HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 13/07/2564 ]
ฉีดวัคซีนสลับชนิดสู้สายพันธุ์เดลต้า

การต่อสู้กับเชื้อโรคโควิด-19 กำลังดุเดือด
          1. ฝ่ายเชื้อโรค มีกำลังเสริมเป็นไวรัสกลายพันธุ์ ปัจจุบัน สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) คือ สายพันธุ์หลักที่เราต้องต่อสู้ จากเดิมที่เราเคยต้องสู้กับสายพันธุ์อู่ฮั่นและอังกฤษเป็นหลัก
          2. ฝ่ายมนุษย์โลก มีกำลังเสริมเป็นวัคซีน ซึ่งทุกชนิดที่มีในโลกใบนี้ ไม่ว่าไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา ซิโนแวค ฯลฯ ล้วนพัฒนาขึ้นมาสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดิม เมื่อมาเจอกับสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนล้วนลดลงทุกยี่ห้อทุกชนิด แต่ยังสามารถป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ระดับดีเยี่ยม
          3.มนุษย์โลกชาวไทยบางจำพวก อ้างว่า จะต้องเอาวัคซีนคุณภาพดีมาฉีด
          คำถาม คือ มีไหมวัคซีนเทวดา ประเภทที่ฉีดแล้วจะไม่มีการติดเชื้อเลย และไม่มีการเสียชีวิตเลย
          คำตอบ คือ ไม่มี 4. เมื่อวานนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แถลงว่า คณะกรรมการฯ มีมติเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ดังนี้
          (1) เห็นชอบ ให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซเนกา ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อประสิทธิภาพ ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ให้เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น โดยรพ.ดำเนินการได้ทันที
          (2) ที่ประชุมรับทราบการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือบูสเตอร์โดสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยให้เข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรก เกิน 4 สัปดาห์แล้วจึงให้กระตุ้นได้เลย  วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุดต่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อจากการทำงานประจำในการดูแลผู้ป่วย
          ส่วนบูสเตอร์โดสนั้น จะเป็นแอสตราเซเนกาเป็นหลัก เนื่องจากมีข้อมูลวิชาการระบุว่าการให้วัคซีนคนละชนิดเป็นเข็มกระตุ้น มีผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคลเพื่อป้องกันโรค โควิด-19 เพิ่มมากขึ้น
          5. ประเด็นการฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน หากใครติดตามการศึกษาของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ จะทราบว่าได้มีการอัพเดตข้อมูลมาก่อนหน้านี้ เช่น
          เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม โควิด-19 วัคซีน นพ.ยงโพสต์เรื่อง "การให้วัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุดในทรัพยากรที่จำกัด การสลับวัคซีน" ความว่า "วัคซีน โควิด-19 ทุกชนิดสามารถลดการป่วยรุนแรง การนอน ICU และการเสียชีวิตได้
          ในปัจจุบัน ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เป็นสายพันธุ์ใหม่มาโดยตลอด ปัจจุบันมีแนวโน้มสายพันธุ์เดลต้า จะครองโลก สายพันธุ์เดลต้า จะลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง ดังนั้นการให้วัคซีนจึงต้องการภูมิต้านทานที่สูง
          การศึกษาของทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก พบว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเชื้อตาย (Sinovac) และเข็มที่ 2 ในเวลา 3-4 สัปดาห์ต่อมา เป็นไวรัสเวกเตอร์ (AstraZeneca) พบว่าภูมิต้านทานหลังเข็ม 2 ที่ 1 เดือน จะสูงขึ้นมากกว่าการให้ Sinovac 2 เข็ม ประมาณ 8 เท่า และมีเปอร์เซ็นต์การขัดขวางไวรัสสูงถึง 95% inhibition มากกว่า 95%
          แต่ถ้าให้วัคซีน Sinovac 2 เข็ม และตามด้วยกระตุ้น AstraZeneca ผลภูมิต้านทานท่านจะสูงขึ้นไปอีกมาก (มากกว่า 30 เท่า) (ข้อมูลยังมีน้อยและกำลังศึกษาอยู่)
          การให้วัคซีนสลับเข็ม ที่ผ่านมา มีการลงทะเบียน ในหมอพร้อม ประมาณ 1,000 ราย ไม่พบอาการข้างเคียง รุนแรง ทางศูนย์ฯ ยังศึกษาอย่างต่อเนื่อง และ ภายในสิ้นเดือนนี้จะได้ข้อมูลละเอียดยิ่งขึ้น รวมทั้งความปลอดภัยจากการศึกษาทางคลินิก..."
          สรุป - สิ่งที่ต้องตระหนักในเวลานี้ คือ ทุกประเทศ ล้วนแต่กำลังหาทางปรับใช้วัคซีนที่ตนเองมี รับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ โดยด่วน ดังที่ในหลายประเทศที่เขามีไฟเซอร์ก็เตรียมจะฉีด ไฟเซอร์เข็ม 3 กัน เป็นต้น


pageview  1206088    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved