HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 14/01/2556 ]
ปล่อยลูกร้องกลางดึกให้คุณในระยะยาว

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่มีลูกเล็กและประสบปัญหาลูกร้องกวนกลางดึก ควรอ่านผลการศึกษาชิ้นนี้ของคณะนักวิจัยอเมริกัน ที่แนะนำว่าควรปล่อยให้เทวดาตัวน้อยของคุณนอนหลับเองเป็นกิจวัตร และอย่ารีบคว้าตัวแกขึ้นมาอุ้มปลอบทันทีที่ตื่น
          ผลสรุปดังกล่าวมาจากการศึกษาของคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทมเปิลที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ที่ได้สอบถามคุณพ่อคุณแม่ของเด็กเล็กมากกว่า 1,200 คนถึงนิสัยการตื่นของเด็กวัยตั้งแต่6 เดือน, 15 เดือน, 24 เดือน และ 36 เดือน
          ข้อมูลที่ได้พบว่า เมื่ออายุได้6 เดือน เด็กราว 66% จะตื่นขึ้นมากลางคืนถึงราวสัปดาห์ละ1 ครั้ง แต่เด็ก 33% จะตื่นมันทุกคืนอย่างไรก็ดีจากจำนวนเด็ก 66% ที่ตื่นกลางดึกทั้งสัปดาห์นี้จะลดลงมาเหลือตื่น2 คืนต่อสัปดาห์เมื่ออายุได้15 เดือน และ 1 คืนต่อสัปดาห์เมื่ออายุได้24 เดือน
          มาร์ชา ไวน์ทรอบ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ผู้ร่วมเขียนรายงานชิ้นนี้ลงพิมพ์ในวารสาร "จิตวิทยาพัฒนาการ" กล่าวว่า เด็กอายุ 6 เดือนส่วนใหญ่จะหลับยาวตลอดทั้งคืน และจะร้องกวนแม่แค่สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีพัฒนาการแบบนี้
          เด็กที่ตื่นกลางดึกซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชาย จะมีแนวโน้มของระดับพื้นอารมณ์ที่เป็นเด็กเลี้ยงยากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอาการหงุดหงิดง่าย และจิตใจวอกแวก หรือเป็นเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมแม่ โดยผู้เป็นแม่มีแนวโน้มเป็นคนหดหู่และมีความอ่อนไหวในความเป็นแม่มากกว่า
          ไวน์ทรอบแนะนำว่า ข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้คือ เด็กๆ ควรถูกปล่อยให้เรียนรู้ที่จะนอนหลับด้วยตนเอง เพราะเมื่อแม่ให้ความสนใจกับการตื่นกลางดึกของลูก หรือปล่อยให้ลูกหลับคาอกขณะให้นม เด็กก็อาจจะไม่ได้เรียนรู้การรู้จักสงบหรือนอนหลับด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนอนหลับเป็นเวลา แต่ครอบครัวที่เด็กยังมีปัญหาการนอนอยู่อีกแม้จะผ่านวัย 18 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์ได้
          "คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ปล่อยให้เด็กทารกเข้านอนเป็นเวลาทุกคืน แล้วปล่อยให้แกหลับไปเอง และพยายามอย่ารีบเข้าไปอุ้มทันทีที่แกตื่น"
          คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่แน่ใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของไวน์ทรอบ ก็น่าจะอุ่นใจได้กับผลการศึกษาอีกชิ้นของนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารเวชศาสตร์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วที่ระบุว่า การปล่อยให้เด็กเล็กร้องนั้นไม่ได้ส่งผลร้ายต่ออารมณ์ของเด็ก หรือทำลายความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่แต่อย่างใด.


pageview  1205491    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved