HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 26/02/2562 ]
อยู่ในบ้านอย่างไร ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5

เมื่อผู้คนในเมืองใหญ่จำเป็นต้องคุ้นเคยกับปัญหาวิกฤติฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้เจ้าฝุ่นจิ๋วเหล่านี้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่กลับส่งผลกระทบ ต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพมากมายอย่างคาดไม่ถึง เกิดกระแสตื่นตัวและเฝ้าระวังให้ปลอดภัยจากฝุ่น หน้ากากป้องกันฝุ่นขายดี จนขาดตลาด หลายโรงเรียนประกาศปิดการเรียน การสอนชั่วคราว และออฟฟิศบางแห่งประกาศให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้าน ได้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสมลพิษเหล่านี้ เมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราควรทำอย่างไร ถึงจะเข้าใจและปลอดภัยจากฝุ่นจิ๋ว PM2.5
          ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หรือ หมอแอน ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้โรคหืดและโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เผยว่า สาเหตุที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นอันตรายต่อร่างกายก็เพราะว่าเจ้าฝุ่นจิ๋วเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมเสียอีก เล็กจนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกรองได้ เมื่อไม่สามารถกรองได้ฝุ่นเหล่านี้จึงเข้าสู่ร่างกายเราได้ง่ายเป็นพิเศษผ่านการหายใจเข้าไปสู่เส้นเลือดและสามารถแพร่กระจาย ไปสู่อวัยวะต่างๆ รวมถึงสมอง แถมยังเป็นพาหะนำสารอันตรายต่างๆ เช่น ปรอทโลหะหนัก แคดเมียม ฯลฯ เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสารอันตรายเหล่านี้เองที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ
          "ปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ ส่งผลกระทบเฉพาะระบบทางเดินหายใจของร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อหลาย ระบบของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็นระยะต้นกับระยะปลาย ระยะต้นคือมีอาการเฉียบพลัน หรือภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่สัมผัส โดยมีอาการตั้งแต่ทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก แสบคอ คันตา ไปจนถึงทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ไอ แน่นหน้าอก และหอบ หรือมีอาการทางผิวหนัง ได้แก่ คัน ผื่นขึ้น หน้าบวม ส่วนระยะปลาย คือมีอาการหลังจากสัมผัสฝุ่นละอองเป็นเวลา ต่อเนื่องยาวนาน เกิน 5 ปีขึ้นไป โดยอาจนำไปสู่ การเกิดโรคมะเร็งปอดได้ และยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จากคนที่ไม่เคยเป็นโรคภูมิแพ้อาจกลายเป็นโรคภูมิแพ้ได้ในอนาคต"
          จากการศึกษาพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย หรือคิดเป็น 46% ของประชากร ทั้งประเทศ โดยอาการโรคภูมิแพ้ที่พบในคนไทยมากที่สุด ได้แก่ คัดจมูก รองลงมาคือ น้ำมูกไหล จาม และคัน ตามลำดับ ซึ่งกว่า 70% ของผู้ป่วยมีอาการทั้งทางจมูกและทางตา ไม่เพียงเท่านั้นเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันร่างกายยังไม่แข็งแรงยิ่งเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ โดยปัจจุบันเด็กในกรุงเทพมหานครป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบถึง 43.6% รองลงมาคือโรคจมูกและเยื่อบุตาอักเสบ ผื่นผิวหนังเรื้อรัง โรคหืด และโรคหืดขั้นรุนแรงตามลำดับ โดยส่วนมากมักพบผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในกลุ่มเด็กช่วงอนุบาลจนถึงปฐมวัย
          นอกจากนี้ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น อาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไข้หวัด หอบหืด ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ตลอดจนปัญหาการ นอนหลับไม่เพียงพอ อ้าปากหายใจ นอนกรน ไปจนถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งส่งผลให้ ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียนไม่รู้เรื่อง หรือทำงานได้ลดลง"
          ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตกลางแจ้งในช่วงนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่น PM2.5 หรือสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะออกไปข้างนอก
          "ควรอยู่ในบ้านหรืออาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ และปิดประตู หน้าต่างให้สนิทเพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามา อีกทั้งควรใช้เครื่องกรองอากาศเพื่อปรับคุณภาพอากาศภายในบ้านให้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เพราะจริงๆ แล้วภายในห้องปิดที่อากาศไม่สามารถถ่ายเทหมุนเวียนยังพบตัวการสำคัญอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรียสปอร์เชื้อรา ไรฝุ่น ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง เป็นต้น"
          รัตนา ชาญนรา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอเป็นพื้นฐานสำคัญในการกำจัดสิ่งปนเปื้อน ที่แฝงตัวอยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง ชุดเครื่องนอน ผ้าม่าน พรม และถ้าบ้านไหนมีเด็กหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยยิ่งต้องใส่ใจความสะอาดเป็นพิเศษ เพราะสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ที่อยู่ ในอากาศอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน ในครอบครัวได้
          "การเลือกใช้เครื่องกรองอากาศที่มี ประสิทธิภาพสูง ที่สามารถขจัดสิ่งปนเปื้อนขนาดเล็กถึง 0.0024 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็ก กว่าฝุ่น PM2.5 ถึง 1,000 เท่าได้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราอยู่ในอาคารบ้านเรือน และปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 รวมถึง เชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย สปอร์เชื้อรา ที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วย ได้เช่นกัน อีกทั้งนวัตกรรมที่ก้าวล้ำที่สามารถควบคุมการทำงานเครื่องกรองอากาศผ่านสมาร์ทโฟน หรือแอพพลิเคชั่น ต่างๆ ที่ช่วยให้ควบคุมการทำงานของเครื่องกรองอากาศได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านแอพพลิเคชั่น ตลอดจนตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งในและนอกบ้าน ปรับความแรงลมโดยอัตโนมัติตามปริมาณสิ่งปนเปื้อนในอากาศ ยิ่งช่วยให้คุณมั่นใจว่าอากาศภายในบ้านจะปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัวมากขึ้น"


pageview  1205146    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved