HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 03/03/2555 ]
มท.ขีดเส้น3ด.31จว.ละเลงงบป้องกันน้ำท่วม

  ไทยโพสต์ * มท.ขีดเส้น 3 เดือนผู้ว่าฯ 31 จังหวัดเร่งโครงการป้องน้ำท่วมให้เสร็จ กมธ.สิ่งแวดล้อมฯ แย้ง "ปลอด" ปีนี้พายุถล่มไทยแค่ 1-2 ลูก ไม่ใช่ 27 ลูก เวทีถอดบทเรียนน้ำท่วม 54 เปิดข้อมูลผู้เสียชีวิตไม่ตรงกัน ปภ.รายงาน 815 ขณะที่ สธ.พันกว่าราย จี้บูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องให้ชัดเจน เอื้อแก้ไขได้ตรงจุด
          เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงเกิดโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย ที่มีความสำคัญเร่งด่วนเพิ่มเติม หรือแฟล็กชิพ โดยให้จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว 31 จังหวัดรับผิดชอบ และต้องให้เสร็จภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้อำ นาจผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การทำงานความคล่องตัว ไม่ต้องทำเรื่องมาที่ มท.จะได้ไม่ล่าช้า
          อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีความโปร่งใสเป็นธรรม ถือเป็นเรื่องที่ มท.ให้ความสำคัญมาก อย่าให้มีข้อครหาผู้ว่าฯ ทุจริต กินค่าหัวคิว หรือถูกนำไปแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด หากประชาชนพบความไม่โปร่งใสต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ สามารถโทร.มาแจ้งที่สายด่วน 1567
          ด้านนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวภายหลังจาก 1 สัปดาห์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายรายงานแผนป้องกันน้ำท่วมว่า พระองค์ทรงห่วงปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับประชาชนมา 65 ปีแล้ว จะให้พระองค์ทรงหยุดห่วงได้อย่างไร ดังนั้นเรื่องความห่วงยังทรงห่วงตลอดไปตราบใดที่ปัญหายังมีอยู่ ซึ่งภัยธรรมชาติประสบกันอยู่ทุกภูมิภาคทุกรูปแบบ ทั้งน้ำท่วม ลูกเห็บ ภัยแล้ง ต้องเตรียมพร้อมไม่ประมาท ขณะนี้แผนป้องกันรับมือน้ำท่วมเสร็จแล้ว ต้องเร่งมือทำให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเราไม่รู้ว่าน้ำจะมาเมื่อไร ปริมาณเท่าไร
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 มี.ค.นี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะเสนอการตั้งงบประมาณของแผนงานปรับปรุงระบบการเตือนภัยของประเทศภายใต้ กยน. ไว้ที่สำนักปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
          ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเดินทางไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพบปะนักธุรกิจ รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมืองของประเทศญี่ปุ่นว่า โดยภาพรวมแล้วญี่ปุ่นให้ความสนใจกับการเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมของไทยเป็นหลัก และตนมีโอกาสพบกับผู้บริหารองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการประกันภัยต่อ (Reinsurance)
          โดยได้เห็นความต่างหรือความเหมือนด้วยขององค์กรนี้กับกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติที่ไทยเพิ่งตั้งขึ้นมา เพราะองค์กรของญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นมาในรูปของบริษัท และบริษัทประกันภัยเป็นผู้ถือหุ้น รัฐบาลไม่ต้องลงเงินเลย แล้วก็ทำหน้าที่เหมือนกับบริษัทเอกชน แต่หากเกิดแผ่นดินไหวที่เสียหายมาก ๆ แล้วเกินจำนวนเงินที่กำหนดเอาไว้ ทางรัฐบาลถึงนำเงินมาช่วยบริษัท
          นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรค ประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิ การ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมว่า กมธ.ได้ข้อสรุปว่าในปีนี้จะไม่มีพายุจำนวน 27 ลูกเข้ามาในประเทศไทย มีเพียงการก่อตัวของพายุในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะเข้ามามีผลกระทบต่อประเทศไทยเพียง 1-2 ลูกเท่านั้น ดังนั้นไม่เป็นไปตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแถลงแต่อย่างใด ส่วนปริมาณฝนในฤดูฝนเป็นปกติไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่จะมีฝนทิ้งช่วงบ้าง และในฤดูร้อนจะมีปริมาณฝนสูงกว่าปกติ แต่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
          ที่รัฐสภา ผศ.ดร.อังสนา บุญธรรม อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "ถอดบทเรียนน้ำท่วม 2554 : เตรียมรับมือปัญหาสุขภาพ" จัดโดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมาธิการสา ธารณสุข วุฒิสภา ว่า จากการศึกษาข้อมูลสถานการณ์และสาเหตุการเสียชีวิตจากภาวะน้ำท่วมปี 2554 พบว่าข้อมูลหลักที่ใช้นำมาจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย มีรายละเอียดที่ต่างจากรายงานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขณะที่ข้อมูลพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะในส่วนกรุง เทพมหานคร (กทม.) ยอมรับว่าค้นหายากมาก
          อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล ปภ. ระหว่างวันที่ 25 ก.ค.- 31 ธ.ค.2554 มีการประกาศพื้นที่ประสบภัย 65 จังหวัด ในจำนวนนี้มีการรายงานเสียชีวิต 44 จังหวัด ไม่รวม กทม. ยอดเสียชีวิต 815 ราย สูญหาย 3 ราย ขณะที่ กทม.มีการรายงานโดยสำนักการแพทย์ กทม. อยู่ที่ 83 ราย
          ผศ.ดร.อังสนากล่าวว่า การเสียชีวิตในพื้นที่ต่างจังหวัดเกือบร้อยละ 80 เกิดจากจมน้ำหรือ 709 ราย รองลงมาเป็นไฟฟ้าชอร์ต 47 ราย แต่เมื่อเปรียบเทียบในพื้นที่ กทม. พบข้อมูลที่สวนทาง โดยเสียชีวิตจากไฟชอร์ตสูงเป็นอันดับแรก 47 ราย รองลงมาจมน้ำ 24 ราย เมื่อดูข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่า ยิ่งอยู่ในพื้นที่ในเมือง การเสียชีวิตจากไฟฟ้าชอร์ตจะมีมากขึ้น ขณะที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะเป็นการจมน้ำ อย่างเช่นเหตุการณ์เรือล่มระหว่างอพยพหรือน้ำป่าพัดรุนแรงขนย้ายไม่ทัน
          "การเสียชีวิตจากไฟฟ้าชอร์ตสูงมากจากภาวะปกติ 3-4 เท่า และส่วนใหญ่เกิดภายหลังน้ำลดในช่วงเข้าไปทำความสะอาด จากข้อมูลที่ปรากฏชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดการข้อมูลการรายงานในช่วงภัยพิบัติ โดยเฉพาะในส่วนข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ต้องชัดเจน เพื่อที่จะได้วางแผนป้องกันและแก้ไขได้อย่างตรงจุด" ผศ.ดร.อังสนาระบุ
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า น้ำท่วมที่ผ่านมาเราสามารถควบคุมโรคติดต่อไม่ให้ระบาดในวงกว้างได้ ถือว่าทำได้ดีกว่าหลายประเทศ เนื่องจาก สธ.ได้วางเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพและโรคระบาดตั้งแต่เดือน มิ.ย.2554 หรือเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทั้งนี้ จากการประเมินความเสียหายในภาพรวมทั้งประเทศจนถึงวันที่ 12 ม.ค.2555 พบว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 1,054 ราย จมน้ำเป็นอันดับหนึ่ง 901 ราย ไฟฟ้าชอร์ต 153 ราย มีผู้ถูกงูหรือสัตว์มีพิษกัดจำนวน 62 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 11,529 ราย
          "สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวเมื่อมีสถาน การณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นคือต้องศึกษาข้อมูลที่เป็นจริงให้กับผู้ที่มีอำนาจสามารถตัดสินใจได้ตามข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อมูลที่เขารู้ และจะต้องเซตระบบการประคับประคองกิจการในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะที่ไม่สามารถปฏิบัติการต่อได้" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
          วันเดียวกัน นายพิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กล่าวปาฐกถา "การรับมือภัยพิบัติด้วยชุมชนท้องถิ่น" ในการประชุมวิชาการ "ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย" ว่า ท้องถิ่นควรเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการภัยพิบัติ เพราะใกล้ชิดข้อมูลประชากรและพื้นที่มากที่สุด ขณะที่รัฐต้องดูแลในภาพรวม เร่งทำแผนที่เสี่ยงภัย 70,000 หมู่บ้านด่วน เพื่อดำเนินการลดความเสี่ยง เช่น เปลี่ยนเส้นทางเดินน้ำ ปลูกป่าโกงกางและการก่อสร้างที่แข็งแรง ส่วนชุมชนในพื้นที่เสี่ยงต้องมีแผนรับมือของชุมชนและฝึกซ้อมอยู่เสมอ.


pageview  1205118    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved