HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 22/04/2556 ]
เร่งสุ่มตรวจยาและสารตกค้างในสินค้าเกษตร ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศ

 ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม บูรณาการในการยกระดับสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ให้มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น
          นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากเดิมที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบดูแลเฉพาะสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศทั้งหมด ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่ดูแลสินค้าเพื่อการบริโภคที่จำหน่ายในประเทศ โดยในส่วนของสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะมีกระบวนการเข้าไปควบคุมตั้งแต่ในระดับฟาร์มให้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP ไปจนถึงก่อนการส่งออกที่กำหนดให้ผู้ส่งออกเกือบทุกรายต้องผ่านการสุ่มตรวจสารตกค้างตามข้อกำหนดของ OIE เรื่องปริมาณสารตกค้างที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจนถึงปัจจุบันการดำเนินงานในส่วนนี้นับว่าได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ จากตัวชี้วัดของปริมาณสินค้าเกษตรที่ถูกตีกลับที่มีน้อยมาก ในขณะที่ส่วนความรับผิดชอบสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคที่วางจำหน่ายตามตลาดภายในประเทศที่มีการสุ่มตรวจสอบโดยกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่จะทำให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกนั้น มีความยากลำบากกว่ามาก เนื่องจากไม่มีเครื่องมือเพื่อการบังคับปฏิบัติ การซื้อขายเป็นไปด้วยความสมัครใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในประเทศ
          ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องกลับมาบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจสอบสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป เพื่อช่วยทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าเกษตรมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยการดำเนินงานเพื่อการบูรณาการดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ จะออกเดินสายสุ่มตรวจสารต้องห้ามที่ตกค้างอยู่ในสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าพืชผัก ในตลาดทั้ง 2 ประเภท คือ ตลาดค้าส่ง และตลาดโมเดิร์นเทรด ทั้งนี้การสุ่มตรวจสินค้าเกษตรปลายทางภายในประเทศก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภคดังกล่าว เป็นกลยุทธ์การตรวจสอบย้อนกลับที่กระทรวงเกษตรฯ จะใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลการผลิตสินค้าเกษตรในระดับฟาร์ม/ไร่นาอีกครั้ง
          ทั้งนี้ ได้เริ่มสุ่มตรวจสินค้าเกษตรในตลาดค้าส่งและตลาดโมเดิร์นเทรด คือ ตลาดไท และห้างสยามแมคโคร สาขาคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยเจ้าหน้าที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ สินค้าประมง และสินค้าพืชผักและ   ผลไม้ มาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์จากร้านค้า ทั้งเนื้อโค เนื้อสุกร และเนื้อไก่ รวม 12 ตัวอย่าง และเครื่องในสัตว์ 10 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง ได้แก่ สารเบต้าอะโกรนิสต์ สารไนโตรฟูแรนส์ และตรวจวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน รวมทั้งได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาทับทิม ปลานิล ปลาดุกอุย และ กุ้งขาว รวม 18 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์การตกค้างของสารปฏิชีวนะ นอกจากนี้ยังมีการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลไม้จากทั้ง 2 ตลาดดังกล่าว รวม 38 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างด้วย ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์สินค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ ยังได้เตรียมขยายการตรวจสอบไปยังตลาดเทศบาลทั่วประเทศอีกด้วย
          นายนิวัติ กล่าวเพื่อเติมว่า เมื่อเข้าสู่ AEC ในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องไปดึงวัตถุดิบสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังต่างประเทศ ในขณะเดียวกันสินค้าที่นำเข้ามา ต้องมีคุณภาพที่ดีพอ หากไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด เราก็จะเข้าไปแนะนำประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งสินค้าเข้ามาว่า ถ้าใช้สารต้องห้าม จะไม่มีการนำเข้าโดยเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นสารอนุญาตให้ใช้ได้ก็ควรจะมีวิธีการดู แลที่ดี ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศปลายทางที่เราส่งออกสินค้าไปโดยเฉพาะ EU ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก การผลิตสินค้าเกษตรทั้งหมดต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ในการปลูกพืชแต่ละชนิด เกิดจากการบุกรุกทำลายป่าหรือไม่ หรือการใช้สารเคมีต่าง ๆ ปนเปื้อนไปยังแหล่งน้ำหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากเราจะควบคุมในประเทศแล้ว เรายังต้องให้ความรู้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ในอนาคตจะเป็นแหล่งวัตถุดิบต้นทางของเราด้วยเช่นกัน
          อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ยาและสารเคมีทางการเกษตรให้กับเกษตรกร และผู้รับซื้อ/ผู้รวบรวม คนกลาง รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตสินค้าตามมาตรฐาน GAP เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภคภายในประเทศ และเพื่อประโยชน์ของประเทศในการสร้างรายได้ ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ซื้อในต่างประเทศด้วย.


pageview  1206108    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved