HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 23/08/2562 ]
อาการสมาธิสั้น ภัยเงียบของเด็ก ไม่ร้ายแรงแต่มีโอกาสเรื้อรัง

    คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีเข้ามา มีบทบาทในชีวิตประจำวันของเด็กและผู้ใหญ่มากขึ้น เรื่อยๆ ในมุมหนึ่งเทคโนโลยีถือเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่เทคโนโลยีก็เป็นเหมือนดาบสองคมเพราะอาจก่อให้เกิดโทษแก่เด็กได้ โดยเฉพาะหากผู้ใหญ่ที่ปล่อยให้เด็กใช้เทคโนโลยีบางประเภท อาทิ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเลตติดต่อกันเป็นเวลานานและไม่มีการควบคุมระยะเวลาการใช้งาน อาจมีผลเสียที่ร้ายแรงต่อเด็กทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต
          จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่าการใช้ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเลตมีผลทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น* โดยมีโอกาสเพียง 15-20% เท่านั้นที่สามารถหายขาดเองได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ในขณะที่ 80-85% ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และจะเป็น โรคสมาธิสั้นจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อ ความคิด การวางแผน และการจัดการบริหารชีวิต จากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ดังนั้นการ สังเกตรู้เท่าทันอาการ ยอมรับเพื่อรักษาอาการ อาจจะ จะช่วยให้โรคสมาธิสั้นแก้ไขได้ทันการและหายขาดก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โรคสมาธิสั้นจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมและใส่ใจเด็กๆ
          บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เล็งเห็นความสำคัญของ ปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดกิจกรรมแนะนำวิธีการสังเกต พฤติกรรมและวิธีดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ณ มูลนิธิบ้านทานตะวัน จังหวัดนครปฐม เพื่อให้คุณครูที่มูลนิธิฯ ซึ่งทำหน้าดูแลเด็กๆ เสมือนเป็นพ่อแม่ นำไปปรับใช้เพื่อประเมินพฤติกรรมและอาการของเด็กเบื้องต้นก่อนพาเด็กเข้าไปรับการตรวจวินิจฉัย จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
          ภูชิชย์ ฝูงชมเชย นักกิจกรรมบำบัด จากศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 ในเครือโรงพยาบาล BDMS กล่าวว่า "การสังเกตอาการสมาธิสั้นในเด็กควรเริ่มจากการพิจารณาอายุของเด็กกับระยะเวลาของกิจกรรมที่เด็กทำก่อนว่า มีระยะเวลานานเกินไปหรือไม่ โดยนำอายุเด็กมา คูณด้วยสาม ซึ่งจะเท่ากับจำนวนนาทีที่เด็กสามารถอยู่ในสมาธิได้ อาทิ เด็ก 5 ขวบ ควรจะมีสมาธิและสามารถจดจ่ออยู่กับการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ประมาณ 15 นาที"และยังแนะนำวิธีการสังเกตเด็กสมาธิสั้นเบื้องต้น 2 แนวทางดังนี้
          1.สังเกตว่าเด็กมีอาการขาดสมาธิหรือไม่ โดยเด็กที่มีอาการขาดสมาธิจะมีอาการ 6 ใน 9 ข้อ ได้แก่ ละเลยในรายละเอียดหรือทำผิดด้วยความเลินเล่อ, มีความยากลำบากในการตั้งสมาธิ, ดูเหมือน ไม่ฟังเวลาคนอื่นพูดด้วย, ทำตามคำสั่งไม่จบหรือ ทำกิจกรรมไม่เสร็จ, มีความยากลำบากในการจัดระเบียบ งานหรือกิจกรรม, หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม, มักทำของหายบ่อยๆ, วอกแวกสนใจสิ่งเร้าภายนอกง่ายและหลงลืมทำกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ
          2.สังเกตว่าเด็กมีอาการซน อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่นหรือไม่ โดยจะต้องมีอาการ 6 ใน 9 ข้อ ประกอบด้วย ยุกยิก ขยับตัวไป-มา, นั่งไม่ติดที่ ชอบ ลุกเดิน, ไม่สนใจเมื่อมีผู้พูดด้วย, ไม่สามารถเล่นเงียบๆ ได้,เคลื่อนไหวไป-มาตลอดเวลา, พูดเยอะเกิน, พูดโพล่งขึ้นมาก่อนถามจบประโยค, มีความยากลำบากในการรอคอยและขัดจังหวะหรือพูดแทรก ผู้อื่นในกลุ่มสนทนาหรือกลุ่มเล่น
          โดยเด็กจะต้องมีอาการเหล่านี้ก่อน 12 ขวบ และแสดงอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หากผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าบุตรหลานมีอาการเหล่านี้ ควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยโรคโดยละเอียดต่อไป
          ท้ายนี้ BDMS ฝากวิธีการปฏิบัติกับเด็กๆ ด้วย หลัก 3R ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการดูแล เด็กๆ และประยุกต์ใช้ได้จริงในการดูแลบุตรหลาน คือ Relationship ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว กับเด็ก ไม่ใช่การหยิบยื่นแค่ของเล่นให้แก่เด็ก ควรเล่น ด้วยกันกับเด็ก หรือมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเล่า นิทานก่อนนอน Reinforcement การชื่นชมหรือ ให้รางวัลแก่เด็กแบบพอดีเมื่อเด็กทำดี ซึ่งต้องเป็น การชมที่เจาะจงว่าพฤติกรรมอะไรที่เด็กทำดี เช่น เก็บของเล่นเข้าที่เองได้ หรืออาบน้ำแปรงฟันด้วยตัวเองได้ และ Rules กฎระเบียบที่ไม่เข้มงวดหรือหย่อนยานเกิน และผู้ปกครองควรปฏิบัติกฎนั้นอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ พร้อมกับการมีต้นแบบที่ดี ซึ่งผู้ที่จะเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดแก่ลูก คือพ่อแม่ และ ผู้ปกครองเด็กนั่นเอง


pageview  1204998    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved