HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 30/04/2563 ]
ผับ-บาร์-ร้านเหล้า ปิดยาว กทม.ไฟเขียว คลายล็อก 8 สถานที่ ธุรกิจ

 สวนสาธารณะ-สนามกอล์ฟตลาด-ตัดผมเสริมสวยเสนอศบค.เคาะวันเปิดติดโควิดเพิ่ม9ไม่มีตาย
          ศบค.แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 9 คนหลักเดียวต่อเนื่องเป็นวันที่สาม ไม่มีเสียชีวิต  เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 54 หายป่วยกลับบ้านได้แล้ว 2,665 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 228 ราย ต้นเหตุติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดในครอบครัว ย้ำตัวเลขดีแต่ยังวางใจไม่ได้ ทุกย่างก้าว ของการผ่อนปรนมาตรการอยู่ในความเสี่ยง วอน คนไทยร่วมมือลดการแพร่เชื้อให้เหลือเลขตัวเดียวนานที่สุด ด้านกทม.เห็นชอบคลายล็อก 8 สถานที่/ธุรกิจ แต่ต้องเคร่งครัดสกัดโควิด-19 ระบาด ทั้งใส่หน้ากาก วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง ส่วนผับ-บาร์ปิดต่อถึง 31 พ.ค. ส่วนวันเปิดรอฟังศบค.กำหนด เช่นเดียวกับการจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป
          เมื่อวันที่ 29 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศประจำวัน รวมถึงรายละเอียดมาตรการผ่อนปรนสำหรับการประกอบธุรกิจร้านค้าต่างๆ หลังศบค.ขยายระยะเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
          พบเพิ่ม9รายหลักเดียววันที่3ไร้ตาย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า  มีรายงานยอดผู้ติดเชื้อสะสมขณะนี้ 2,947 ราย ใน 68 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 ราย และเป็นข่าวดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม  รวมยอด เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 54 ราย หายป่วย กลับบ้านได้เพิ่มอีก 13 ราย รวมยอดหายป่วยสะสม 2,665 ราย และรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาล 228 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 ราย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 6 ราย ในกทม. 3 ราย  ภูเก็ต 3 ราย โดย 2 คน ใน 3 ราย ที่ภูเก็ตติดเชื้อจากคนในครอบครัว อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 1 ราย  และบุคลากรทางการแพทย์  2 ราย
          "เป็นเรื่องน่ายินดีที่ตัวเลขต่ำสิบติดต่อกัน 3 วัน ขอชื่นชม และขอบคุณ คนไทยทุกคน ร่วมกันสู้โควิดมาตลอด ทำให้เห็นภาพที่ต้องการเห็น  ซึ่งอยากให้ยืนตัวเลขหลักเดียวให้นานที่สุด จนกว่าการระบาด ทั่วโลกจะลดน้อยลง"โฆษกศบค.กล่าว และว่า  จากข้อมูล พบอายุเฉลี่ยยังคงเป็น วัยทำงานช่วงอายุ 30-39 ปี สูงสุดอายุ 20-29 ปี ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่เป็นพาหะ นำเชื้อไปที่อื่น
          ติดเชื้อจากสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในบ้าน80%
          สำหรับข้อมูลผู้ป่วยอายุน้อยระหว่างเดือนมกราคม-26  เมษายน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า พบมีผู้ป่วยอายุ 0-14 ปี 88 ราย คิดเป็น 3% ของทั้งหมด ซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิต โดยอายุน้อยที่สุดคือ ผู้ป่วย 1 เดือน ที่รักษาหายและกลับบ้านแล้ว สาเหตุการพบโรค ร้อยละ 86.4  มาจากสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นพ่อแม่ 45% รองลงมาคือ บุคคลอาศัยร่วมบ้าน 24% สำหรับผู้ที่ต้องดูแลเด็กอ่อนอย่างใกล้ชิด อย่างแม่ที่ติดเชื้อโควิด และต้องให้นมลูก ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ระบุว่า น้ำนมแม่ไม่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ แม่ที่ป่วย โควิดสามารถให้นมลูกได้ แต่ต้องป้องกันหลายวิธี เช่น การปั๊มนมไว้แล้วป้อนลูกทีหลัง การใส่หน้ากากอนามัย ไม่ให้ลูกติดเชื้อมาจากแม่  และอยากเรียนว่าถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องเปลี่ยนวิธีให้นมลูกไปใช้นมผงแทน
          โพลล์ชี้ปชช.เว้นระยะห่างลดลง
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า  กรมสุขภาพจิตนำเสนอชุดพฤติกรรมคนไทย  ที่สำรวจระหว่างวันที่ 12-18 มีนาคม และช่วง 30 มีนาคม 5 เมษายน พบว่า  พฤติกรรมการเว้นระยะห่างในส่วนบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้น ร้อยละ 87.1 เพิ่มขึ้นเป็น 87.7 ในส่วนประชาชนทั่วไปลดลง จากเดิมร้อยละ 86.9 เป็น 82.4   การหมั่นล้างมือบุคลากรทางการแพทย์ให้ความสำคัญมากขึ้นจาก 93 เป็น 97.4 เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่ตัวเลขดีขึ้นจาก 83.6 เป็น 87.5  ขณะที่ การสวมหน้ากากอนามัย พบว่าบุคลากรทางการแพทย์และคนทั่วไปให้ความสำคัญมากขึ้นจนเห็นตัวเลขชัดเจน  โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเพศหญิง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านและอยู่ในชุมชน เพิ่มขึ้น จาก 84.3 เป็น 97.7 ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ เพศชาย จาก 60.7 เป็น 92.6  ส่วนประชาชนเพศหญิงจาก 78.2 เป็น 97.4 เพศชาย 70 เป็น 96.8 ตนขอยืนยัน ในส่วนนี้จากที่พบเห็นประชาชนส่วนใหญ่สวมหน้ากากกันตลอดเวลา
          ย้ำยอดติดเชื้อลดแต่ยังไม่พ้นเสี่ยง
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่พุ่งสูงถึง 3,138,190  ราย เสียชีวิต 217,974  ราย นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ แม้ในไทยสถานการณ์ดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงจนดูเหมือนควบคุมสถานการณ์ได้ แต่สถานการณ์โลกและประเทศรอบบ้านเราไม่ดี ยังพบ ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก คงต้องตรึงไว้ไม่ให้เชื้อเข้ามา
          "สถานการณ์ผ่อนคลายลง แต่ยังวางใจไม่ได้ มาตรการที่เราคุมเข้มทำได้ดี แสดงถึงศักยภาพทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานถึงได้ผลออกมาอย่างนี้  มีตัวอย่างบางประเทศผ่อนปรนแล้วเกิดระบาดระลอก 2 และระลอก 3  การผ่อนคลายจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ในทุกก้าวเดินนั้นแสดงถึงความสุ่มเสี่ยง นายกฯในฐานะผอ.ศบค.ใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้พอสมควร มีคณะทำงานช่วยคิด หามาตรการ ดูแลผลกระทบ โดยต้องให้เรื่องสุขภาพมาก่อน มาตรการทางเศรษฐกิจค่อยตามมา ทั้งนี้ จะเห็นความชัดเจนก่อน วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงการผ่อนคลาย ให้ รอฟังจาก ศบค. จึงจะเป็นที่ยืนยัน"โฆษก ศบค.ย้ำ
          คนไทยกลับแล้ว2.9พัน-ปิดช่องรับนทท.
          ส่วนการกลับประเทศไทยของคนไทยจากต่างประเทศนั้น นพ.ทวีศิลป์เผยว่า ยังมีคนไทยกลับมาต่อเนื่อง วันเดียวกันนี้มาจากอินเดีย 189 ราย วันที่ 30 เมษายน รัสเซีย 15 ราย ศรีลังกาและมัลดีฟส์ 40 ราย และอินเดีย 170 ราย ซึ่งตั้งวันที่ 4-28 เมษายน มีคนไทยกลับมาแล้ว 2,981 ราย จาก 22 ประเทศ ส่วนที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินขอเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเดือนพฤษภาคมนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ขยายเวลาห้ามอากาศยานบินเข้าประเทศชั่วคราวออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม จึงชัดเจนว่านักท่องเที่ยว ยังมาไม่ได้ เราต้องดูแลคนในประเทศก่อน เรื่องท่องเที่ยวไว้ทีหลัง ขอให้สบายใจได้
          ให้ทุกจว.รอฟังประกาศจาก ศบค.
          ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนในการจำหน่ายแอลกอฮอล์ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า  ยังไม่มีข้อสรุป ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ได้พูดคุยติดตามการรายงาน การประกาศงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นประกาศที่แต่ละจังหวัดออกมา ก็ไม่มีการขายทั้งหมด ตนรับทราบว่าตอนนี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยออกเอกสาร แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดว่า ถ้ายังมีประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ข้อกำหนดที่นายกฯประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเขตท้องที่ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่านายกฯจะกำหนดเป็นอย่างอื่น  ขอให้จังหวัดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ให้รอคำสั่งเชิงนโยบายจากศบค.ก่อน เพื่อให้เกิดเอกภาพ ทั่วประเทศ และมีข้อกฎหมายรองรับผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะชัดเจนก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม
          ปชช.-ธุรกิจต้องปรับตัวสู่วิถีนิวนอร์มอล
          เช่นเดียวกับ มาตรการผ่อนคลายในส่วนร้านอาหาร ร้านตัดผม ที่ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ต้องยึดการกินร้อน ช้อนกลาง สวมหน้ากากอนามัย  และเว้นระยะห่าง รายละเอียดปลีกย่อยของผู้ประกอบการ จากการพูดคุยทั้งระดับ ศบค. และอนุกรรมการกลุ่มย่อย เตรียมให้ผู้ประกอบการ สมาคม ชมรมระดับหนึ่ง ซึ่งที่สุดแล้วต้องผ่านการพิจารณาของผอ.ศบค.อีกครั้ง  ก่อนประกาศอะไรออกมา และขอความร่วมมือให้นำข้อมูลเหล่านี้ไป บอกสมาชิกเรื่องการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล ขณะที่ผู้มาใช้บริการก็ต้องปรับให้เข้ากับผู้ให้บริการ อย่าแออัด อย่าแย่งคิว หากไม่รับทราบกระบวนการขั้นตอน เหล่านี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ  ถ้าทั้งสองส่วนยอมรับกติกาและวิถีชีวิตใหม่ จะทำให้เราห่างไกลการติดเชื้อ รวมถึงการอยู่บ้าน หยุดเชื้อก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
          ศบค.แถลงมาตรการผ่อนปรน30เมย.
          ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม โดยวันที่ 30 เมษายน เวลา 11.30 น. ศบค. จะแถลงเรื่องข้อกำหนดและมาตรการผ่อนปรน โดยมี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรมว.สาธารณสุข  พล.อ. สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย ร่วมแถลงและตอบข้อซักถาม
          มท.สั่งผู้ว่ายึดประกาศพรก.ฉุกเฉิน
          วันเดียวกัน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปลัด มท.)ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ลงวันที่ 28 เมษายน มีเนื้อหาระบุว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นขอบของคณะรัฐมนตรีมีประกาศ 3 ฉบับ ดังนี้ 1. ประกาศ เรื่องขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ให้ขยายระยะเวลาใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีกคราวหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม
          2.ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่ครม.กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับ โดยให้บรรดาประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง ตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินและที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าครม.จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป  และ 3.ประกาศ เรื่อง ให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกฯกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกฯกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่านายกฯจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป
          "จึงขอให้จังหวัดถือปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวโดยเคร่งครัด การออก คำสั่งหรือประกาศ ของจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ให้รอสั่งการเชิงนโยบายจากศบค.ก่อน เพื่อให้เกิดเอกภาพพร้อมกันทั่วประเทศ และมีข้อกฎหมายรองรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติต่อไป"
          มติ กทม.คลายล็อก 8 สถานที่
          วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. เพื่อพิจารณาคลายล็อก อนุญาตให้เปิดบริการ 8 สถานที่ ได้แก่ 1.ร้านอาหาร ยกเว้นในห้างสรรพสินค้า  2.ตลาดและตลาดนัด  3.สถานที่ ออกกำลังกาย  4.สวนสาธารณะ 5.ร้านตัดผม-เสริมสวย 6.ร้านตัดขนสัตว์ และคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์   7.โรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาล และ 8.สนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อม
          ร้านอาหารนอกห้าง-สุกี้ ชาบูปิ้งย่าง อด
          หลังประชุม ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกทม.ผ่อนปรน 8 ธุรกิจ-สถานที่เปิดให้บริการได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ประกอบด้วย  1.ร้านอาหาร นั่งทานที่ร้านได้ แต่ต้องจัดที่นั่งห่างกัน 1.5 - 2 เมตร ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิด-ปิดตามเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  มีฉากกั้นอาหาร และงดให้บริการแบบบุฟเฟ่ต์ ปิ้ง ย่าง และหยิบตักเอง งดประกอบอาหารบนโต๊ะ เช่น สุกี้ ชาบู แต่เลือกสั่งจากเมนูอาหารได้  ไม่ควรนั่งทานร่วมกันเป็นครอบครัว รวมทั้ง งดเล่นดนตรีสด ส่วนลูกค้าที่มาใช้บริการต้องเว้นระยะห่างในการยืนรอเข้ารับบริการ และจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้านทั้งพนักงาน และผู้เข้าใช้บริการ
          ตลาด-ตลาดนัดใส่หน้ากากฯตลอดเวลา
          2.ตลาด หรือตลาดนัด ให้ขายสินค้าได้ทุกประเภท แต่ต้องเว้นระยะห่างของแผงค้า ตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ เข้า-ออกทางเดียว พ่อค้าแม่ค้า สวมถุงมือ สวมหน้ากากอนามัย สวมหน้ากากป้องกันใบหน้า รวมทั้ง ประชาชนที่มาใช้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในตลาด งดบริการเครื่องเล่นเด็ก และทำความสะอาดตามวงรอบ
          ตัดผม เสริมสวย ยกเว้น นวด-สปา รอก่อน
          3.ร้านตัดผม-ร้านเสริมสวย อนุญาตเฉพาะตัด สระไดร์เท่านั้น ไม่อนุญาตให้นั่งรอในร้านและให้บริการรอบละ 2 ชั่วโมง และพักทำความสะอาดพื้น อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 นาที ห้ามกินอาหารในร้านทั้งช่างตัดผมและผู้ใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากอนามัย และ Face Shield พร้อมทั้งจดบันทึกผู้มาใช้บริการทุกคน เพื่อใช้เป็นข้อมูลติดตามโรค ส่วนร้านนวด ร้านสปา ที่ให้บริการนอกเหนือจากร้านเสริมสวยยังไม่อนุญาตให้เปิด
          สนามกอลฟ์-สนามกีฬา ห้ามจัดแข่งขัน
          4.สนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อม งดใช้คลับเฮ้าส์ และงดการรวมตัวของแคดดี้ รวมถึงแคดดี้ต้องอยู่ห่างจากผู้ใช้บริการ 1.5 เมตร และงดจัดการแข่งขันทุกประเภท  5.สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย ศูนย์เยาวชนกทม. โดยขณะนี้อนุญาตให้กีฬากลางแจ้ง และเปิดได้ 3 ประเภทคือ แบดมินตัน เทนนิส วิ่ง และห้ามเล่นกีฬาประเภททีม ห้ามจัดการแข่งขัน ห้ามมีผู้ชม และมีการตั้งจุดคัดกรองพร้อมจดบันทึกรายชื่อผู้ใช้บริการ และต้องนัดคิวใช้บริการล่วงหน้า ส่วนฟิตเนสที่อยู่นอกห้างก็ไม่อนุญาตให้เปิด
          คลินิกรักษาโรค-สวนสาธารณะร้านตัดขน
          6.คลินิก สถานพยาบาล ไม่รวม คลินิกลดน้ำหนัก และคลินิกเสริมความงาม ให้ใช้มาตรการเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข  7.สวนสาธารณะ อนุญาตให้เปิดได้ทั้งรัฐและเอกชน โดยเป็นการเน้นออกกำลังกายกลางแจ้ง ต้องตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิและให้เข้า-ออกทางเดียว รวมทั้งงดการรวมกลุ่มจิบน้ำชา ไทเก๊ก โยคะ แอโรบิก และเล่นเครื่องออกกำลังกาย และ 8.ร้านตัดขนสัตว์ ให้บริการได้ 1 คนต่อ 1 ตัว พร้อมกำหนดรอบเวลาเปิด-ปิดให้ชัดเจน รอบละ 2 ชั่วโมงและพักทำความสะอาดพื้นอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 นาที  รวมทั้งซักประวัติเจ้าของสัตว์ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหีอเคยติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
          ชงศบค.เคาะวันเปิด-เวลาขายเหล้า
          โฆษกกทม.กล่าวอีกว่า  ธุรกิจหรือสถานที่ทั้ง 8 ประเภทนี้ ต้องรอให้รัฐบาลและศบค. เป็นผู้พิจารณากำหนดวันเปิดให้บริการ ซึ่งกทม.ถึงจะออกประกาศคำสั่งอย่างเป็นทางการให้ทราบอีกครั้ง แต่วันนี้ที่กทม.ออกมาแถลงแนวทางดำเนินงานก่อนนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน ก่อนจะเปิดให้บริการอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลและ ศบค.
          'ผับ-บาร์-ร้านเหล้า'ปิดยาวถึง31พค.
          ส่วนสถานที่ตามประกาศปิดสถานที่ ชั่วคราวอื่น นอกเหนือจาก 8 ประเภทนี้ เช่น ผับ บาร์และการจำหน่ายสุราซึ่งจะสิ้นสุดภายในวันที่ 30 เมษายน  กทม.จะออกประกาศคำสั่งรายละเอียดอีกครั้ง โดยกำหนดปิดไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม  เรื่องข้อปฏิบัติต่างๆ ผู้ประกอบการ และประชาชน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.bangkok.go.th. / เฟซบุ๊ค ผู้ว่าฯ อัศวิน / สำนักงานประชาสัมพันธ์ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
          สธ.เร่งค้นหาผู้ป่วย-คนพื้นที่เสี่ยงสูง
          วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์หลังประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานว่า เมื่อเปิดให้ใช้ชีวิตมากขึ้น แปลว่ามีความเสี่ยงเกิดการติดเชื้อได้อีก เพราะยังมีคนติดเชื้อไม่มีอาการได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้ค้นหา ผู้ป่วย และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเชิงลึกในพื้นที่ ซึ่งมีข้อกำหนด 2 ข้อ คือ 1.กำหนดพื้นที่เสี่ยง และ 2.กำหนดกลุ่มเสี่ยง โดยเพิ่มอัตราการตรวจให้ได้จาก 2,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน เป็น 5,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน  ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการตรวจคือ
          บุคลากรทางการแพทย์ คนทำ อาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่ ส่งไปรษณีย์ พนักงานขับรถโดยสาร แคมป์ คนงานก่อสร้าง ชุมชนแออัด ผู้ต้องขัง รายใหม่ แรงงานต่างด้าว ทั้งในเขตเมืองและบางพื้นที่ โดยใช้วิธีตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อ ด้วย RT-PCR จากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก และเสริมด้วย RT-PCR จากน้ำลายส่วนลึกในลำคอ ในกรณีพื้นที่ใดมีจำนวนกลุ่มเสี่ยงมาก เช่น พื้นที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นหลักพันหลักหมื่นคน ก็จะใช้วิธีตรวจน้ำลายส่วนลึกในลำคอมาเสริม เพื่อลดเวลา แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ยังจะใช้การตรวจ RT-PCR จากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก เช่นเดิม ขณะนี้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น กทม. 3 จังหวัดชายแดนใต้ และพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก โดยจะเร่งทำให้เสร็จเดือนพฤษภาคม
          จับ50แรงงานไทยลอบลุยน้ำเข้าปท.
          มีความเคลื่อนไหวกลับประเทศของแรงงานไทยจากต่างประเทศ  โดยพ.อ.เอกพล เลขนอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรม ทหารพรานที่ 48 (ผบ.ฉก.48) สั่งการให้ร.ทจิรัฎฐ์ บูรณัติ รองผบ.ร้อย ทพ.เชิงรุก ฉก.ทพ. 48 สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการณ์ เดินลาดตระเวนซุ่มเฝ้าตรวจชุมชนบือเร็ง ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะทางกว่า 7  กิโลเมตร หลังทราบเบาะแสมีแรงงานไทยที่ตกค้างอยู่ในมาเลเซียจำนวนมาก ก่อนเดินทางข้ามจากช่องทางข้ามธรรมชาติเข้ามาฝั่งประเทศไทย  ซึ่งขณะลาดตระเวนพบคนไทยพยายามเดินข้ามแม่น้ำสุโหงโก-ลกเข้าประเทศไทย จึงจับกุมได้ทั้งหมด 50 คน และนำตัวกลับมายังจุดคัดกรองด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพื่อเปรียบเทียบปรับคนละ 800 บาท โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัดจะกักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน ตามศูนย์ Local Quarantine ป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามกระบวนการควบคุมโรคระบาดต่อไป


pageview  1204987    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved