HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 16/12/2562 ]
ฝุ่นพิษโผล่ลำปางเกินมาตรฐานระดับสีส้ม

 สธ.สั่งสสจ.ทั่วปท.รับมือเกิน75มคก.ตั้งศูนย์ฉุกเฉิน
          สธ.เตือนฝุ่น PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐาน สั่งสสจ.แจ้งเตือนดูแลประชาชนในพื้นที่ แนะสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน หากวัดปริมาณฝุ่นเกิน 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน สั่งเปิดศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินรับมือ ขณะที่ลำปางอากาศหนาวเย็น ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ระดับสีส้ม  ด้านปภ.สรุป 7 จว.ประสบภัยแล้งแล้ว เร่งแจกน้ำอุปโภค-บริโภค
          เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม  น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก รัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้ความสำคัญ กับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมโครกรัม หรือ  PM2.5 ที่กลับมาสูงขึ้น ช่วงเดือนธันวาคมขณะนี้ โดยมอบให้สธ.ให้ความรู้ ประชาชนดูแลสุขภาพ และมอบหมายกรมอนามัยตรวจติดตามปริมาณค่า PM2.5 ทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมถึงให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน(อสม.) แนะนำประชาชนปฏิบัติตนในสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่ถูกต้อง
          สธ.สั่ง สสจ.ทั่วปท.รับมือฝุ่นพิษ
          ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สธ.ประสานนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เน้นให้ทุกพื้นที่เตรียมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์ประเมินความเสี่ยง แจ้งเตือนประชาชนป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ และเตรียมความพร้อมดูแลกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วย ติดเตียง พร้อมเปิดคลินิกมลพิษ เพื่อรักษาให้ คำปรึกษาแก่ประชาชน และเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานพยาบาลทุกระดับ เฝ้าระวังผู้ป่วยนอกที่มารับบริการในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง ระบบตา รายงาน ส่วนกลางทุกสัปดาห์
          น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า ถ้าค่าฝุ่น PM2.5 มีปริมาณมากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกิน 3 วัน ให้จังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และ สาธารณสุข  โดยใช้กลไกคณะกรรมการสาธารณสุข จังหวัดเตรียมการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตามพ.ร.บ.สาธารณสุข 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นเพื่อเป็นต้นแบบขององค์กรลดฝุ่นละออง
          ลำปางหนาวฝุ่นเริ่มเกินมาตรฐาน
          วันเดียวกัน ที่จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีหมอกปกคลุม อุณหภูมิ พื้นราบวัดได้ต่ำสุดที่สถานีตรวจวัดสภาพอากาศการเกษตรห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร 11.5 องศาเซลเซียส ส่วนตัวเมือง 12.0 องศา ขณะที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ กรมควบคุมมลพิษ จ.ลำปาง รายงานค่าเฉลี่ยฝุ่น PM.5 พบว่าเกินค่ามาตรฐานที่ ต.พระบาท อ.เมือง อยู่ที่ 53 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ คาดสาเหตุมีการเผาวัชพืชในพื้นที่การเกษตร เพื่อเตรียมปลูกพืชชนิดอื่น
          เลยประกาศวังสะพุงพื้นที่ภัยหนาว
          ส่วนที่จ.เลย  สภาพอากาศยังหนาว เย็นต่อเนื่อง เช้าวันนี้หลายพื้นที่วัดอุณหภูมิ ได้ต่ำกว่า 10 องศา  ได้แก่ อ.นาแห้ว ภูเรือ และภูกระดึง หนาวมาก วัดอุณหภูมิได้  7.5 องศา ชาวบ้านต้องออกมาผิงไฟคลายหนาว ให้ความอบอุ่นร่างกาย ซึ่งอุณหภูมิยังหนาวต่อเนื่อง และอาจจะหนาวไปถึงปลายปี  ส่วนอุณหภูมิพื้นที่อื่นเช้าวันนี้ วัดได้ดังนี้  อ.เมืองเลย 12.3 องศาฯ  อ.วังสะพุง 12.4 องศาฯ อ.ท่าลี่ 10.7 องศาฯ  อ.เชียงคาน 13.0 องศาฯ อ.ด่านซ้าย 14.0 องศาฯ  อ.ภูกระดึง 7.5 องศาฯ อ.ปากชม 11.5 องศาฯ  อ.นาแห้ว  10.0  องศาฯ อ.ภูเรือ  10.0 องศาฯ   อ.ภูหลวง  12.0 องศาฯ อ.นาด้วง  15.0 องศาฯ  อ.ผาขาว  12.4 องศาฯ อ.เอราวัณ 12.0 องศาฯ  อ.หนองหิน 10.0 องศาฯ  อุทยานแห่งชาติภูกระดึง  6.0 องศาฯ อุทยานแห่งชาติภูเรือ 9.0 องศาฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง(อ.ภูเรือ) 7.0 องศาฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ สูงเลย (อ.ภูเรือ) 8.0 องศาฯ และอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย(อ.นาแห้ว) 10.5 องศาฯ
          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากสภาพ อากาศที่อุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาฯติดต่อกัน 3 วัน ในหลาย อำเภอของจ.เลย มีเพียงอ.วังสะพุง ซึ่งติดภูหลวง เป็นภูเขามีความสูงอุณหภูมิต่ำ ต่อเนื่องกันตั้งแต่ วันที่  7-9 ธันวาคม นายประยูร  อรัญรุท นายอำเภอวังสะพุงส่งเรื่อง ให้สำนักงาน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเลย ทราบ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ลงนาม ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหนาว ต่อไป
          ปภ.ประกาศภัยแล้ง7จังหวัด
          วันเดียวกัน นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฝนแล้ง)แล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา รวม 39 อำเภอ 215 ตำบล 1,994 หมู่บ้าน โดยเชียงราย ประกาศเขตฯภัยแล้งรวม 13 อำเภอ 69 ตำบล 612 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.ดอยหลวง อ.เวียงแก่น อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย อ.แม่จัน อ.เชียงของ อ.ขุนตาล อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.พาน อ.เทิง อ.เชียงแสน อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.พญาเม็งราย จ.นครพนม ประกาศ เขตฯภัยแล้งในอ.ปลาบาก รวม 8 ตำบล 51 หมู่บ้าน  จ.มหาสารคาม ประกาศ เขตฯภัยแล้ง 6 อำเภอ 43 ตำบล 542 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.แกดำ โกสุมพิสัย ชื่นชม เชียงยืน พยัคฆภูมิพิสัย และยางสีสุราช จ.บึงกาฬ ประกาศเขตฯภัยแล้งรวม 4 อำเภอ 32 ตำบล 238 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.พรเจริญ เมืองบึงกาฬ ปากคาด และโซ่พิสัย
          จ.หนองคาย ประกาศเขตฯภัยแล้ง 7 อำเภอ 36 ตำบล 340 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.ท่าบ่อ เฝ้าไร่ รัตนวาปี สระใคร เมืองหนองคาย โพนพิสัย และสังคม จ.กาญจนบุรี ประกาศเขตฯภัยแล้งรวม 6 อำเภอ 22 ตำบล 195 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.พนมทวน เลาขวัญ ท่าม่วง บ่อพลอย หนองปรือ และห้วยกระเจา ฉะเชิงเทรา ประกาศเขตฯภัยแล้ง 2 อำเภอ 5 ตำบล 16 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโพธิ์ และแปลงยาว ทั้งนี้ ปภ. ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่าง ต่อเนื่อง โดยประชาชนที่ได้เดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง ติดต่อขอความ ช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
          กรมฝนหลวงขาดนักบิน44อัตรา
          ด้านนายสุรสีห์  กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าปัจจุบัน กรมฝนหลวงฯ ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร จากที่มีอัตรากำลังข้าราชการเพียง 205 อัตรา ลูกจ้าง 144 อัตรา พนักงานราชการ 144 อัตรา ในจำนวนอัตรากำลังทั้งหมดนี้ เป็นนักบิน 75 อัตรา จากภารกิจที่เพิ่มขึ้น คำนวณอัตรากำลังแล้วกรมฝนหลวงฯ ควรมีอัตรากำลังข้าราชการเพิ่มอีก 321 อัตรา พนักงานราชการเพิ่มอีก 475 อัตรา โดยเป็นนักบินอีก 58 อัตรา ทั้งนี้ จำนวนอัตรากำลังที่เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 800 อัตรา หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า ของที่มีอยู่เดิมนี้ คงไม่สามารถเพิ่มได้ทันที เพราะอยู่ที่การพิจารณาของกปร. หรือ ก.พ. แต่ได้ขอเพิ่มนักบินภายในปี 2563 นี้อีก 44 อัตรา ที่เหลือก็ทยอยเพิ่มไปจนถึงปี 2565 ซึ่งได้รายงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ รับทราบแล้ว พร้อมช่วยผลักดันเต็มที่  เพื่อให้การปรับโครงสร้างกรมฝนหลวงฯทันกับปริมาณงานเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากสภาพอากาศแปรปรวน เกิดภัยแล้งถี่ขึ้น และกระทบภาคเกษตรมากขึ้น
          ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างกรมฝนหลวงฯ ถ้าไม่ดำเนินการภายใน 5 ปีนี้ จะมีปัญหามาก จะขาดช่วงทั้งครูฝึกบิน และนักบินใหม่ เพราะนักบินที่มีอยู่จะทยอยเกษียณอายุราชการ นักบินใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนจำเป็นต้องเรียนรู้จากนักบินรุ่นพี่ ที่สำคัญคือนักบินใหม่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานราชการ จะอยู่กับราชการไม่ได้นานเพราะสถานะไม่มั่นคง ค่าตอบแทนไม่จูงใจ ถ้าเขามีประสบการณ์แล้ว ก็มักจะลาออกไปทำงานกับสายการบินพาณิชย์ ดังนั้น จึงต้องหามาตรการจูงใจ ทั้งเรื่องค่าเที่ยวบิน ชั่วโมงบิน และสวัสดิการอื่น


pageview  1205105    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved