HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 05/01/2564 ]
ยาเบาหวานชนิดรับประทาน

พลอากาศโท นายแพทย์ อนุตตร จิตตินันทน์
          ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
          สวัสดีปีใหม่ครับ ช่วงนี้คงได้รับแต่ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์เรื่องโควิด-19 กันมากอยู่แล้วนะครับ "ไขปัญหากับอายุรแพทย์ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย" ก็เลยไม่ขอคุยเรื่องโควิด-19 อีก แต่อยากให้ทุกคนรับฟังแต่ข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในจังหวัดของตนเองนะครับ
          เรามาคุยกันเรื่องเบาหวานต่อนะครับ สัปดาห์ก่อน เราพูดถึงการฉีดอิซูลิน วันนี้เรามารู้จักยาลดระดับ น้ำตาลหรือยาเบาหวานชนิดรับประทานกัน ยาเบาหวาน ชนิดรับประทานใช้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น ไม่สามารถใช้ในเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ยาชนิดรับประทานมีหลายชนิด ซึ่ง ออกฤทธิ์แตกต่างกันไป
          ยาที่แพทย์มักให้กับผู้ป่วยเบาหวานเป็นชนิดแรกคือ ยาเมทฟอร์มิน ซึ่งมักมีลักษณะเป็นยาเม็ดใหญ่ออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ ยาเมทฟอร์มิน รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นผลข้างเคียงของยานี้อาจจะทำให้เกิดอาการ แน่นท้อง เบื่ออาหาร การรับประทานพร้อมอาหารจะลดอาการข้างเคียงของ ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไตทำงานไม่ดี ดังนั้น หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก หายใจเร็วหลังรับประทานยานี้ ต้องรีบมาพบแพทย์
          เมื่อใช้ยาเมทฟอร์มินเป็นยาตัวแรกแล้ว หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเกณฑ์ หรือหากระดับน้ำตาลสูงมากตั้งแต่ต้น แพทย์จะพิจารณาให้ยาเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ยาที่ผู้ป่วยมักจะได้รับต่อจาก เมทฟอร์มินคือยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ซึ่งมักมีลักษณะเป็นยาเม็ดเล็ก ยาในกลุ่มนี้รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้ผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือน้ำตาล ในเลือดต่ำ ข้อควรปฏิบัติเมื่อได้รับยากลุ่มนี้ จึงควรรับประทานอาหารหลังจากทานยาไม่เกิน 30 นาที กินอาหาร ออกกำลังกายให้ตรงเวลา และพกน้ำตาลก้อนหรือน้ำหวานติดตัวไว้เสมอ เพื่อใช้เวลาที่มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งอาจมีอาการใจสั่น หิวข้าว หลงลืม จนถึงไม่รู้สึกตัวได้
          หากมีอาการน้ำตาลต่ำเกิดขึ้นบ่อยหรือยัง ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้เมื่อได้รับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย และเมทฟอร์มิน แพทย์อาจเปลี่ยนยาหรือเพิ่มยาเบาหวาน ที่ออกฤทธิ์แบบอื่น อังคารหน้า "ไขปัญหากับอายุรแพทย์ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย" จะมาให้ผู้อ่านได้รู้จักกับยาเบาหวานชนิดรับประทานตัวอื่นกัน อย่าลืมติดตามกันนะครับ


pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved