HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 30/05/2556 ]
กรมอนามัย เผยไม่กินอาหารเช้า เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยไม่กินอาหารเช้าอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน พบพฤติกรรมการกินอาหารเช้าของกลุ่มวัยทำงาน ร้อยละ 59.55 กินอาหารเช้าเป็นประจำ และร้อยละ 24.09 กินอาหารเช้าเกือบทุกวัน ในขณะที่เด็กวัยเรียนไม่กินอาหารเช้าร้อยละ 30 โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 52
          นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมการกินอาหารเช้าโดยสำนักโภชนาการกรมอนามัยในปี 2555 จำนวน 220 ตัวอย่างพบว่า ร้อยละ 88.2 เป็นกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 20 - 30 ปี ซึ่งกินอาหารเช้าเป็นประจำร้อยละ 59.55 กินอาหารเช้าเกือบทุกวัน ร้อยละ 24.09 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพศชายและเพศหญิง พบว่า เพศชายกินอาหารเช้าทุกวันมากกว่าเพศหญิง คือ ร้อยละ 64 ในขณะที่เพศหญิงร้อยละ 57.24 และส่วนใหญ่กินข้าวเป็นอาหารเช้าเป็นประจำ ร้อยละ 50.45 และ ดื่มชา กาแฟ แทนข้าว ร้อยละ 25 รองลงมาคือ นมจืดพร่องมันเนย ร้อยละ 13.64 สาเหตุส่วนหนึ่งที่กลุ่มวัยทำงานไม่ได้รับประทานอาหารเช้าคือ การดำเนินชีวิตที่เร่งรีบส่งผลให้การเริ่มต้นระบบเผาผลาญของร่างกายช้าลง ร่างกายจึงรู้สึกหิวตลอดเวลา และกินอาหารในมือถัดไปมากยิ่งขึ้นกินจุบกินจิบ และมักเลือกเมนูอาหารที่ให้พลังงานสูงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การอดอาหารเช้ายังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน เนื่องจากคนรับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ จะลดภาวะผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน หรือภาวะดื้อของอินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 35-50 และผลการวิจัยจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกายังพบว่าการรับประทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือกสมองและโรคหัวใจอีกด้วย
          นายแพทย์เจษฎา กล่าวตอ่ไปว่าสำหรับพฤติกรรมการกินอาหารเช้าของเด็กวัยเรียนพบว่า เด็กอายุ 6 -11 ปี ร้อยละ 30 ไม่กินอาหารเช้าและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้นโดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิง อายุ 12 - 14 ปี ไม่กินอาหารเช้า ถึงร้อยละ 52 ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารเช้าโดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมหากเด็กวัยเรียนไม่รับประทานอาหารเช้าจะส่งผลเสียต่อการเรียนและสุขภาพ เพราะร่างกายจะทำงานเพื่อเผาผลาญตลอดเวลาแม้ในขณะหลับและเมื่อไม่ได้ทานอาหารเช้าทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารจะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงร่างกายอ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลม เพราะสมองได้รับน้ำตาลกลูโคส ไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ยิ่งมีอาการในช่วงเวลาเรียนจำทำให้เด็กไม่มีสมาธิเรียน อาจเป็นโรคกระเพาะจนถึงขั้นต้องพักการเรียนได้
          นายแพทย์เจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่าอาหารเช้าเป็นมื้อที่มีประโยชน์ต่อทุกเพศทุกวัยซึ่งอาหารเช้าที่เหมาะสมสำหรับทุกกลุ่มวัยควรให้พลังงานประมาณ 400 - 450 กิโลแคลอรี่ โดยเลือกอาหารเช้าให้มีความหลากหลาย ปรุงสุก สด ใหม่เสมอ หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป เพราะมีสารอาหารที่มีประโยชน์น้อย และมีโซเดียมสูงแต่สามารถเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จที่มีขาวทั่วไป เช่น ข้าวต้มหมู ไก่ ข้าวผัดหมูใส่ไข ข้าวไข่เจียว บะหมี่ผัด ข้าวหมูทอด และเพิ่มผักสด ผลไม้สด เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน สำหรับการเตรียมอาหารเช้าให้เด็กวัยเรียน ต้องเป็นเมนูที่ถูกหลักโภชนาการ มีโปรตีนสูง และเตรียมง่าย เช่น ข้าวต้มเครื่อง โจ๊ก ข้าวผัด อาหารประเภทซีเรียล ผสมนมรสจืด ขนมปังแซนวิส สำหรับข้าวเหนียวหมูปิ้งซึ่งเป็นเมนูอาหารเช้าที่หาซื้อได้ง่ายต้องเลือกเป็นหมูปิ้งไม้ที่ไม่ติดมัน ไม่ไหม้เกรียมจนเกินไป และควรเพิ่มผักสดเพื่อเป็นการฝึกให้เด็กกินผักด้วย ควรใช้ผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน และรสขม เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง แครอท หรือหั่นผักให้เป็นชิ้นเล็กเพื่อเพิ่มสีสันในเมนูอาหาร ที่สำคัญควรเตรียมนมรสจืด 1 กล่องและผลไม้ประมาณ 1 ผล เช่น ส้ม แอปเปิ้ล ชมพู่ เพื่อให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วย
          "ทั้งนี้ หลักโภชนาการที่ถูกต้องควรกินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้าซึ่งถือเป็นมื้อที่สำคัญมาก หากไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าเองก็ควรจะเพิ่มเวลาซัก 10 - 20 นาทีเพื่อออกไปเลือกเมนูอาหารเช้าที่เหมาะสมนอกบ้าน เพราะทุกวัยโดยเฉพาะเด็กวัยเรียนทีต้องการพลังงาน สารอาหารที่ครบถ้วนและหลากหลายให้เพียงพอต่อร่างกายควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมขบเขี้ยว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนของเด็กไทยพร้อมทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ทำให้สมองสามารถเรียนรู้ จดจำ มีสมาธิ พร้อมเริ่มวันใหม่ ตลอดจน ทำกิจกรรมการเรียนรู้กับเพื่อได้อย่างดี ควบคู่กับสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย" อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด
          กรมอนามัยส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี


pageview  1205450    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved