HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 18/04/2556 ]
ดูแล'อิริยาบถประจำวัน' ช่วยชีวิตห่างไกลโรคปวดหลังได้

"ปวดหลัง" เป็นอาการของโรคที่ไม่ถึงกับอันตรายถึงชีวิต เพราะส่วนมากเป็นแล้วหาย ขอบเขตของโรคแค่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลงบ้างอันเนื่องมาจากความเจ็บปวดทรมาน แต่สำหรับคนที่ปวดหลังจนกลายเป็นเรื้อรัง มีไม่น้อยที่ต้องจบด้วยการผ่าตัด และไม่น่าเชื่อว่ากว่าครึ่งของประชากรวัยทำงานมักประสบกับอาการปวดหลังมาแล้ว
          อย่างไรก็ดี ภายในงานมหกรรมดูแลสุขภาพ "แฟมิลี่ เฮลท์ แฟร์ 2013" ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 กับธีมเก๋ๆ "Secret to live by Samitivej Srinakarin" ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เครือโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นเพื่อสร้างกระแสให้คนรักสุขภาพตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง โดยมีความมุ่งหวังให้คนไทยมีชีวิตที่ยาวอย่างมีคุณภาพ เปี่ยมไปด้วยความสุข ณ ศูนย์การค้าพาราไดส์ พาร์ค เมื่อเร็วๆ นี้ มีเคล็ดลับการดูแลอิริยาบถในชีวิตประจำวันให้ห่างไกลจากโรคปวดหลังมาฝากกัน
          หากเป็น การนอน ควรนอนในท่าที่ทำให้กรดูกสันหลังอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง ผ่อนคลายที่นอนก็ควรเลือกของดี คือ เมื่อนอนและวการยุบตัวของที่นอนต้องรับกับส่วนโค้งของกระดูกสันหลังอย่างพอเหมาะ เมื่อตื่นนอนในตอนเช้าควรยืดเส้นยืดสายก่อนลุก และพลิกตัวไปในด้านที่จะยืนพร้อมใช้ข้อมือยันพยุงตัวก่อนลุกขึ้น
          การทำกิจวัตรประจำวันในห้องน้ำ ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะช่วงเวลาเช้าหลังยังไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรับการทำงานหนักๆ ดังนั้นอ่งล้างหน้าไม่ควรอยู่ต่ำเกินไป ส่วนการแปรงฟัน ล้างหน้า ก็ต้องระวังเรื่องการก้มหลัง ซึ่งอาจให้มือข้างหนึ่งยันไว้ระหว่างการล้างหน้าเพื่อลดการทำงานของหลัง ขณะที่การลุกจากชักโครกควรใช้มือยันหน้าขาหรือใช้มือพยุงหลังไว้ หากที่พักอาศัยมีผู้สูงอายุควรพิจารณาจัดหาเก้าอี้นั่งถ่าย อีกเรื่องที่ต้องตระหนักก็ คือ ที่แขวนกระดาษชำระ หรือแม้แต่หนังสือสำหรับอ่านไม่ควรอยู่ด้านหลังของชักโครก
          มาถึงการป้องกันโรคปวดหลังที่เกิดขึ้นจาก การขับรถ อย่างแรกที่ควรทำก็คือ ตำแหน่งของที่นั่งไม่ควรห่างหรือชิดเกินไป กรณีต้องขับรถเป็นเวลานานควรมีการพักและยืดหลังเป็นระยะ และจอดรถพักให้ปรับเบาะเอนเล็กน้อยเพื่อลดความเครียดให้แผ่นหลัง ถ้าจะให้ดีควรมีแผ่นเสริมเบาะให้เนินรับกับแผ่นหลังช่วงเอว นอกจากนี้การขึ้นลงรถควรหลีกเลี่ยงการเอี้ยวตัวหมุน และใช้มือช่วยพยุงเวลาลุกนั่ง
          ใน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ช่วง ขณะทำงาน ก็ต้องระวังเช่นกัน โดยการนั่งทำงานต้องอยู่ในท่าที่มไบิดลำตัว และเก้าอี้ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับส่วนโค้งของหลัง ถ้าไม่มีอาจใช้หมอนใบเล็กหนุนเวลานั่งเอนให้ส่วนก้นเข้าไปชิดกับด้านในเพื่อให้ส่วนหลังสัมผัสกับพนักผิง และระดับของเท้าควรวางให้เข้าสูงระดับเดียวกับสะโพก และจัดวางโต๊ะทำงานให้เหมาะสมไม่ทำร้ายสุขภาพ
          ส่วน อิริยาบถยามพัก ก็ไม่ควรยืนนิ่งๆ เป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถเป็นพักๆ หากพักผ่อนด้วยการนั่งก็ไม่ควรนั่งหลังงอหรือหลังค่อม จะผ่อนคลายด้วยท่านอนคว่ำศอกยันพื้นบ้างก็ได้ ตบท้ายที่ การออกกำลังกาย ควรหาวิธีออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อหลังมีความยืดหยุ่น แข็งแรง และชะลอการเสื่อมตามธรรมชาติ แต่หากไม่เคยออกกำลังกายหรืองดเว้นไปนานควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน
          พร้อมกันนั้น ยังมีท่าออกกำลังกาย 8 ท่า ป้องกันโรคปวดหลังให้ลองปฎิบัติเพื่อสุขภาพหลังที่ดี เริ่มจาก ท่าที่ 1 ยืดกล้ามเนื้อโคนขาด้านหลัง ให้นอนหงายงอเข่า 1 ข้างยกขาข้างที่เหยียดให้สูงเท่ากับเข่าข้างที่งอ โดยให้เข้าตึงตลอดเวลา ยกขึ้นลงช้าๆ 10 ครั้ง ทำสลับขาอีกข้างหนึ่ง ท่าที่ 2 ยืดกล้ามเนื้อสะโพก นอนหงาย เอามือสอดใต้เข้าอีกข้างหนึ่งดึงมาให้ชิดหน้าอกให้มากที่สุด นับ 1-10 ทำสลับกันไป-มา ท่าที่ 3 ยืดกล้ามเนื้อหลัง นอนหงายชันเข้า 2 ข้างเอามือสอดใต้เข่าทั้ง 2 ข้าง ดึงเข้ามาจนชิดหน้าอก นับ 1-10 พัก ท่าที่ 4 เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้อง นอนหงายชันเข้า 2 ข้าง เอามือกอดอก ยกศีรษะและสะบักขึ้นเล็กน้อยให้พ้นพื้น ให้รู้สึกว่ากล้ามเนื้อท้องกำลังเกร็งตัว นับ 1-5 พัก
          ท่าที่ 5 เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องด้านข้างและกล้ามเนื้อหลังส่วนลึก นอนหงายชันเข่า กดหลังแนบกับพื้น ใช้มือหนุนศีรษะแล้วยกตัวเอียงซ้าย นับ 1-5 พัก แล้วทำซ้ำอีกด้านหนึ่ง ท่าที่ 6 ลดความแอ่นลงของบั้นเอว นอนหงายชันเข่า เกร็งกล้ามเนื้อก้นย้อย โดยการทำท่าขมิบก้นให้ก้นลอยพ้นพื้น นับ 1-10 พัก ท่าที่ 7 ยืดกล้ามเนื้อสีข้าง นอนหงายงอเข่าข้างหนึ่ง ใช้ส้นเท้าอีกข้างหนึ่งทับเข่าข้างที่งออยู่ กดลงด้านตรงข้ามลงจรดพื้น นับ 1-10 หัวไหล่ 2 ข้างต้องแนบพื้นตลอดเวลาทำสลับข้าง และ ท่าที่ 8 เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อหลัง นอนคว่ำหมุนหมอนบริเวณท้องแขนแนบลำตัว แอ่นยกไหล่และระดับลำตัวขึ้น นับ 1-5 พัก ระวังอย่าให้ศีรษะแหงนมากเกินไปจะทำให้ปวดคอ
          แต่ถ้าทำอย่างป้องกันทุกทาง อาการปวดหลังเกิดขึ้นและไม่บรรเทาจนต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดโรคกระดูกสันหลัง ทว่าอาการกลับไม่หายขาด ยังคงมีอาการเจ็บปวดหรืออาการทางระบบประสาทที่ย่ำแย่ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า Failed Back Surgery หรือ Failed Back Syndrome เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ประกิต เทียนบุญ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้สานกระดูกสันหลัง ข้อ และข้อสะโพก รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า สามารถมารับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์ที่เรียกว่า "Revision Spine Center" ที่ทาง รพ.ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยที่เป็น Failed Back Surgery ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียแปซิฟิก ด้วยความชำนาญของทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ การวินิจฉัยที่แม่นยำ พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ทำให้มั่นใจในผลการรักษาได้มากขึ้นว่าสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง.

 


pageview  1206109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved