HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 16/05/2555 ]
แนวโน้มผู้หญิงไทยตั้งครรภ์ยากยิ่งขึ้น สาเหตุใหญ่เกิดจากความเครียด

ปัจจุบันปัญหาการมีบุตรยาก กลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการใช้ชีวิตคู่ เนื่องจาก เมื่อเกิดความวิตกกังวลว่าไม่สามารถมีทายาทสืบสกุลได้ ภาวะความกดดันต่างๆ มักจะเกิดขึ้นตามมา กระทั่งกลายเป็นความ ไม่เข้าใจซึ่งกันและกันและครอบครัว ล่มสลายในที่สุดนายแพทย์มฆวัน ธนะนันท์กูลแพทย์หัวหน้าศูนย์ผู้มีบุตรยาก และสูติ นารีแพทย์ดูแลหญิงตั้งครรภ์อาการแทรกซ้อน (High Risk Pregnancy) ผ่าตัดด้วยกล้องลาปาโรสโคป และรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เผยถึงสาเหตุของการมีบุตรยาก ว่า
          "แม้จะยังไม่มีสิ่งยืนยันที่แน่ชัดว่า สาเหตุที่แท้จริงของการมีบุตรยากคืออะไร แต่แพทย์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ความเครียด อาการปวดท้องอย่างรุนแรงเมื่อมีรอบเดือน เจ็บในท้องขณะมีเพศสัมพันธ์ อายุเริ่มมาก หรือการมีเยื่อบุโพรงมดลูกโตผิดที่ (ช็อกโกแลต ชีส) เหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมีบุตรยากหรือไม่สามารถมีบุตรได้เลยตลอดชีวิต"
          จากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าผู้หญิงไทยตั้งครรภ์ยากมากยิ่งขึ้นเพราะเกิดความเครียด อาจจะด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนอาชีพของผู้หญิงคือคุณแม่อยู่แต่ในบ้าน ต่างกับปัจจุบันผู้หญิงมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบทัดเทียมกับผู้ชาย ที่ผ่านมาถ้าไม่ครองตัวเป็นโสดก็แต่งงานเมื่ออายุมาก เป็นผลให้มีบุตรยากเพราะผ่านพ้นช่วง วัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว
          "ตอนนี้คนไข้ที่มาหาผมอายุมากที่สุดคือ 46 ปี ป่วยเป็นโรคไตด้วย แต่เธออยากมีลูกมาก เราจึงต้องใช้วิธีอุ้มบุญ เพราะผู้หญิงที่เป็นโรคไตไม่ควรตั้งครรภ์อย่างเด็ดขาด แต่โดยเฉลี่ยแล้วคนไข้ที่เดินเข้ามาหาหมออายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 35 ปีบวกลบ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่ควรจะตั้งครรภ์แล้วเพราะเสี่ยงต่อการที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม เพราะแพทย์เองก็ต้องการตัวเลขที่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราถือเอาความสุขของคนไข้เป็นศูนย์กลาง โดยส่วนตัวผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตราบใดที่ผู้หญิงยังมีไข่ตกและมีมดลูกอยู่ผมว่าเธอยังมีโอกาส อายุไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ"
          คุณหมอมฆวันย้ำว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ในทางกลับกันการตั้งครรภ์ ครั้งแรกเมื่อสูงวัยด้วยวิธีการทำกิฟท์น่าจะยิ่งทำให้ว่าที่คุณแม่ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อทะนุถนอมชีวิตอันมีค่านั้นไว้และเฝ้ารอวันที่ชีวิตน้อยๆจะลืมตาดูโลก อย่างใจจดใจจ่อ เพราะเป็นการปฏิสนธิที่ยากลำบาก และใช่ว่าทุกเคสจะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่แพงลิบลิ่ว
          "ถ้าเราพูดถึงเคสของการประสบความสำเร็จ 14-16 วัน หลังจากการทำ ART (Assisted Reproductive Technology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ก็สามารถบอกได้ว่าท้องหรือไม่อยู่ที่ประมาณ  50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าท้องจนกระทั่งคลอดและอุ้มลูกกลับบ้าน 10-30 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้ได้จากศูนย์ที่มีความพร้อมทุกด้านเท่านั้น ส่วนก่อนตัดสินใจมาทำกิฟท์ความพร้อมอย่างเดียวไม่พอ ต้องถามตัวเองดังๆ ว่ามีเวลาเพียงพอหรือไม่ เพราะการนัดหมายเพื่อฉีดยากระตุ้นไข่ถี่มาก เวลาคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความล้มเหลว รวมถึง ห้องแล็บต้องสะอาดและมีประสิทธิภาพ ปลอดเชื้อโดยสิ้นเชิง ระบบการรักษาความปลอดภัยต้องสำคัญสุดเพราะการเก็บรักษาสเปิร์มต้องตรงกับของคนไข้ มิฉะนั้นจะเกิดความผิดพลาดในการทำกิฟท์"
          ในตอนท้าย คุณหมอยังแนะนำ สำหรับการเตรียมพร้อมก่อนมีบุตรด้วยว่า ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม ดูแลเรื่องน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กำจัดความเครียดทุกๆ ด้าน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตรวจเลือด ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนและคุมกำเนิดไว้ 3 เดือนก่อนปล่อยให้ตั้งครรภ์ จดรอบการมีประจำเดือน ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ฯลฯ ปฏิบัติเช่นนี้แล้ว 1 ปีผ่านไปหากยังไม่ตั้งครรภ์ก็ไม่ต้องวิตกกังวล ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คนไข้จะได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้อง และว่องไวในการค้นหาสาเหตุ หรือหาตัวช่วยทำให้เกิดการตั้งครรภ์ อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปเพราะคนไข้จะเสียโอกาส และเป็นหมันในที่สุด
 


pageview  1206040    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved