HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 01/07/2562 ]
รู้ทันโรค มือ เท้า ปาก โรคใกล้ตัวเด็กวัยเรียน

 หน้าฝนนี้นอกจากไข้หวัดที่พบบ่อยแล้ว อีกหนึ่งโรคที่ต้องระมัดระวังในเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียน นั่นก็คือ โรคมือเท้าปาก ที่มีการแพร่ระบาดได้มาก โดยโรคนี้เกิดจากการเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัสในลำไส้คน ซึ่งทารก-เด็กเล็กมีโอกาสป่วยง่าย และจะรุนแรงกว่าเด็กโต มักพบในสถาน รับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล
          แพทย์หญิงนงนภัส เก้าเอี้ยนกุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ลักษณะ อาการของโรคนี้ ทำให้มีตุ่มผื่นหรือแผลที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้า หรือมีแผลภายในปาก ทำให้เด็กๆ เจ็บปาก จน รับประทานไม่ได้ นอกจากนี้อาจจะมี อาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย สามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอหรือจาม น้ำมูก การสัมผัสตุ่มน้ำตามผิวหนัง น้ำลายหรือ อุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยโรคมือเท้าปาก มีระยะฟักตัว 3-6 วัน และหลังจาก ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้า และมีแผลในปาก เช่น ที่กระพุ้งแก้ม เพดาน ลิ้น รวมถึงริมฝีปาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองหรือคุณครูที่โรงเรียนสามารถสังเกตอาการของเด็กในเบื้องต้นได้ เช่น มีไข้ ตุ่มหรือผื่นตามมือ เท้า และแผลในปาก นอกจากแผลที่เกิดขึ้นตามตัวและในบริเวณปาก จะสร้างความเจ็บปวด รำคาญ ให้เด็กทรมานแล้ว โรคมือเท้าปาก ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อ หุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้
          "คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กๆ มา พบแพทย์เพื่อตรวจป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง และแผลในปากเป็นหลัก ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจนำตัวอย่างของเหลวภายในลำคอ หรืออุจจาระ ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการป่วย ต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว โรคมือ เท้า ปากอาการจะดีขึ้นและหายป่วยเองภายในเวลา 7-10 วัน โดยเฉพาะปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดในทันที และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากได้
          ฉะนั้นแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ จึงเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงโรคได้ อาทิ การรักษาความสะอาดของร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของหรือภาชนะร่วมกัน เช็ดทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือ เท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย หากมีเด็กในโรงเรียนป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ต้องแยกเด็กที่ป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ รวมถึงควรปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดหากพบเด็กติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก พร้อมกันหลายคน"
          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่ใกล้ตัวหนูน้อยอย่างมาก แต่หากพ่อแม่มีความใส่ใจ ดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดและเฝ้าสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา ข้างต้น แนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อ จะได้ให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที


pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved