HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 15/05/2563 ]
ไม่พบผู้ป่วยใหม่-เสียชีวิตติดเชื้อเป็นศูนย์ศบค.เตือนไทยยังไม่ปลอดภัย

นายกฯพอใจ/ห้ามประมาทรบ.พร้อมผ่อนปรนระยะ2 ลุ้นปรับลดเคอร์ฟิว-คงพรก.ให้ขรก.เหลื่อมเวลาทำงาน
          ข่าวดีของไทยในรอบ 17 วันต่ำสิบต่อเนื่องจนเป็นศูนย์! ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่-เสียชีวิต ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 3,017 ตาย 56 โฆษก ศบค.แตะเบรกยังวางใจไม่ได้ ทั้งหมด ชี้ไทยยังไม่ปลอดภัย ต้องเคร่งครัด 5 มาตรการ สธ.ต่อเนื่อง นายกฯพอใจตัวเลขเป็นศูนย์ แต่ประมาทไม่ได้ ต้องมีวินัยปฏิบัติตามแผนสกัด โควิด-19 ระบาด  ด้านกรมอนามัย ประเมิน 2 กิจการหลังคลายล็อกเฟสแรก พบร้านเสริมสวย ไม่ผ่านเกณฑ์ 63% มีปัญหาไม่จดรายละเอียดลูกค้า ขณะที่ร้านสปาตัดขนสัตว์ 53%จำนวน 278 ร้านสอบตก  ชี้เตือน 3 ครั้งก่อนดำเนินการตามกฎหมาย
          เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้ถือเป็นข่าวดี เพราะเป็นวันแรกของการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นศูนย์ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ขณะนี้ยอดผู้ป่วยสะสมยังอยู่ที่ 3,017 ราย เสียชีวิตสะสม 56 ราย หายป่วยสะสม 2,844 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ศูนย์รายเป็นเรื่องที่ต้องดีใจกับทุกคนที่พยายามกันมาหลายวัน
          ข่าวดีติดเชื้อเป็นศูนย์-ต่ำสิบต่อเนื่อง17วัน
          ทั้งนี้ ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน วันที่ 3 เมษายน.ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ไม่ขยับขึ้น และเราทำดีมาเรื่อยๆ จนผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมวันที่ 3 พฤษภาคม ตอนนั้นเรากังวลใจอยู่เหมือนกันว่าเมื่อผ่อนปรนตัวเลขจะพุ่งขึ้น แต่ระยะเวลา 10 วันที่ผ่านมา มีเพียงวันที่ 4 พฤษภาคม วันเดียวที่พบผู้ป่วยรายใหม่ 18 คน แต่เป็นคนที่อยู่ศูนย์กักกันที่ อ.สะเดา จ.สงขลา  ไม่ใช่ตัวเลขที่พบในประเทศ แต่จะบอกว่าศูนย์ก็ไม่ได้ เพราะต้องรายงานตัวเลขเข้ายอดสะสม  แต่วันนี้ ถือเป็นศูนย์จริงๆ และถ้าไม่นับวันที่ 4 พฤษภาคม วันนี้ถือเป็นวันที่ 17 แล้วที่ไทยมีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่หลักเดียวติดต่อกันมา อยากให้ทุกคนภาคภูมิใจที่เราสามัคคีร่วมมือกันทำให้ตัวเลขนี้เกิดขึ้นจริง แต่ขอให้ช่วยกันทำต่อไป เพราะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ ดังนั้น เราอาจสบายใจและเบาใจได้ แต่ยังวางใจไม่ได้ทั้งหมด  ต้องปฏิบัติตามมาตรการหลัก ทั้งการล้างมือ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย
          ย้ำทุกคนปรับตัวตามชีวิตวิถีใหม่
          "ขอชื่นชมกับตัวเลขที่เป็นศูนย์ ที่เราร่วมมือกัน และขอให้ทุกคนทำตัวเองให้อยู่ในชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้เห็นตัวเลขที่ น่าพอใจอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ที่สุดเราอาจเป็นประเทศแรกๆ ที่พ้นความทุกข์ก่อนคนอื่นก็ได้"นพ.ทวีศิลป์ กล่าว และว่า  ตั้งแต่ปรับเกณฑ์การตรวจผู้ที่มีนิยามเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เปิดกว้างขึ้น ทำให้มีผู้เข้ามาตรวจ 34,444 ตัวอย่าง พบผู้ป่วย 63 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.18% ถือว่าน้อย แต่เราจะตรวจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  นอกจากนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-11 พฤษภาคม พบว่า  ใน สถานที่กักตัวของรัฐมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 90 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน
          ไม่พบกิจการที่ไม่ทำตามมาตรการสธ.
          ส่วนความคืบหน้าการเดินทางกลับจากประเทศของคนไทยที่ตกค้าง นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า วันที่ 13 พฤษภาคม มีคนไทยกลับจากยูเครน 13 ราย  ฟิลิปปินส์ 171 ราย อินเดีย 129 ราย ส่วนวันที่ 14 พฤษภาคม มาจากเยอรมนี 80 ราย บังคลาเทศ 197 ราย    ขณะที่ผลตรวจกิจการ/กิจกรรมประจำวันที่ 12 พฤษภาคม ตรวจไปทั้งสิ้น 23,575 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ 22,123 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ไม่สมบูรณ์ 1,310 แห่ง หรือ 5.92% ไม่พบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ตรงนี้อาจเกิดจากเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบทุกวันและให้คำแนะนำ จึงขอบคุณผู้ประกอบการทุกคนที่ให้ความร่วมมือ สิ่งเหล่านี้จะเป็นชีวิตวิถีใหม่ของพวกเรา
          ย้ำไทยยังไม่ปลอดภัยเชื้ออาจฟักตัวอยู่
          ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่พบผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ สรุปได้หรือไม่ว่าประเทศไทยปลอดภัยแล้ว นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ยัง ไม่ได้ การเป็นศูนย์วันนี้ แต่อาจมีคนที่ฟักเชื้ออยู่แล้วเจอวันที่ 14 พฤษภาคม เหมือนกับเกาหลีใต้ที่พบ 1 ราย และนำไปสู่การติดเชื้ออีก 102 ราย ของไทยก็เหมือนกันถ้ามีแม้แต่คนเดียวแล้วเขาไปสัมผัสกับคนอื่นก็ติดเชื้อได้  ขอให้ทุกคนช่วยกันสังเกตอาการตัวเอง และการเป็นศูนย์นั้น ต้องเป็นศูนย์ไปตลอด บางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 14 วัน หรือบางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 21 วัน ตอนนี้เรายังไม่มีรายงานแบบนั้น ขนาดจีนเป็นศูนย์มาหลายวันยังกลับมาระบาดใหม่ จึงวางใจไม่ได้
          ห่วงตู้ปันสุขดูแลไม่ดีแหล่งแพร่โรค
          นพ.ทวีศิลป์ยังแสดงความเป็นห่วงกรณีมีข่าวคนไปชุลมุนแออัดบริเวณตู้ปันสุข เพื่อนำสิ่งของที่มีคนบริจาคมาใช้ว่า เห็นข่าวแล้ว เป็นภาพไมค่อยน่าดู  เราต้องอยู่ในชีวิตวิถีใหม่ ขอฝากมาตรการ 5 ข้อ ล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ใครอยู่ใกล้ตู้ ขอให้ช่วยทำความสะอาดพื้นผิว เพราะถ้าดูแล ไม่ดีอาจเป็นโอกาสให้เกิดการแพร่โรคได้ และขออย่าไปแออัดกัน
          แนะปชช.เข้ม3มาตรการสธ.ไม่ติดไม่ตาย
          ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.ให้สัมภาษณ์หลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมติดตามการบริหารจัดการของโรงทาน ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่วัดระฆัง โฆสิตาราม กทม.ว่า  ตนและรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ประชาชนเสี่ยงติดเชื้อโรค ขณะนี้แก้ปัญหามาเป็นระยะ พร้อมกล่าวยืนยันกับประชาชนว่า "ถ้าเราทำ 3 มาตรการ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเฉพาะเว้นระยะห่าง ก็ไม่ต้องห่วง ถ้า ไม่ติดก็ไม่ตาย"  พร้อมอวยพรขอให้ทุกคน อายุยืน มีสุขภาพใจและกายที่แข็งแรง
          แจงทยอยผ่อนปรนหวั่นระบาดซ้ำ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างลงพื้นที่ช่วงหนึ่งชาวบ้านขอจับมือนายกฯ แต่นายกฯ ปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่า มาวันนี้ก็เพื่อมาให้กำลังใจทุกคน แต่ที่ไม่ได้จับมือกับ ทุกคน เพราะต้องทำตามที่สาธารณสุขบอกไว้ ไม่ได้รังเกียจใคร ฉันรักทุกคน รังเกียจประชาชนไม่ได้อยู่แล้ว วันนี้รัฐบาลพิจารณาเพื่อเตรียมการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่งรู้ดีว่าทุกคนเดือดร้อน แต่เนื่องจากไวรัส โควิด-19 สามารถอยู่ในตัวคนได้ แต่บางคน ไม่แสดงอาการและอาจฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพร้อมใจ และ ร่วมมือป้องกันก็ไม่มีปัญหา
          "รัฐบาลเตรียมทยอยเปิดกิจการเพื่อให้ทำมาหากินได้ เป็นระยะๆ ไป รู้ดีว่าทุกคนลำบาก บางคนก็เดือดร้อนแต่ยืนยันว่าเราพยายามอย่างเต็มที่ อยู่มา 5-6 ปี ไม่รู้จักผมหรือว่าเป็นคนอย่างไร ต้องการทำให้ทุกคนมีความสุขทำให้ประเทศดีขึ้น และการทำงานไม่ใช่นายกฯคนเดียว ทุกอย่างอยู่ที่พวกเราทุกคน อะไรที่มีการพูดจาไม่จริง ผมไม่ไปเถียงหรือโต้ตอบใคร ความสุขของนายกฯคือการมาทำงานให้ทุกคน"นายกฯกล่าว
          สั่งสธ.-ศธ.-พม.หาวิธีเปิดรร.เหลื่อมเวลา
          พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการขยายมาตรการทำงานที่บ้าน ของภาคเอกชนและภาคธุรกิจว่า ส่วนตัวเห็นว่าการทำงานที่บ้านไม่ใช่แค่ป้องกันโควิด- 19 อย่างเดียว แต่ตนนึกถึงการแก้ปัญหาจราจร ทั้งนี้ ตนสั่งการไปแล้วว่า  การเรียนการสอนที่บ้าน เป็นสิ่งสำคัญที่ตนให้นโยบายไป และขอให้ไปทบทวนว่า การเรียนการสอนวิชาใดเรียนออนไลน์และเรียนผ่านโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมได้ ซึ่งจะช่วยลดเวลาไปโรงเรียน รวมถึงมาตรการเหลื่อมเวลาทำงานที่ทำให้การจราจรไม่ติดขัด แต่ต้องคำนึงถึงผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานไปโรงเรียน เพื่อให้จัดระเบียบในองค์กรว่า พนักงานคนใดมีลูกวัยไหนเพื่อจัดเวลาเข้าทำงาน ตนสั่งการกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปหาวิธีการที่จะให้โรงเรียนเปิดเลื่อมเวลาโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น วันนี้เราต้องคิดระยะยาวเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต นักบริหารจะต้องคิดแบบนี้ แก้ปัญหา ทำปัจจุบัน และคิดอนาคต และเตรียมการสู่อนาคตไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือหลักการของผู้บริหารที่ดี
          พอใจตัวเลขเป็นศูนย์แต่อย่าประมาท
          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า พอใจตัวเลขการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นศูนย์ ขอบคุณทุกคนที่ ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อ รายใหม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนมีวินัยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ อย่างเคร่งครัดต่อไป  ตนห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มอาชีพขออย่าประมาท ช่วงนี้ เป็นการผ่อนปรนมาตรการ ขอให้ทุกคนอดทน ใส่หน้ากากทุกครั้ง  รักษารักษาระยะห่างทางสังคม หมั่นทำความสะอาด ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และกำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ค้นหาไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง รวมทั้งให้สถานประกอบกิจการ/กิจกรรมที่กลับมาเปิดบริการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข และข้อแนะนำเพื่อป้องกันระบาดระลอก 2
          "ผมขอเตือนแม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลง แต่อย่าประมาท ถึงตัวเลขจะเป็นศูนย์ก็ประมาทไม่ได้ เพราะเชื้อโรคยังสะสมอยู่ บางคนไม่แสดงอาการ ไม่ใช่ติดเชื้อน้อยแล้วจะผ่อนปรนมากขึ้น ผมอยากให้เปิดใจจะขาด แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อแล้วจะทำอย่างไร" นายกฯกล่าว
          ผลสำรวจสธ.ร้านเสริมสวยตกเกณฑ์63%
          วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ดนัย  ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมได้รับมอบหมายให้เตรียมแนวทางปฏิบัติ สำหรับกิจการและสถานที่ ที่ได้รับการผ่อนปรนให้เปิดบริการ โดยระยะแรกเป็น 6 กิจกรรมและกิจการที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต และส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจและสังคมสูง เช่น ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม  ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม สำหรับสุภาพบุรุษหรือสตรี สถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์  กิจกรรมการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ หลังเปิดดำเนินการระยะหนึ่ง ทั้งนี้ กรมอนามัยสำรวจ 3 ส่วนคือ ด้านสุขอนามัย การเว้นระยะห่าง และความสะอาดด้านสุขาภิบาล ในสถานประกอบกิจการ 77 จังหวัด ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อ เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะกิจการ 2 ประเภท ได้แก่ การตัดผม เสริมสวย และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง
          "ผลการประเมินร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดีเยี่ยมร้อยละ 27.18  ผ่านเกณฑ์พื้นฐานร้อยละ 9.74 และ ไม่ผ่านเกณฑ์ถึงร้อยละ 63.08   ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อย มากที่สุดคือ การบันทึกบันทึกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร วันและเวลาของผู้มารับบริการทุกราย รองลงมาได้แก่ จุดคัดกรองพนักงานและผู้มา รับบริการ, ผู้ให้บริการสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย แผ่นใสครอบหน้า (Face Shield) และผ้ากันเปื้อน/เสื้อคลุมที่สะอาดตลอดเวลาที่อยู่ในร้าน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้คำแนะนำกับทางผู้ประกอบการ ต่อไป"นพ.ดนัยกล่าว
          ร้านสปาตัดขนหมาไม่ผ่านเกินครึ่ง53%
          สำหรับร้านสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์นั้น นพ.ดนัยกล่าวว่า ทำได้ค่อนข้างดี มีปัญหามากที่สุดคือ จุดคัดกรอง พนักงานและผู้มารับบริการ รองลงมาคือ ผู้ให้บริการสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย แผ่นใสครอบหน้า (Face Shield) สวมถุงมือยาง หมวกคลุมผม และผ้ากันเปื้อนที่สะอาดทุกครั้งที่ให้บริการ รวมทั้งการจัดที่ยืนสำหรับลูกค้าที่รอชำระเงิน เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร  โดยผลการสำรวจมีร้านผ่านเกณฑ์ดีเยี่ยมร้อยละ 40  ผ่านเกณฑ์ พื้นฐานร้อยละ 7  ทั้งนี้ มีร้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 278 ร้าน หรือร้อยละ 53 พบว่าไม่ได้จัดเตรียมแอลกฮอล์ให้ลูกค้าและไม่เว้นระยะห่าง ซึ่งหากเตือนถึง 3 ครั้ง จะดำเนินการตาม กฎหมายต่อไป
          ย้ำกฎเหล็กลดสัมผัส/ลดเวลา/ลดแออัด
          นพ.ดนัยกล่าวต่อว่า สำหรับสถานบริการเสริมสวย แต่งผม แต่งเล็บ ที่อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย เบื้องต้นให้จัดบริการเฉพาะที่จำเป็น ได้แก่ สระ ตัด ซอยผม แต่งผม ส่วนสถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ ต้องคำนึงถึงการลดการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คน  สัตว์สู่คน หรือจากการปนเปื้อนผ่านของใช้ อุปกรณ์ต่างๆ ดังนั้น กรมจึงวางแนวทางปฏิบัติ สำหรับเจ้าของร้าน พนักงานผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ให้ยึดหลักการ  "ลดสัมผัส ลดเวลา และลดความหนาแน่น"  สิ่งสำคัญคือ ต้องจำกัดเวลาและจำนวนผู้รับบริการ โดยให้นัดหมายล่วงหน้า ทำความสะอาดอุปกรณ์ สถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จัดเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย
          ย้ำคลายล็อกทุกกิจการต้องใช้เวลา
          ด้าน นพ.อนุพงศ์  สุจริยากุล  ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า วันนี้ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ไม่มีเสียชีวิต แต่เมื่อมีข่าวดีแล้ว อย่าตั้งอยู่บนความประมาท การ์ดอย่าตกเพราะผู้ป่วยโควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่ค่อนข้างแปลกกว่าโรคทางเดินหายใจตัวเดิม เพราะสามารถแพร่โรคได้ทั้งที่ยังไม่มีอาการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล  สิ่งสำคัญคือ อย่าการ์ดตก เราบล็อกการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศได้อยู่  ยิ่งเราผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมต่างๆ ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ เพื่อไม่ให้เกิดระบาดรอบ 2 อาจไม่ถึงกับไม่มีผู้ป่วยเลย แต่ขอให้มีผู้ป่วยในระดับที่เราจัดการได้ ถ้าพุ่งมากเราจะรับมือไม่ไหว สำหรับการเปิดดำเนินการครบทุกกิจการนั้นอาจต้องใช้เวลา
          กทม.ทยอยผ่อนเฟส2-ย้ำ3ข้อปฏิบัติ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ค "ผู้ว่าฯอัศวิน" ของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ว่า ขอชื่นชมคนไทยทุกคน  ในที่สุดวันนี้ เราก็ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มเติม แม้สถานการณ์จะยังประมาทไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรามีรอยยิ้มแห่งความยินดีได้เป็นวันแรกและครั้งแรก หลังมีการระบาดของโรคมาหลายเดือน แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือ ร่วมใจของประชาชนทุกคนในการปฏิบัติตามมาตรการเป็นอย่างดี รวมถึงช่วยเหลือและส่งกำลังใจให้แก่กันทุกรูปแบบ เพื่อให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปโดยเร็ว  ทั้งนี้ ในเรื่องมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 2 ก็จะออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้สะดวกมากขึ้น แต่อย่าลืม 3 ข้อหลักต้องปฏิบัติให้เคยชิน คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และล้างมือบ่อยๆ
          สมช.ถกสรุปผลโพลล์คลายล็อกเฟส2
          ขณะที่พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.) เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน สมช.จะประชุมรับทราบผลรับฟังความคิดเห็น ประชาชน เพื่อประเมินสถานการณ์ว่า จะคลายล็อกในระยะที่ 2 หรือไม่  โดยผลการประเมินจะให้เสร็จภายในวันนี้ และ ส่งให้ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นผอ.ศบค.พิจารณา
          ผ่อนปรนเฟส2ใช้เกณฑ์เดียวกับระยะที่1
          นายวิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมระยะที่ 2 ว่า เลขาฯสมช.เชิญผู้เกี่ยวข้องประชุมพิจารณาเรื่องนี้แล้ว เพื่อประเมินสถานการณ์และนำข้อมูลรายงานที่ประชุม ศบค.วันที่ 15 พฤษภาคม โดยยึดหลักเกณฑ์ระยะที่ 1 ซึ่งขณะนี้ ผ่อนปรนมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จึงต้อง ประเมินพิจารณาผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยต้องพิจารณาโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ กิจกรรมต่างๆ  ทั้งนี้ โอกาสเสี่ยงบุคคล ในคนบางประเภทไม่เสี่ยง แต่บางประเภทเสี่ยง เช่น การอยู่บ้านกับการเดินทางเด็กกับผู้ใหญ่ ส่วนในเรื่องสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด ผับ บาร์ กับโอกาสเสี่ยงของกิจกรรม ซึ่งบางอย่าง 5-10 คนมารวมกันถือว่าเสี่ยง แต่บางกิจกรรมไม่เสี่ยง  เพราะมีวิธีดูแล โดยสรุปแล้วต้องพิจารณาเรื่องคน สถานที่ และกิจกรรม พร้อมกันนี้ ต้องพิจารณาตัวเลข ผู้ป่วยสะสม ผู้ที่รักษาหาย และจำนวนผู้เสียชีวิต ลดลงหรือไม่  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นดัชนีชี้วัดแต่อาจมีสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ ไม่สามารถผ่อนคลายได้ทั้งหมด เพราะยังมีการละเมิดข้อกำหนดที่ห้าม เช่น ละเมิดเคอร์ฟิว และมีการเดินทางข้ามจังหวัด แม้เราไม่ได้ห้ามการเดินทางแต่ก็มีอันตราย มีโอกาสเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะมีวันหยุดหลายวัน นอกจากนี้ ยังมีผู้เดินทางเข้าประเทศจำนวนมาก ตรงนี้ยังต้องคุมอยู่
          รอลุ้นผ่อนเคอร์ฟิวแต่คงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
          ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการให้ผ่อนคลายช่วงเวลาเคอร์ฟิว รองนายกฯกล่าวว่า กำลังดูกันอยู่  ยังตอบไม่ได้ว่าจะผ่อนคลายจุดนี้หรือไม่ ส่วนเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มองว่าจะยกเลิกได้ช่วงไหนหลังสถานการณ์ โควิด-19 เบาลง ตนว่าเร็วไปที่จะพูดขณะนี้ เพราะเพิ่งผ่านมาครึ่งเดือนพฤษภาคมยังไม่ถึงสิ้นเดือน จึงตอบไม่ได้ตอนนี้ เรื่องเคอร์ฟิวต้องใช้คู่กับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หลายอย่างใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ แต่ก็มีจุดอ่อน เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นการให้อำนาจ ผู้ว่าราชการจังหวัด หาก 77 จังหวัดรวมทั้ง กทม.ใช้มาตรการคนละมาตรฐานกันจะลำบาก ขณะเดียวกันผู้ว่าฯเองก็ไม่มั่นใจที่จะสั่งปิดหรือเปิด เช่น ถ้าไปสั่งปิดอะไรแล้วเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อประเทศ ทำให้มีคนตกงานและคนเหล่านี้วิ่งมาขอความ ช่วยเหลือรัฐบาลกลาง เพราะจังหวัดเยียวยาไม่ได้ ตรงนี้ทำให้ผู้ว่าฯไม่มีความมั่นใจในการใช้อำนาจ กลัวว่าทำไปแล้วจะกระทบ จะแย่หรือไม่ เป็นช่องว่างของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
          แย้มอาจผ่อนคลาย4มาตรการระยะแรก
          "การพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำเสนอที่ประชุมใหญ่ ศบค.นั้น อาจผ่อนคลาย 4 มาตรการที่ภาครัฐตั้งไว้ในระยะที่ 1 และเป็นไปได้ ในการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆนอกเหนือจากที่ศบค.แถลง เขาพิจารณาหมดทุกรายการ แต่ตนไม่ทราบ ไม่อยากพูดให้ความหวัง ถ้าเขาไม่เปิดแล้วจะเสียคนทั้งตนและสื่อ แต่กิจการไหนที่เปิดไปแล้วพฤติกรรมเกิดความเสี่ยงอีกก็ปิดได้ทันที จะปิดเฉพาะร้าน เฉพาะราย หรือทั้งประเภทเลยก็ได้ แต่กิจการโรงแรมภาครัฐไม่เคยสั่งปิดเพียงแต่ไม่มีคนมาพักก็ต้องปิดอัตโนมัติ ตอนนี้โรงแรมเปิดกิจการของตัวเองได้และยังให้เปิดร้านอาหารในโรงแรมได้ด้วย เช่นเดียวกับรีสอร์ท" นายวิษณุกล่าว
          ให้ขรก.เหลื่อมเวลาทำงานขอเอกชนร่วมมือ
          และว่า สำหรับมาตรการเหลื่อมเวลาทำงานของข้าราชการนั้น ให้ทำต่อไป กรุงเทพฯทำได้แต่ต่างจังหวัดอาจลำบาก เพราะเป็นงานบริการประชาชนจึงไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ แต่ในกรุงเทพฯมีงานหลายประเภททำที่บ้านได้ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานทำงานที่บ้านได้ 80-90% ประสิทธิภาพงานไม่กล้าตอบว่าดีกว่า แต่งานไม่เสีย ในภาคเอกชนเราใช้วิธีขอร้องในการเหลื่อมเวลาทำงานเพื่อแก้ปัญหารถติดและความแออัดในการเดินทาง


pageview  1205095    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved