HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 17/02/2563 ]
สธ.ถกด่วนจนท.ทุกรพ.คุมเข้มโควิด-19 ย้ำมาตรการสกัดติดเชื้อ

จับตา4ประเทศระบาดต้องสแกนทุกช่องทางทั่วโลกยังป่วย-ตายพุ่งจีนติดเชื้อใกล้7หมื่น
          ไวรัสโควิด-19 ยังแผลงฤทธิ์ไม่หยุด ระบาดทั่วโลกเพิ่มขึ้น ชัดเจน โดยเฉพาะจีนยอด ผู้เสียชีวิตวันเดียว 142 ศพ ติดเชื้อ กว่า 2 พันราย ทั่วโลกตาย 1.5 พัน ป่วยเฉียด 7 หมื่นคน "สธ." ห่วงหลังพบแนวโน้มหลายประเทศระบาดในชุมชน นัดถกบุคลากรทางการแพทย์ในรพ.ทั่วประเทศ 17 ก.พ.ย้ำปฏิบัติการเฝ้าระวังการระบาดเข้มข้น ด้านจำนวนคนไข้โควิด-19 หายแล้ว 15 ยังรักษาตัวอยู่รพ. 19 ราย
          เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือชื่อใหม่เป็นทางการโควิด - 19 (COVID-19) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังคงมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 34 ราย รักษาหายดีเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยคนไทย รวมเป็น 15 รายให้กลับบ้านได้ ทำให้เหลือผู้ป่วยนอนใน โรงพยาบาล 19 ราย โดยผู้ป่วยอาการรุนแรง 2 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร ทีมแพทย์รักษาเต็มที่ โดยได้รับความร่วมมือจาก รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ และสถาบันเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย ที่ส่งทีมงานไปช่วยดูแล ผู้ป่วย 2 รายนี้ สำหรับผู้ป่วยรายอื่นอาการดีขึ้น รวมถึงรายล่าสุดคือ บุคลากรทางการแพทย์จาก รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ที่ติดเชื้อ ก็มีอาการน้อยตั้งแต่แรก ถือว่าอาการโดยรวมดี
          นัดถกจนท.ทุกรพ.ทั่วปท.17กพ.
          นพ.ธนรักษ์กล่าวชี้แจงว่า โรงพยาบาลเป็นแหล่งรวมของผู้ป่วย จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยอื่นๆ หรือใครก็ตาม ที่ไปโรงพยาบาลอาจเสี่ยงสูงตามไปด้วย โรงพยาบาลทุกแห่งจึงต้องจัดระบบป้องกันและหยุดการแพร่ระบาด ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการ ติดเชื้อจากผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด โดยกระทรวง จะประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เน้นย้ำให้โรงพยาบาลทุกแห่งควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก
          "ประเทศไทยทำงานอย่างหนักมา 45 วันแล้ว เพื่อชะลอการระบาดในประเทศ ประชาชนทั่วไปคงเห็นแล้วว่า เราทำงานประสบความสำเร็จสูงมาก ทั้งที่ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่เสี่ยงสูงที่สุด เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของคนจีนและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหลายประเทศมีการระบาดเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ประเทศไทยตรึงการระบาดในระดับต่ำอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน"นพ.ธนรักษ์กล่าว
          เฝ้าระวังเข้มผู้โดยสารจาก4ปท.
          และว่า สำหรับภาพรวมการระบาดของเชื้อดังกล่าวนั้น เราเริ่มเห็นการแพร่ระบาดในชุมชนของหลายประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยกลับมามีความเสี่ยงจากผู้เดินทางต่างประเทศมากขึ้น หลังจากลดลงไปช่วงหนึ่งจากที่คนจีนเข้าประเทศน้อยลง จึงได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด ขณะที่ไทยมีการแพร่ระบาดวงจำกัด จึงยังต้องเฝ้าระวังในประเทศ ร่วมกับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มข้นต่อไป โดยเฉพาะผู้เดินทางจากประเทศดังกล่าว ซึ่งยังไม่พบว่ามีรายใดเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค
          นพ.ธนรักษ์กล่าวอีกว่า นอกจากด่านสนามบินต่างๆ แล้ว ยังตรวจเข้ม ผู้เดินทางผ่านด่านเรือ ตั้งแต่มีข่าวเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส ซึ่งขณะนี้พบการติดเชื้อในกลุ่มผู้เดินทางไปประมาณ 200 คนแล้ว ดังนั้น เรือทุกลำที่เข้าท่าเรือของไทย ด่านควบคุมโรคได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบว่าเรือที่จะเข้ามามีไปพื้นที่ระบาดในช่วง 14 วัน ก่อนเรือมาถึง ไทยหรือไม่และเมื่อมาถึงก็ตรวจคัดกรองเข้มข้น ทั้งขาเข้าและก่อนกลับขึ้นเรือไป เพราะหากมีไข้ จะได้สอบสวนควบคุมโรครวดเร็วทันการณ์ ซึ่งทำด้วยความระมัดระวังตามมาตรฐานและเต็มที่ เพื่อให้ไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่มีจำนวนผู้ป่วยระดับต่ำต่อไป
          ชี้หยุดระบาดขึ้นกับผู้ป่วยร่วมมือ
          "โรคทางเดินหายใจทุกชนิดหยุดได้ มาตรการสำคัญหยุดการแพร่ระบาด อยู่ที่ตัวผู้ป่วยเป็นหลัก สิ่งที่อยากสื่อในสภาวะเช่นนี้คือ เราเป็นคนไทยประเทศเดียวกัน ต้องช่วยเหลือกันและกันในการควบคุมโรคนี้ สธ.เต็มที่ในการทำงาน แต่การควบคุมโรคจะไม่ประสบความสำเร็จถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ป่วยมีพลังอำนาจหยุดการแพร่ระบาด ถ้ามีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้ เจ็บคอ น้ำมูก มีอาการไอจาม ควรพักอยู่กับบ้าน ถ้ามีอาการรุนแรง จำเป็นต้องออกไปพบแพทย์ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย เป็นการป้องกันแพร่โรคจากเราสู่คนอื่น ถ้า ผู้ป่วยไม่ป้องกัน คนรับผลกระทบแรกคือ คนใกล้ชิดมากที่สุด เช่น บ้านเดียวกัน เพื่อนที่ทำงาน การป้องกันโรคจากฝั่งผู้ป่วยจึงสำคัญมาก ให้คนไม่ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนคนไทยแข็งแรงสุขภาพดี ควรหลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ หากมีความเสี่ยงสูงให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง โดยคนเสี่ยงสูงตอนนี้ไม่เฉพาะสัมผัสนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น แต่ขยายเป็นใกล้ชิดนักท่องเที่ยวทั้งหมด หากมีอาการไข้ ไอเจ็บคอ ควรเข้าสู่ระบบ" นพ.ธนรักษ์ กล่าว
          138คนไทยสบายดีให้กลับบ้าน19กพ.
          สำหรับคนไทยกลับบ้าน 138 ราย ที่กักตัวติดตามอาการอยู่ในฐานทัพเรือสัตหีบนั้น นพ.ธนรักษ์เผยว่า ทุกคนสบายดี ไม่มีไข้ และไม่มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่ม ครบกำหนดเฝ้าระวังวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะเริ่มทยอยกลับบ้านวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ โดยได้ประสานเตรียมการนัดหมายกับญาติ ทั้งที่จะมารับที่เรือนพักรับรองและที่จะเดินทางต่อ ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ดูแลอย่างดีที่สุดและมีระบบติดตามเฝ้าระวัง ต่อเนื่อง ทุกคนจะได้รับคู่มือการปฏิบัติตัวร่วมทั้งอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ คนไทยกลับบ้านกลุ่มนี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติยืนยันไม่ใช่ผู้ป่วย
          เข้มผู้โดยสาร'เวสเตอร์ดัม'ผ่านไทย
          ด้านนพ.สุวิช ธรรมปาโล รักษาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรค กรมควบคุมโรคกล่าวว่า กรณีผู้โดยสารเรือสำราญเวสเตอร์ดัมที่เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมินั้น เราได้ประสานข้อมูลผู้โดยสารเรือสำราญลำนี้ทั้งลำส่งให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อร่วมมือเฝ้าระวัง โดยในวันนี้มี ผู้เดินทางเข้าประเทศมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 35 คน เป็นชาวต่างชาติ 34 ราย เพื่อต่อเครื่องบิน ไปยังประเทศปลายทางอื่น และเป็นคนไทย 1 ราย ทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองไม่มีไข้ สำหรับคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศจะมีการดูแลติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค รวมแล้วขณะนี้มีคนไทยจากเรือ สำราญดังกล่าว 2 คน ทุกคนไม่มีไข้ จะต้องมี การติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนครบ 14 วัน
          ทั่วโลกติดเพิ่ม-ห่วงระบาดชุมชน
          ขณะที่นพ.ธนรักษ์กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ระบาดทั่วโลกขณะนี้ว่า หลายประเทศเริ่มแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ประเทศไทยยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ต่ำได้ สำหรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อใน 27 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษขณะนี้มี 67,185 ราย เสียชีวิต 1,527 ศพ โดยในประเทศจีนพบผู้ป่วย 66,496 ราย เสียชีวิต 1,523 ราย และเราเริ่มเห็นการแพร่ระบาดในชุมชนในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่นซึ่งเริ่มพบผู้ป่วยที่ไม่สามารถหาที่มาที่ไปของอาการป่วยได้ สถานการณ์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกลับมามีความเสี่ยงที่จะมี ผู้เดินทางที่มีอาการป่วยจากต่างประเทศเข้ามา ในบ้านเรามากขึ้น ดังนั้น กรมควบคุมโรคเพิ่มความเข้มมาตรการตรวจคัดกรองและติดตามผู้ที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าวทุกช่องทางทั้งขาเข้า-ขาออก
          จีนตายวันเดียว142ติดเชื้อ2พัน
          ด้านสถานการณ์ระบาดในต่างประเทศนั้น สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน คณะกรรมาธิการสาธารณสุข แห่งชาติของจีนรายงานสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างเดือนธันวาคม 2019  ปีที่แล้วถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ผู้เสียชีวิตเฉพาะในแผ่นดินใหญ่อยู่ที่อย่างน้อย 1,665 ศพ เพิ่มขึ้นอีก 142 ศพ ผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศเพิ่มอีก 2,009 คน ขึ้นมาเป็นอย่างน้อย 68,500 คน จากจำนวนดังกล่าว 11,272 คนอาการวิกฤติ แต่มีผู้ป่วยได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว 9,419 คน
          3ปท.ติดอันดับป่วยสะสมสูงสุด
          ขณะที่ผู้เสียชีวิตนอกแผ่นดินใหญ่พบแล้ว 4 คน ในฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ด้านสถานการณ์การติดเชื้อใน ต่างประเทศ นอกเหนือจากจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน พบในอย่างน้อย 25 ประเทศ  ส่วน 3 ประเทศนอกจีนที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 355 คน จากผู้อยู่บนเรือ ทั้งสิ้น 3,711 คน บนเรือสำราญ "ไดมอนด์ ปรินเซส" ซึ่งจอดอยู่ที่เมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่น และจะครบกำหนดการเฝ้าระวังครบ 14 วัน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้
          เรือสำราญป่วยเพิ่มเป็น355คน
          ส่วนนายคัตสึโนบุ คาโตะ รมว.กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันอาทิตย์ถึงความคืบหน้าการกักบริเวณเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส ที่ท่าเรือเมือง โยโกฮามา เพื่อตรวจสุขภาพผู้โดยสาร 2,666 คน และเจ้าหน้าที่ 1045 คน หลังมีคนป่วยจากเชื้อโควิด-19 ลงจากเรือว่า ผลตรวจโรคเสร็จสิ้นแล้วกับผู้อยู่บนเรือ 1,219 คน จากจำนวนดังกล่าวอย่างน้อย 355 คนมีอาการป่วยจากเชื้อโควิด-19 และในจำนวนผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อนั้น 73 คน ยังไม่แสดงอาการของโรค นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดเชื้ออีกอย่างน้อย 1 คน
          ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้อยู่บนเรือไดมอนด์ ปรินเซส ที่ผ่านการตรวจสุขภาพแล้วและผลยืนยันเป็นลบ สามารถลงลงจากเรือได้หากต้องการ โดยให้สิทธิ์ก่อนกับผู้โดยสารซึ่งมีอายุเกิน 80 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้ที่ไม่ได้พักในห้องติดหน้าต่าง อย่างไรก็ตาม การลงจากเรือหมายความว่า ทุกคนต้องเข้าพักในสถานที่ซึ่งทางการ จัดเตรียมไว้ให้ จนกว่าจะครบกำหนดกักบริเวณวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ขณะที่สหรัฐ แคนาดาและฮ่องกงเป็นรัฐบาล 3 แห่งแรก ซึ่งแสดงความจำนงมายังทางการญี่ปุ่น เพื่อ ขอส่งเที่ยวบินเช่าเหมาลำรับพลเมืองของตัวเองซึ่งอยู่บนเรือไดมอนด์ ปรินเซส เดินทางกลับภูมิลำเนาภายในสัปดาห์นี้
          เขมรให้มาเลย์ตรวจสตรีอเมริกันซ้ำ
          อีกด้านหนึ่ง ทางการกัมพูชา ขอให้มาเลเซียตรวจซ้ำกรณีสตรีอเมริกันวัย 83 ปีรายหนึ่ง ที่อยู่บนเรือเวสเตอร์ดัม ที่มีผู้โดยสาร 1,455 คน และลูกเรือ 802 คน  ซึ่งลอยลำอยู่กลางทะเลนานสองสัปดาห์ เพราะหลายประเทศไม่ให้เทียบท่าวันศุกร์ หลังจากกัมพูชาตรวจตัวอย่างคนบนเรือ 20 คนแล้วไม่พบว่าติดเชื้อ จึงอนุญาตให้ขึ้นฝั่งได้ ต่อมา กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย แถลงว่า สตรีรายนี้ มีอาการป่วย กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ขอให้มาเลเซียทบทวนผลการตรวจหรือตรวจซ้ำ เพราะรัฐบาลกัมพูชาตรวจตามความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ  ขณะที่บริษัท ฮอลแลนด์อเมริกาในเครือคาร์นิวัลกรุ๊ป เจ้าของเรือเวสเตอร์ดัม แจ้งว่า ต้องรอ ผลการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันว่าผู้โดยสารสตรีอเมริกันรายนี้ติดเชื้อจริงหรือไม่ และว่าขณะนี้ยังมีผู้โดยสาร 236  คน และลูกเรือ 747 คน อยู่บนเรือที่ยัง เทียบท่าอยู่ที่เมืองสีหนุวิลล์ ตั้งแต่วันพฤหัสบดี ทั้งนี้หากยืนยันว่าสตรีอเมริกันรายนี้ติดเชื้อจริง มาเลเซีย ก็จะพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเป็น 22 คน
          ผลตรวจซ้ำยันหญิงอเมริกันติดไวรัส
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ว่า กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียออกแถลงการณ์ผลตรวจพิสูจน์อาการสตรีชาวอเมริกัน วัย 83 ปี ที่ลงจากเรือเวสเตอร์ดัมซึ่งมาจากกัมพูชา ครั้งที่ 2 เพื่อตรวจสอบว่าติดเชื้อไวรัส โควิด-19 หรือไม่ว่า ผลออกมาเมื่อคืนวันเสาร์ และยังคง ยืนยัน "เป็นบวก" ที่หมายถึงการติดเชื้อ เช่นเดียวกับผลตรวจเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่ผลการตรวจสามีของเธอ ซึ่งเป็นชายชาวอเมริกัน อายุ 85 ปี ออกมาเป็นลบ ทั้งสองครั้ง แต่เพื่อความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้กักบริเวณสามีของผู้ป่วยหญิงเช่นกัน ปัจจุบันทั้งสองคนอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์
          ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลมาเลเซียเกิดขึ้นหลังบริษัทฮอลแลนด์อเมริกา ในเครือของคาร์นิวัล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่เมืองไมอามี ในรัฐฟลอริดา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ และเป็นผู้ประกอบการเรือ เวสเตอร์ดัม ออกแถลงการณ์ว่าผลการตรวจ ครั้งแรก "เป็นเพียงเบื้องต้น" และประสงค์รอ "ผลการตรวจซ้ำ" ด้านกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชายืนยันว่า มาตรการตรวจสอบและคัดกรองโรคของรัฐบาลพนมเปญ "เป็นไปตามมาตรฐานทุกประการ" ขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยู เอชโอ) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการมาเลเซีย "ทบทวน" ผลการตรวจผู้ป่วยรายนี้
          สำหรับเรือเวสเตอร์ดัมนั้น มีผู้โดยสาร 1,455 คน และลูกเรือ 802 คน ออกจากฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และถูกหลายประเทศ ปฏิเสธให้เทียบท่า ด้วยความวิตกกังวลเรื่อง เชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนได้เข้าจอดเทียบท่าที่ เมืองสีหนุวิลล์ เมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาขึ้นเรือไปตรวจโรค ผู้ที่อยู่ในนั้นทุกคน และพบผู้ป่วย 20 คน จึงส่งตัวอย่างไปตรวจที่กรุงพนมเปญ ซึ่ง ได้รับการยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19


pageview  1205128    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved