HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 24/01/2562 ]
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ป้องกันเด็กจากเชื้อไวรัสโรต้า

  เมื่อเด็กๆ ก้าวสู่วัยอยากรู้อยากเห็น ก็มักจะอยากลองสัมผัส สิ่งรอบตัวด้วยการนำสิ่งของใส่ปาก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของเล่น ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จึงอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่นำไปสู่การติดเชื้อไวรัสโรต้าอันเป็นสาเหตุทำให้เด็กๆ ป่วยเป็นโรคท้องร่วงแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
          กรุงเทพมหานครตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ จึงได้เปิดให้บริการหยอดวัคซีนไวรัส โรต้าในเด็กไทยอายุ 2 เดือน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอุจจาระร่วง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย ทั้ง 68 แห่ง
          ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รอง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานในการให้บริการวัคซีนไวรัสโรต้าในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ณ ศูนย์บริการ สาธารณสุข 56 ทับเจริญ ซึ่งถือเป็น ยุทธศาสตร์ที่สำคัญตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) ในการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งความปลอดภัย ปลอดโรคคนเมือง เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครตระหนักและให้ ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ รวมทั้ง พัฒนาและขับเคลื่อนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกมิติทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในมิติของการส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่มักพบบ่อยในเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี เช่น โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการหยอดวัคซีน
          สำหรับสถานการณ์โรค อุจจาระร่วงในกรุงเทพมหานคร ปี 2561 พบว่า มีผู้ป่วยเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 4 ปี จำนวนประมาณ 17,000 คน ข้อมูลจากการศึกษา พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคอุจจาระร่วงมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 43 การศึกษาของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พบว่าในผู้ป่วย 1 ราย มีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 4,300 บาท ซึ่งหากมีการให้บริการวัคซีนไวรัสโรต้าเป็นระยะเวลา 5 ปี ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ต้นทุนรวมทั้งหมดของการเจ็บป่วย ของกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนมีมูลค่า 727 ล้านบาท  ในขณะที่กลุ่มได้รับวัคซีนจะมีมูลค่าลดลงเหลือ 228 ล้านบาท  และจำนวนการตายที่ปรับลดลง ของกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน มีจำนวน  20.52 ราย และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีจำนวน 7.02 ราย และทำให้หลีกเลี่ยงการตายได้ 13.5 ราย ทั้งนี้ วิธีการป้องกันเด็กจากเชื้อไวรัส โรต้าที่สำคัญคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การสร้างสุขอนามัยที่ดี การรักษาความสะอาด การล้างมือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิธีการเหล่านี้ ไม่สามารถป้องกันได้อย่างครบถ้วน การรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าจึง เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันอันตรายจากเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็ก  โดยหลายประเทศได้บรรจุวัคซีนชนิดนี้ ไว้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเรียบร้อยแล้ว สำหรับประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันให้บรรจุวัคซีนไวรัสโรต้าในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน
          กรุงเทพมหานคร ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กไทยให้สามารถเข้าถึงวัคซีนที่เป็นประโยชน์ ได้รับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า จึงมอบให้สำนักอนามัยดำเนินโครงการดังกล่าว นำร่องโดยใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครในการให้บริการหยอดวัคซีนไวรัส โรต้าแก่เด็กไทยอายุ 2 เดือน ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดย ผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลาน มารับบริการหยอดวัคซีนไวรัสโรต้า ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร.02-2032887-9 ในวันและเวลาราชการ


pageview  1205091    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved