได้แก่ ภาคอีสาน เขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ จ.ชัยภูมิ, จ.นครราชสีมา, จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ 17,293 คน รองลงมา เขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ จ.บึงกาฬ จ.เลย จ.นครพนม จ.หนองคาย จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร และ จ.อุดรธานี 13,761 คน และเขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด 13,022 คน  ส่วนที่เหลือกระจาย ไปในเขตสุขภาพอื่น ทั้งภาคเหนือ การ เดินทางกลับภูมิลำเนานั้นให้สแกนคิวอาร์โค้ด สายด่วน 1330 ต่อ 15 หรือสายด่วน 1669 การประเมินอาการผู้ป่วยเบื้องต้น จะใช้ข้อมูลจากตัวผู้เดินทาง จากนั้นจะแยกอาการ แบ่งเป็น 1.ผู้ป่วยสีเขียว อาการน้อย ส่วนใหญ่ เข้ารพ.สนาม หรือ Community Isolation และ Home Isolation 2.ผู้ป่วยเหลือง ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงรักษาในรพ.ชุมชน และ 3.ผู้ป่วยสีแดงอาการรุนแรง วัดออกซิเจนปลายนิ้วลดลง หรือเหนื่อยหอบ จะรักษาใน รพ.ทั่วไป/รพ.ศูนย์ ทั้งนี้ ทุกจังหวัดมีผู้ป่วยทุกกลุ่มสีเดินทางกลับบ้าน
          ใช้เตียงแล้ว73%-เหลือว่าง4.1หมื่น
          ส่วนอัตราการครองเตียง หลังมี ผู้ป่วยเดินทางกลับไปรักษายังภูมิลำเนา 12 เขต ไม่รวม กทม.นั้น นพ.ธงชัยเผยว่า ขณะนี้เตียงทั้งหมด 156,189 เตียง ใช้ไปแล้ว 114,786 เตียง หรือคิดเป็นร้อยละ 73.48 เหลือเตียงว่าง 41,185 เตียง พร้อมกล่าวว่าอัตราครองเตียงในเขต 4,5 และ 6 มากเกือบร้อยละ 80 การขยายเตียงสีเขียวไม่มีปัญหา แต่ขยายเตียงสีแดงยากที่สุด เพราะต้องมีเครื่องช่วยหายใจ อัตราครองเตียง อยู่ที่ร้อยละ 75 ขณะนี้กระทรวงฯวางแผน ส่งผู้ป่วยข้ามเขต กรณีจำเป็นและประเมินว่าในอีก 2 สัปดาห์ ของผู้ป่วยที่เดินทางกลับภูมิลำเนา จะเริ่มพบป่วยมากขึ้น
          มท.สั่งทุกจว.หาเตียงให้พอรับผู้ติดเชื้อ
          ด้านนายฉัตรชัย  พรหมเลิศ  ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เพื่อให้การบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ โดยประเมินสถานการณ์แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่  ประกอบการวางแผน เตรียมเตียง เพื่อรองรับให้เพียงพอ และทำความเข้าใจกับหน่วยงาน ประชาชน ผู้ติดเชื้อโควิดและญาติ ให้เข้าใจสถานการณ์ผู้ติดเชื้อและสถานการณ์เตียง นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำการจัดการเตียง ควรสำรองเตียงตามอาการได้แก่ 1.โรงพยาบาลหลัก สำหรับผู้ติดเชื้อสีแดง และผู้ติดเชื้อ สีเหลือง 2.Hospitel และโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ติดเชื้อสีเหลือง และ 3.สถานที่แยกกักตัวในชุมชน (CI) และการแยกกักตัวที่บ้าน (HI) สำหรับผู้ติดเชื้อสีเขียว โดยต้องมีระบบดูแล ติดตาม ประเมินอาการ โดยบุคลากรทางสาธารณสุข และจัดระบบแจกยาหรือจัดให้แจกจ่าย Observation Kit Bag ให้ครอบคลุม รวมทั้งมีระบบส่งต่อกรณีผู้ติดเชื้ออาการหนัก


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved