HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 02/07/2562 ]
ป้องกันอาการปวดเมื่อยจากการช็อปปิ้ง

 ถ้าพูดถึงเรื่องการ "ช็อปปิ้ง" แล้วล่ะก็ ถือเป็น กิจกรรมที่คู่กับผู้หญิงเลยก็ว่าได้ ช็อปไปช็อปมารู้ตัว อีกทีก็ของเต็มมือแล้ว กลับบ้านมาอาการก็เริ่มกำเริบ ทั้งปวดแขนและปวดขา เพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพ บำบัด จากคลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ไลฟ์เซ็นเตอร์ (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) มีคำแนะนำสำหรับสาวๆ นักช็อปในการดูแลอาการปวดเมื่อยจากการช็อป
          เพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัด เผยว่า การช็อปปิ้งแต่ละครั้งผู้หญิงต้องแบกรับน้ำหนักจากการถือของที่หนัก และมีการเดินมาก จึงเป็นต้นเหตุของอาการปวดเมื่อยและเจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ตามมา ร่างกายที่อาจเกิดอาการปวดเมื่อยได้ มีดังนี้ ปวดเมื่อยแขนเพราะมีการเกร็งจากการถือของ คล้องกระเป๋าหรือถุงต่างๆ กล้ามเนื้อแขนก็จะทำงานตลอดเวลา ยิ่งหิ้วหนักก็ยิ่งกล้ามเนื้อก็หดเกร็งมาก ปวดแขนได้ง่ายๆ ปวดข้อมือลามไปถึงปวดนิ้วมือเพราะต้องใช้ข้อมือรวมไปถึงนิ้วมือในการช่วยเกี่ยวถุง ทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ อาจเกิดอาการชาตามปลายนิ้ว ต่างๆ ได้ บางทีอาจปวดร้าวเหมือนถูกไฟช็อตวิ่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นมากอาจทำให้มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้ออุ้งมือได้ เป็นปัจจัยให้เกิดนิ้วล็อก เอ็นในข้อนิ้ว อักเสบ เรื้อรังเป็นนิ้วล็อกได้
          ปวดบ่า-ไหล่-คอ เป็นอวัยวะที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง จากแขนข้อมือ ด้วยมีกล้ามเนื้อที่ยึดติดกัน ซึ่งจุดเกาะปลายสุดของกล้ามเนื้อไหล่ไปเกาะที่กระดูกต้นคอ หากไหล่ต้องแบกหรือหิ้วหนักๆ ก็ส่งผลให้ปวดเมื่อยคอ หรือปวดร้าวจากการตึงของเส้นประสาทลงไปที่มือได้ หากหิ้วหรือสะพายหนักเกิน หรือนานต่อเนื่องเกิน ปวดหลังเวลาเดินนานๆ หลังช่วงล่างจะรับน้ำหนักมาก ทุกครั้งที่ก้าวขาลงน้ำหนักเท้าก็จะเกิดแรงกระแทกส่งไปหลัง ทำให้ปวดเมื่อยหลัง ยิ่งถ้าหิ้วของหนักๆ หลังก็จะแบกรับน้ำหนักมาก กล้ามเนื้อจะยิ่งเกร็งตัวมาก หรืออาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกถูกกดอัดมาก อาจปวดร้าว ลงสะโพกหรือลงขาได้
          ปวดน่องขา จากการยืนเดินเลือกซื้อของ เพราะ กล้ามเนื้อน่องเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยืน-เดิน อาจเกร็งตัว ทำให้ปวดน่องหรือเป็นตะคริวที่น่องได้ ปวดเข่า เข่าเป็น ข้อต่อที่เหมือนรับน้ำหนักตัว ถ้าเดินเยอะ แล้วน้ำหนักมาก ก็มักทำให้น้ำหนักเทลงที่เข่าเกิดอาการปวดเข่าได้ง่ายๆ
          นักกายภาพบำบัด ยังได้แนะนำวิธีป้องกันอาการ ปวดเมื่อยจากช็อปปิ้ง ดังนี้ ก่อนไปช็อปปิ้งควรวางแผนและจดรายการของที่จะซื้อ กำหนดเวลาที่ช็อปปิ้ง เพื่อจะได้มีเป้าหมายในการช็อปปิ้ง ไม่ช็อปปิ้งจนเพลิน จำกัดงบประมาณในการช็อป เพื่อช่วยบริหารเงินและเวลา ในการช็อปปิ้งไม่ให้นานเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้กระเป๋าใบใหญ่มาก เพราะจะยิ่งเผลอตัวใส่ของมากเกินไป น้ำหนักก็จะมากตามไปด้วย เปลี่ยนมาเป็นกระเป๋าขนาดที่เหมาะสมกับรูปร่างของตัวเองจะดีกว่า ในกรณีที่ต้องช็อปปิ้งนานๆ อาจใช้บริการฝากของหรือใช้รถเข็นของ ที่ห้างสรรพสินค้า เพื่อร่างกายจะได้ไม่ทำงานหนักเกินไป
          เลือกใส่รองเท้าสบายๆ ส้นไม่สูงมากยามที่เดินช็อปปิ้ง จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ต้องทำงานหนัก ป้องกันการเมื่อยล้าได้ และบริหารข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อศอกและไหล่ เพื่อป้องกันการเคล็ดหรือเอ็นอักเสบง่ายๆ เช่น ยืนชิดผนังแล้วใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ทาบและไต่ขึ้น-ลงบนผนัง 10 ครั้งหมุนข้อมือเป็นวงกลม ซ้าย-ขวา 10 ครั้ง บริหารไหล่ หมุนแขนไปข้างหน้า-หลัง เป็นวงกลมข้างละ 10 ครั้ง บรรเทาอาการปวดเมื่อยขาด้วยท่าบริหารเข่า นั่งเตะขาขึ้นจากพื้นกระดกข้อเท้าเข้าหาตัว ยืดเหยียดน่องและเป็นการบริหารกล้ามเนื้อเข่า
          หลังการช็อปปิ้ง หากรู้สึกปวดกล้ามเนื้อมาก ใช้แผ่นประคบเย็น เพื่อลดอาการปวดบวมใน 1-2 วันแรก หลังจากนั้นใช้แผ่นประคบร้อน พร้อมยืดกล้ามเนื้อเบาๆ หรือจะใช้ยานวดหรือรับประทานยาแก้ปวดบรรเทาด้วยก็ได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


pageview  1205007    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved