HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 08/02/2555 ]
ก้าวแรกสู่ประชาคมอาเซียน คณะวิทย์ ม.รังสิต ผลิตบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์เข้าตาลักแซมเบิร์ก
          The Grand-Duchy of Luxembourg ประเทศลักเซมเบิร์ก พอใจผลงานการผลิตบุคลากรทางด้านเครื่องมือแพทย์ของสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.รังสิต ก้าวแรกในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
          รศ.นันทชัย ทองแป้น หัวหน้าสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่าเนื่องด้วยประเทศลักเซมเบิร์ก โดย The Grand-Duchy of Luxembourg ซึ่งในปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ในประเทศเวียดนาม ได้ให้ทุนสนับสนุนกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการพัฒนาบุคลากรทางด้านเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญมากในปัจจุบันในการที่จะทำให้การให้บริการทางด้านสาธารณสุขพื้นฐานมีมาตรฐานในสากล ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2552 ทางประเทศลักเซมเบิร์กได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยการจัดส่งบุคลากรมาพัฒนาความรู้ทางด้านเครื่องมือแพทย์ สาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตจำนวน 15 คน โดยเรียนในระดับปริญญาตรีหลักสูตร 3 ปี จำนวน 5 คน เพื่อพัฒนาเป็นวิศวกรชีวการแพทย์และอบรมหลักสูตรระยะสั้นระยะเวลา 1 ปี เพื่อพัฒนาเป็นช่างเครื่องมือแพทย์ จำนวน 10 คน โดยนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรปริญญาตรี คาดว่าจะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2554 นี้ ส่วนที่อบรมหลักสูตรระยะสั้นระยะเวลา 1 ปีนั้น ได้สำเร็จการศึกษาไปแล้วในปีการศึกษา 2552
          หลังจากที่ช่างเครื่องมือแพทย์ที่จบหลักสูตร 1 ปีจากสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ไปทำงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นระยะเวลาครบ 1 ปี (มิถุนายน 2553-มิถุนายน 2554) ทาง The Gran-Duchy of Luxembourg ประเทศลักเซมเบิร์ก และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ร่วมมือกันประเมินผลถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงานของบุคลากรดังกล่าว ปรากฏว่าผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจของผู้ประเมิน จึงได้คัดเลือกบุคลากรอีกจำนวน 10 คน ส่งมาฝึกอบรมระยะสั้นกันสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นรุ่นที่ 2 โดยมีระยะการจัดการเรียนการสอนเป็นเวลาประมาณ 1 ปี (สิงหาคม 2554-พฤษภาคม 2555)
          อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และผู้บริหารของ The Grand-Duchy of Luxembourg ประเทศลักเซมเบิร์ก ได้มาประชุมร่วมกับสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในวันที่ 15 กันยายน 2554 ได้มีความก้าวหน้าของความร่วมมือกันมากขึ้น โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเชิญบุคลากรจากสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตไปเป็นที่ปรึกษาทางด้านเครื่องมือแพทย์ให้กับกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเริ่มต้นจากการที่สาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์พานักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 ออกไปให้บริการวิชาการทางด้านเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคม ที่ผ่านมา นอกจากนั้นจะมีการพิจารณาให้บัณฑิตที่จบการศึกษาจากสาขาวิชาอุปกรณ์วิชาชีวการแพทย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีประสบการณ์มากพอไปทำงานเป็น Regional Clinical Engineer ในประเทศลาวและเวียดนามในโอกาสต่อไปภายใต้การบริหารจัดการของ The Gran-Duchy of Luxembourg ประเทศลักเซมเบิร์ก โดยรับเงินเดือนในอัตราของประเทศลักซัมเบิร์กอีกด้วย
          "การได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากต่างประเทศในครั้งนี้ ทางสาขาวิชาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นจากความรู้ความสามารถของของบุคลากรของสาขาวิชาการอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ทุกท่าน ที่ทุ่มเทอย่างหนักเอาจริงเอาจังกับการสอน งานวิจัยและงานบริการทางวิชาการทางด้านนี้ตลอดระยะเวลา 9 ปี ของการเปิดสอนในสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ขึ้นในมหาวิทยาลัยรังสิต จนบัณฑิต และผลงานอื่นๆ ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก คณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิตในด้านต่างๆ จนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาจนถึงวันนี้ได้ และทางสาขาวิชามั่นใจว่าการร่วมมือกับ The Gran-Duchy of Luxembourg ประเทศลักเซมเบิร์ก และกระทรวงสาธารณสุขประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านศักยภาพในการแข่งขันให้กับบุคลากรและนักศึกษาของสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่จะมาถึงนี้ นอกจากนั้นความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรฐานของการให้บริการทางด้านสาธารณาสุขพื้นฐานให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาสในประเทศอาเซียนให้มีมาตรฐานในระดับสากลอีกทางหนึ่งด้วย" หัวหน้าสาขาวิชาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ฯ กล่าว

pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved