HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 01/10/2562 ]
ฝุ่นพิษกทม.เข้าขั้นวิกฤติติดอันดับ2โลก 5จว.ปริมณฑลPM2.5พุ่ง

 ลาม45จุด89มคก. นายกฯถกด่วน16จว.
          กทม.-ปริมณฑล ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อเนื่อง คพ.วัดค่า PM2.5 ช่วงเช้าพุ่ง 78มคก./ลบ.ม.เกินมาตรฐาน 33 จุด  ตกบ่ายวิกฤติลาม 45 พื้นที่ PM2.5 ขึ้นไปแตะ 89 มคก./ลบ.ม.  เว็บไซต์ airvisual.com รายงานค่า PM2.5 เพิ่มขึ้นไปอยู่ในอันดับ 2 ของโลก สธ.เตือนสวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงทำ กิจกรรมกลางแจ้ง นายกฯ เรียกหน่วยงานรับผิดชอบถกพร้อม ผู้ว่าฯ 16 จว. หามาตรการแก้ไขด่วน
          เมื่อวันที่ 30 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานผลตรวจสอบ คุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ประจำวันที่ 30 กันยายนว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือ PM2.5 วัดได้ 40-78 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน 33 สถานี จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.
          โดยในกทม. ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตปทุมวัน เขตธนบุรี เขตวังทองหลาง เขตดินแดง เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตบางพลัด และบริเวณถนนสิรินธร
          จ.นนทบุรี บริเวณ อ.บางกรวย และอ.ปากเกร็ด จ.ปทุมธานี บริเวณ อ.คลองหลวง จ.สมุทรปราการ ที่ อ.พระประแดง และ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บริเวณ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมือง จ.นครปฐม บริเวณ อ.เมือง ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวันที่ 29 กันยายน เกือบทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า เพราะสภาพอากาศ ช่วงเช้าลมสงบ ความชื้นสูง เกิดการผกผันกลับของอุณหภูมิช่วงเช้า ประกอบกับระยะนี้มีฝนตกน้อยลง เป็นระยะที่กำลังเปลี่ยนฤดูกาล (transition) จึงทำให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น
          สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เกิน มาตรฐานดังกล่าว ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)แจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น นอกจากนี้ คพ.และกทม.ยังขอความร่วมมือประชาชนงดเผาในที่โล่ง ลดการเกิดฝุ่นควัน เพิ่มมลพิษทางอากาศ
          เช่นเดียวกับ เพจกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.รายงานผลตรวจวัดฝุ่น PM2.5 พบว่า ผลตรวจวัดเกินค่ามาตรฐาน 20 จุด คือ เขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตวังทองหลาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตบางเขน เขตบางพลัด เขตบางขุนเทียน เขตสาทร เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ และเขตบึงกุ่ม  ตรวจวัดได้ 41-78  มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ อีสาน ทำให้ลมตอนบน เป็นลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ กทม. และปริมณฑล ลมมีทิศทางแปรปรวน ประกอบระยะนี้ฝนน้อยลงทำให้ฝุ่นสะสมเพิ่มขึ้น คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ- มีผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้เฝ้าระวังสุขภาพ  และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากเกิดความจำเป็น
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 16.00 น. กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอีกครั้งพบว่า อยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบ ต่อสุขภาพ พบปริมาณฝุ่น PM2.5 ตรวจวัดได้ 44-89 มคก./ลบ.ม เกินเกณฑ์มาตรฐาน 45 สถานี จากทั้งหมด 48 สถานี ได้แก่
          ในเขตกทม. บริเวณแขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน เขตบางนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ แขวงดินแดง เขตดินแดง แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา ริมถนน พระราม 4 เขตปทุมวัน ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ริมถนนดินแดง เขตดินแดง แขวงพญาไท เขตพญาไท แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง
          ที่จ.นครปฐม บริเวณต.นครปฐม อ.เมือง จ.นนทบุรี ที่ต.บางกรวย อ.บางกรวย  ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.ปทุมธานี บริเวณ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.สมุทรปราการ ที่ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง ต.บางโปรง ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน  ต.มหาชัย อ.เมือง สมุทรสาครส่วนฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 มคก./ลบ.ม.หรือ PM10 ตรวจพบค่าระหว่าง 64-126 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ
          ทั้งนี้ จากรายงานกรมอุตุนิยม วิทยา คาดว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 20 ทำให้ปริมาณ PM2.5 ที่สะสมในบรรยากาศลดลง
          ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ airvisual. com รายงานสภาพปริมาณมลพิษทางอากาศโดยใช้หน่วย AQI ประมวลผล พบว่า ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ กทม. ติดอันดับ มลพิษเพิ่มมากขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของเมืองที่มีค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 มากที่สุด ซึ่งมีค่า AQI อยู่ที่ 175
          เวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเรียกประชุมหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กลับมาเกินมาตรฐาน อีกครั้ง ในหลายพื้นที่กทม. และปริมณฑล โดยวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นหมอกควันรวม 16 จังหวัด
          หลังประชุม นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ถึงแม้สถานการณ์ฝุ่นจะขยายเป็น 33 พื้นที่ แต่ยืนยันว่าค่า ที่เกินมาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม. ยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายที่ผ่านมา พบค่าฝุ่นลดลง ทุกพื้นที่ เพราะมีฝนตกลงมาช่วย ซึ่ง วันที่ 1 ตุลาคม กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์จะมีปริมาณฝนตกลงมามากขึ้น คาดว่าปลายสัปดาห์นี้สถานการณ์ฝุ่นควันจะกลับสู่สภาพปกติ ขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการใดๆ ทั้งนี้ นายกฯย้ำในที่ประชุมว่า สิ่งที่เรา ควบคุมได้คือ การใช้ยานพาหนะ โดยเฉพาะ รถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหา มีสัดส่วน 54% และการเผาไหม้ในที่โล่ง 35% ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ สร้างฝุ่นละออง 3-5% เท่านั้น
          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่นหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติ โดยแบ่งแนวทางแก้ปัญหาใน 3 ระยะคือ ก่อนเกิดวิกฤติ ช่วงเกิดวิกฤติ และหลังวิกฤติ อาทิ การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ กทม.หากค่าฝุ่นเกิน 50 ไมโครกรัม จะเพิ่มจุดตรวจควันดำ จากเดิม 10 จุด เป็น 21 จุด และหากปริมาณฝุ่นเกิน 75 มคก./ลบ.ม. ผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจตามพ.ร.บ.สาธารณสุข สามารถออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ปัญหาจบ ต้องเลิกใช้รถยนต์ดีเซล ซึ่งไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตระหนักสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
          ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คพ.รายงานสถานการณ์ให้นายกฯและที่ประชุมรับทราบ ซึ่ง นายกฯกังวล ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นจากวันก่อนเกือบทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อ สุขภาพ นายกฯมอบหมายรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์ และแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งทั้งกระทรวงสาธารณสุข คมนาคม ก็ยังดำเนินมาตรการต่อเนื่อง จากครั้งที่ผ่านมา ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นเกิดก่อนวิกฤติ ถือว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแต่เป็นช่วงหลงฤดูเข้ามา ซึ่งนายกฯกำชับทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน


pageview  1205101    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved