HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 08/01/2562 ]
ข้อเข่าเสื่อม รู้ไว...รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

 "ข้อเข่าเสื่อม" เป็น 1 ในอาการข้อเสื่อมที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับ ผู้ป่วยอย่างมาก จะขยับร่างกายทำอะไรก็ไม่สะดวกคล่องแคล่วเพราะรู้สึกเจ็บระบม โดย กระทรวงสาธารณสุข รายงานไว้เมื่อปี 2555 พบคนไทยป่วยเป็นโรคข้อเสื่อมราว 6 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย ที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากขึ้น
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) สันป่าข่อยคลินิก อธิบายถึงสาเหตุของอาการปวดของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมว่า อาการปวดของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากหลายปัจจัยโดยหลักๆ หนึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุข้อภายในข้อเข่า ทำให้เกิดมีน้ำในข้อเข่าและมีอาการบวม สอง กระดูกงอกตามบริเวณของข้อเข่า อันเนื่องมาจากความไม่มั่นคงของข้อเข่าจากการสูญเสียกระดูกของผิวข้อ สาม กระดูกข้อเข่าที่มีการสูญเสียของผิวข้อ มีการเสียดสีกันมากขึ้น และกระดูก ใต้ผิวข้อมีการอักเสบบวมน้ำ ที่เรียกว่า Bone Marrow Edema ซึ่งสามารถตรวจได้จากการคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
          "ประชากรกลุ่มเสี่ยงของโรคข้อเสื่อม ได้แก่ ผู้เข้าใกล้วัยสูงอายุ สภาพร่างกายย่อมเสื่อมลงไปเป็นธรรมดา ผู้มีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์มาตรฐาน ภาวะอ้วนนำไปสู่ความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมเพราะเข่าต้องรับน้ำหนักมาก การนั่งกับพื้นซึ่งท่านั่งมักมีลักษณะเป็นการงอเข่าเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือพระสงฆ์ไทยที่ต้องนั่งปฏิบัติกิจของสงฆ์เป็นเวลานานๆ ทุกวัน และหลายรูปก็พบว่าป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว
          ท่านั่งกับพื้นเป็นท่าที่แย่ มีผลกับเรื่องเข่าและ เรื่องหลัง เวลานั่งกับพื้นนานๆ ข้อต่อกระดูกสันหลังก็จะรับน้ำหนักเยอะ มันก็ปวด เรื่องของกระดูกและข้อจริงๆ การรักษาที่ดีที่สุดคือการปรับตัวเอง ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น คนเราก็จะมี 5 อย่างที่เป็น คือ ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดเขา และถ้าเป็นผู้หญิงก็จะมีกระดูกพรุนเข้ามาด้วย เรื่องการนั่งนั้นควรจะนั่งเก้าอี้ดีที่สุด เพราะการนั่งงอเข่าเยอะๆ กระดูกสะบ้าจะไปกด ก็จะเกิดมีความดัน สังเกตไหมว่าเวลานั่งขัดสมาธินานๆ ลุกขึ้นมาก็เจ็บเข่าเหมือนกัน"
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนินนิตย์ กล่าว เพิ่มเติมว่า แม้ข้อเสื่อมพบมากในผู้สูงอายุ แต่คนหนุ่มสาวก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อาทิ การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่มีการปะทะสูง เช่น นักฟุตบอลอาชีพที่บาดเจ็บหมอนรองหัวเข่าฉีกหรือเอ็นไขว้หน้าฉีก การผ่าตัดเป็นหนทางที่ต้องวัดดวงและวัดฝีมือของแพทย์ว่าจะทำให้กลับมาลงสนามได้เหมือนเดิมหรือไม่ หลายรายเล่นได้แต่ต้องพักอย่างน้อย 6 เดือน แต่บางรายก็ต้องอำลาสนามไปเพราะเมื่อเล่นไปสักพักอาการก็กำเริบอีก
          สิ่งบอกเหตุของโรคนี้คือ "อาการปวดเรื้อรัง จะลุก จะเดินก็ปวดไปหมด" โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปแล้วเวลาเดินรู้สึกปวดหัวเข่า "อย่ารอช้า รีบไป พบแพทย์ทันที" เพื่อที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อย ให้ลุกลาม ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนินนิตย์ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีวิธีการรักษาแบบ "การใช้เกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง" เจาะเลือดออกมา 6 หลอด หลอดละ 6 ซีซี นำมาผ่านกระบวนการกระตุ้นเกล็ดเลือดก่อนฉีดกลับเข้าไปในปริมาณ 1 ซีซี พบว่าได้ผลดีแบบไม่ต้องผ่าตัด
          "ในเลือดของเราจะมีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ซึ่งเกล็ดเลือดจะมีส่วนหนึ่งที่กระตุ้นสารต่างๆ ให้เข้ามา สารเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดการอักเสบในข้อเข่า ก็ทำให้สภาพแวดล้อมในข้อเข่าดีขึ้น เวลาคนไข้เป็นข้อเข่าเสื่อม ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ปวดคือเยื่อบุเกิดการอักเสบแล้วผลิตน้ำออกมา ส่วนอันที่สองคือ ผิวข้อหรือกระดูกอ่อนสึกไปทำให้กระดูกเสียดสีกัน การนำเกล็ดเลือดไปปั่นแล้วเอาบางส่วนมาฉีด วัตถุประสงค์คือไปลดการอักเสบของข้อเข่า"
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนินนิตย์ ยังกล่าวอีกว่า การใช้วิธีข้างต้นเหมาะกับอาการ ข้อเข่าเสื่อมแบบในขั้นไม่รุนแรง คือยังมีกระดูกอ่อนอยู่ยังไม่สึกไปจนหมด แต่หากเกินระยะนี้ไปแล้วการผ่าตัดเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า แต่การผ่าตัดก็ต้องดูสุขภาพของผู้ป่วยด้วยว่าพร้อมเพียงใด ถ้าแข็งแรงดีไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อาจจะผ่าพร้อมกัน 2 ข้างได้ เมื่อผ่าแล้วต้องพักฟื้น 1 เดือน โดยผู้ป่วยต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงไปก่อน หลังจากนั้นจึงกลับมาเดินได้
          "อาหารเสริมประเภทคอลลาเจนไม่ค่อยมีผลมากนัก การปรับพฤติกรรมตนเองเป็นวิธีที่ดีที่สุด" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนินนิตย์ กล่าวสรุป ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมสามารถติดตามข้อมูลความรู้ได้ที่ www.taninnit.com


pageview  1204946    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved