HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 29/01/2556 ]
เอาให้อยู่..เด็กเป็นโรคซนสมาธิสั้น

 ความซนกับเด็กๆ มักเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร ดังคำกล่าวที่ว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด แต่ถ้าลูกรักของคุณมีอาการอยู่ไม่สุข อยู่ไม่นิ่ง ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ หรือซนมากผิดปกติจนกลายเป็นปัญหาคับอกคับใจ ให้คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งกลุ้มว่าลูกฉันเป็นลิงกลับชาติมาเกิดหรืออย่างไร
          กรณีปัญหาดังกล่าว "ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ" เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มีหนทางเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ที่กำลังปวดหัว โดยชี้ให้เข้าใจว่า โรคซนสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) นั้นเป็นปัญหาที่พบบ่อยในช่วงวัยเด็ก (ร้อยละ 5-15 ในเด็กวัยเรียน) ต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยเด็กจะแสดงอาการ คือ ไม่สามารถจดจ่อหรือมีสมาธิในสิ่งที่ทำ (ไม่รวมถึงการเล่นเกม หรือดูทีวี) มีความยากลำบากในการควบคุมพฤติกรรมหรือหุนหันพลันแล่น และซนอยู่ไม่สุข ซึ่งอาการอาจรุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทั้งพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กบางคนอาจซน อยู่ไม่นิ่ง และไม่สามารถควบคุมตนเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจมีอาการสมาธิสั้นเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อยทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย โรคซนสมาธิสั้นพบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในต่างประเทศพบว่าประมาณ 3-5% ของเด็กวัยเรียนเป็นโรคนี้
          อาการของเด็กแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ 1.ขาดสมาธิ เด็กจะแสดงอาการวอกแวกง่าย ไม่ใส่ใจรายละเอียด หรือเลินเล่อในการทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ ไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น เบื่อง่าย แม้ว่าเพิ่งเริ่มเล่นหรือทำกิจกรรมไม่กี่นาที มีปัญหาในการจดจ่อหรือจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม ไม่สามารถเล่นหรือทำการบ้านได้เสร็จ ขี้หลงขี้ลืมทำของหายบ่อยๆ ดูเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย เหม่อ เชื่องช้า และสับสนง่าย ประมวลข้อมูลได้ช้าและไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน ไม่สามารถทำตามคำสั่งหรือแนวทางที่ให้ไว้ 2.ซน อยู่ไม่สุข เด็กจะมีลักษณะยุกยิก อยู่ไม่สุข หรือบิดตัวไปมาเมื่อต้องนั่งอยู่กับที่ พูดมาก พูดตลอดเวลา วิ่งไปมา เล่นหรือจับของเล่นทุกชิ้นที่เห็น เคลื่อนที่ตลอดเวลา ไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ขณะกินอาหาร เรียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่ต้องนั่งได้ เล่นเสียงดังตลอดเวลา หรือไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมเงียบๆ ได้ และ 3.หุนหันพลันแล่น เด็กจะมีพฤติกรรมไม่มีความอดทน พูดโพล่งด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม ชอบขัดจังหวะ หรือพูดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่ แสดงความรู้สึกโดยไม่เก็บอาการ หรือทำสิ่งต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา รอคอยไม่เป็น ชอบแซงคิว
          หากเด็กมีอาการในข้อ 1. ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป แสดงว่าเขาน่าจะมีปัญหาสมาธิสั้น แต่ถ้าเขามีอาการในข้อ 2.และ 3. ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป แสดงว่าเขาน่าจะเป็นเด็กซน-หุนหันพลันแล่น แต่ถ้ามีอาการทั้ง 3 ข้อ แสดงว่าเขาเป็นเด็กซนสมาธิสั้น โดยเด็กต้องแสดงอาการก่อนอายุ 7 ปี มีอาการทั้งที่บ้านและโรงเรียน รวมทั้งอาการดังกล่าวส่งผล กระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม การเรียน หรืออาชีพการงานซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคซนสมาธิสั้น จากผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่า โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมอง โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้นจะมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการหรือความผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลง มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว ในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคซนสมาธิสั้นสูงขึ้น
          การรักษาโรคสมาธิสั้นหรือผู้ที่มีภาวะสมาธิบกพร่องนั้น ปัจจุบันวิธีที่ยอมรับกันทั่วไปว่าได้ผลดีคือ การให้ยาเพิ่มสมาธิ ร่วมกับการฝึกเทคนิคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยและผู้ดูแล และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยและผู้ปกครองต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้นให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การรักษาเด็กซนสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ การผสมผสานการรักษาหลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน
          ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว ผู้ปกครอง และครูของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือแสดงพฤติกรรมคือ ต่อต้าน และก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่าคือ การให้คำชม หรือรางวัล (positive reinforcement) เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือตัดสิทธิพิเศษ (negative reinforcement) เด็กซนสมาธิสั้นควรมีโอกาสได้คุยกับแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดที่ตัวเด็กมี และช่วยแนะนำแนวทางปฏิบัติตัว โดยเน้นให้เด็กได้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนในส่วนที่บกพร่อง ในบางรายครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ก็มีความจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เพื่อลดความวิตกกังวลและความเครียดของเด็ก
          การช่วยเหลือทางด้านการเรียน เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพร่วมด้วย ดังนั้นครูจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ ว่ากล่าวรุนแรง หรือทำให้เด็กอับอายขายหน้า, หลีกเลี่ยงการตี หรือการลงโทษทางร่างกายเมื่อเด็กกระทำผิด, ใช้การตัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวร หรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน (เพื่อทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ) เมื่อเด็กทำความผิด, ให้เวลากับเด็กนานขึ้นกว่าเด็กปกติระหว่างการสอน หากพบว่ามีวิธีการใดที่บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวควรแจ้งให้ผู้ปกครองและแพทย์ผู้ดูแลรักษาทราบ เพื่อเป็นแนวทางร่วมกันในการปฏิบัติต่อเด็ก ก่อให้เกิดการเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน
          เมื่อผ่านวัยรุ่น ประมาณ 30% ของเด็กซนสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากอาการซนได้ แต่จะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และมีความสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัว และเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อ การทำงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง.


pageview  1206160    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved