HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 22/07/2563 ]
ลุ้นวัคซีนต้านโควิด

 จีนเริ่มทดลองในคนอาสาสมัคร900รายได้ผลดีเร่งผลิตทันที
          มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของสหราชอาณาจักร รายงานผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่ต้องเดินหน้าวิจัยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจได้เต็มร้อยว่าจะสามารถป้องกันโรคได้จริง ผู้เชี่ยวชาญฮ่องกงระบุว่า โควิดระบาดรอบสาม เพราะรัฐบาลมีช่องโหว่ รวมถึงประชาชนวางใจเกินไป ส่วนบราซิลก็เริ่มทำการทดสอบกับอาสาสมัครชุดแรก 900 คน หากได้ผลที่ดีก็จะผลิตออกมาใช้ทันที 120 ล้านโดส ขณะที่รัฐมนตรี 2 คนประกาศว่าติดเชื้อและกำลังรักษาตัว
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ว่า สถาบันไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของ สหราชอาณาจักร เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนป้องกัน เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งพัฒนาร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกา ตอนนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "ChAdOx1 nCoV-19" กับกลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและเพศหญิงรวม 1,077 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีประวัติการติดเชื้อไวรัสโคโรนาทุกสายพันธุ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงต้องไม่เคยตั้งครรภ์ มีประวัติการให้นมบุตร หรือเป็นแม่นม มาก่อนด้วย
          ผลการทดสอบเบื้องต้นปรากฏว่า ระบบร่างกายของอาสาสมัครส่วนใหญ่สามารถสร้างแอนติบอดีและเซลล์ทีเฮลเปอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่สามารถสร้างและพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แม้มีรายงานด้วยว่าประมาณ 77% ของผู้เข้ารับการทดสอบมีอาการไข้ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย แต่ทีมนักวิจัยยืนยันว่าเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง และสามารถบรรเทาได้ด้วยการรักษาโรคขั้นพื้นฐาน อาทิ การใช้ยาพาราเซตามอล
          สำหรับวัคซีนทดลองของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เป็นการสกัดสารจาก อดิโนไวรัสในร่างกายของลิงชิมแปนซี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ให้ผลิตโปรตีนในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานยืนยันว่าแม้ผลการทดสอบขั้นต้นถือว่าน่าพอใจ แต่ยังต้องมีการทดสอบและวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกหลายขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนที่จะออกมาใช้อย่างเป็นทางการ จะสามารถป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ได้จริง ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แสดงความยินดีต่อความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้วย
          ส่วนที่รัฐวิคตอเรีย ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นเป็นลำดับสองของประเทศออสเตรเลีย มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในวันที่ 21 กรกฎาคม เพิ่มขึ้นในหนึ่งวันถึง 374 คน มากกว่าก่อนหน้านี้ที่ 275 คน ถึงกว่า 101 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากโควิด-19 ในวันนี้เพิ่มขึ้น 3 ราย เป็นหญิงในวัย 100 ปี 90 ปี และ 80 ปี นับจนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับการยืนยันว่าติด โควิด-19 ในรัฐวิคตอเรียแล้วเกือบ 6,300 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนถึงเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศออสเตรเลีย
          ปัจจุบันรัฐวิคตอเรียกำลังอยู่ระหว่างการบังคับใช้คำสั่งล็อกดาวน์นครเมลเบิร์น เมืองเอกของรัฐบางส่วนเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และปิดพรมแดนจากรัฐข้างเคียง ขณะเดียวกัน ยังได้ขอให้พลเมืองสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกมานอกบ้านพัก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่
          ทางด้านบราซิลได้เริ่มการทดสอบทางคลินิกขั้นสูงกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศจีน โดยจะทดสอบกับอาสาสมัครชุดแรกประมาณ 900 คน ซึ่งเป็นแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ใน 6 รัฐ ของบราซิล ที่เป็นอาสาสมัคร ในโครงการวัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดย บริษัท ซิโนวัค บริษัทยาเอกชนจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายที่สามของโลกที่เข้าสู่การทดสอบระยะที่ 3 หรือการทดสอบเป็นวงกว้างในมนุษย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนการอนุมัติให้ใช้วัคซีน โดยขณะนี้ซิโนวัคกำลังร่วมมือกับสถาบันบูตันตัน ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านสาธารณสุขของบราซิล และหากผลทดสอบออกมาว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทางสถาบันก็จะได้สิทธิ์ในการผลิตวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดส ตามข้อตกลง
          สำหรับอาการป่วยของ ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนาโร ผู้นำบราซิล แม้ดีขึ้นเป็นลำดับนับตั้งแต่ได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องกักตัวเองและรักษาระยะห่างจากประชาชน ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาและ ความเชื่อมั่นของชาวบราซิลต่อรัฐบาลที่ถดถอยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีอีก 2 คน ของบราซิล คือ นายมิลตัน ริเบโร รมว.ศึกษาธิการ อายุ 62 ปี และ นายโอนิกซ์ ลอเรนโซนี รมว.กิจการพลเมือง วัย 65 ปี ที่ออกมาประกาศเมื่อวันจันทร์ ว่ามีผลตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นบวก และตอนนี้กำลังเข้ารับการ รักษาตัวตามขั้นตอน
          ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งเปิดเผยกับเว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ว่า กลุ่มที่ถูกมองข้ามอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ไวรัส โควิด-19 ระบาดรอบสาม พบเพราะว่าการติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศร้อยละ 30 มาจากลูกเรือทางเรือหรือทางอากาศและ ร้อยละ 25 มาจากแม่บ้านต่างชาติ ช่องโหว่เรื่องมาตรการควบคุมพรมแดน ประกอบกับ รัฐบาลรับมือล่าช้าและประชาชนวางใจเกินไป ทำให้เกิดการระบาดมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเมื่อวันอาทิตย์มีผู้ป่วยใหม่ถึง 100 คน มากกว่าช่วงเดือนมีนาคมที่มีการระบาดหนักระลอกสองและมีผู้ป่วยใหม่ รายวัน 65 คน ยอดผู้ป่วยสะสมขณะนี้ อยู่ที่ 1,958 คน แซงหน้ายอดผู้ป่วยเมื่อครั้ง โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์สระบาดในปี 2546
          การระบาดระลอกสามในฮ่องกงเกิดขึ้นในวันที่ 5 กรกฎาคม เริ่มจากพ่อครัวในร้านอาหารท้องถิ่นติดเชื้อ จากนั้นลามไปยังบ้านพักคนชรา และย่านที่พักอาศัยฉือหว่านซานบนฝั่งเกาลูน
          สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน สหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 61,000 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 488 คน โดยสหรัฐยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันเกิน 60,000 คน ต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ส่วนบราซิล พบผู้ป่วยอีก 20,257 คน และ มีผู้เสียชีวิตอีก 632 คน ทั้งนี้ สถิติสะสมของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในบราซิลมีจำนวนมากที่สุดในอเมริกาใต้และเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ
          ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก นับจนถึงเย็นวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อ 14,870,983 ราย เสียชีวิต 613,600 ราย รักษาหาย 8,926,264 ราย สหรัฐมีผู้ติดเชื้อ 3,961,580 ราย เสียชีวิต 143,835 ราย บราซิล ติดเชื้อ 2,121,645 ราย เสียชีวิต 80,251 ราย อินเดีย ติดเชื้อ 1,156,189 ราย เสียชีวิต 28,099 ราย รัสเซีย ติดเชื้อ 783,328 ราย เสียชีวิต 12,580 ราย แอฟริกาใต้ ติดเชื้อ 373,628 ราย เสียชีวิต 5,033 ราย


pageview  1204990    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved