HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 12/03/2556 ]
'แอลฟา-แล็คตัลบูมิน'ในนมแม่ กระตุ้นพัฒนาการสมองลูกน้อยให้สมบูรณ์

จากผลการสำรวจพบล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 โดยกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ไอคิวของเด็กไทยด้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับเด็กทั่วโลกที่มีพัฒนาการดีขึ้น ไอคิวเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 98 เท่านั้น ถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 100 นับเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
          อีกทั้งปัญหาที่ควรเร่งแก้ไขคือ กรณีแด็กไทยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนหรือ 3 ขวบปีแรก มีปัญหาขาดสารอาหารถึงร้อยละ 25 ทั้งนี้การขาดสารอาหารมีผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาสมองในวัยเด็ก เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่สมองเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด และต้องการสารอาหารสำคัญที่รู้จักกันดีอย่าง "แอลฟาแล็คตัลบูมิน" ซึ่งพบในน้ำนมแม่และเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการทำงานของสมองได้เป็นอย่างดี
          ดร.สุธาวัลย์ หาญขจรสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพเด็กจากศูนย์อัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยว่า หนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมและมีผลกระทบต่อสติปัญญา ของเด็กนักเรียนไทยคือ ปัจจัยด้านโภชนาการ เป็นที่ทราบกันดีว่าสมองประกอบขึ้นด้วยเซลล์ประสาทนับแสนล้านเซลล์ โดยมีใยประสาทเชื่อมระหว่างเซลล์ ยิ่งมีใยประสาทมากก็หมายความว่าคนนั้นจะยิ่งฉลาดมาก และเรียน รู้ได้รวดเร็ว ซึ่งสมองจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ขวบปีแรก ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองควรใส่ใจช่วงเวลาสำคัญ ด้วยการมอบสารอาหารที่ถูกต้องในแต่ละช่วงวัยให้แก่ลูก อันจะนำไปสู่การพัฒนาสมองได้เต็มศักยภาพของลูกน้อย
          ด้าน พญ.วิมล ลี้วิบูลย์ศิลป์ กุมารแพทย์ กล่าวถึงการค้นพบที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของ ศ.นพ.เอริก แคนเดล นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขา Physiology or Medicine ในปี พ.ศ. 2543 ที่พบว่าความสามารถในการทำงานต่างๆ ของสมอง ล้วนเกิดจากการสื่อสารกันระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง ที่สร้างความทรงจำ การเรียนรู้ และส่งผลต่อความคิด การสร้างสรรค์ อารมณ์ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมต่างๆ ของเรา ซึ่งการสื่อสารดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยการอาศัยสารเคมีที่สมองสร้างขึ้นเรียกว่า "สารสื่อประสาท"ทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทในสมองที่มีอยู่นับล้านๆ เซลล์
          "เด็กเล็กไม่สามารถสร้างสารสื่อประสาทขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีน เพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารสื่อประสาท ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับการสร้างสารสื่อประสาทในสมองของเด็ก และสิ่งจำเป็นต่อการสร้างสารสื่อประสาทอย่างหนึ่งก็คือ "แอลฟาแล็คตัลบูมิน" หรือโปรตีนคุณภาพพบมากในนมแม่ ทำหน้าที่ช่วยเพิ่มการขับเคลื่อนการทำงานของสมอง การควบคุมอารมณ์ การรับประทานอาหาร และการนอนหลับ ส่งผลให้สมองและความคิดทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า นมแม่เป็นแหล่งที่ดีที่สุดของสารอาหารที่ว่า" กุมารแพทย์หญิงกล่าว
          พญ.วิมลกล่าวต่อว่า หากเด็กเล็กขาดแอลฟา-แล็คตัลบูมินผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เด็กเติบโตช้า มีพัฒนาการไม่สมวัยแล้ว ยังส่งผลให้ความสามารถในการทำงานของสมองลดลงอีกด้วย และระยะยาวอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้และการพัฒนาสมองของเด็กได้
          อย่างไรก็ดี พญ.วิมลย้ำเพิ่มว่า สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับคุณแม่ทุกท่านคือ นมแม่มีโปรตีนคุณภาพสูง และเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายทำให้ร่างกายลูกดูดซึมนำไปใช้ได้ดี ช่วยให้เด็กเจริญเติบโต นมแม่จึงถือได้ว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดของทารก เป็นจุดเริ่มต้นของต้นทุนที่ดีของสมองและเสริมสร้างไอคิว เพราะมีคุณค่าทางอาหารและปริมาณสารอาหารครบถ้วน ทั้งวิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย และที่สำคัญโปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในร่างกาย นับตั้งแต่เส้นผมจนถึงปลายเท้า นอกจากนี้ร่างกายทารกยังต้องใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อและเจริญเติบโต ดังนั้นการให้ทารกดื่มนมแม่จึงได้รับสารอาหารที่ดีและมีประโยชน์ที่สุดค่ะ"


pageview  1205168    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved