HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 07/01/2556 ]
2013'เพาเวอร์วูแมน'ถึงเวลาหญิงไทยสลัดคราบช้างเท้าหลังขึ้นแท่นซีอีโอ

คำว่าช้างเท้าหลังและเพศภาระจะกลายเป็นอดีต เมื่อความเท่าเทียมเข้ามาแทนที่ ถึงเวลาพิสูจน์ศักยภาพสตรีไทยว่าจะไฉไลไปมากกว่านี้หรือไม่ ลองมาฟังทัศนคติของบรรดาผู้หญิงชั้นแนวหน้าว่าเขาคิดกับเรื่องนี้อย่างไร?!!?....โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมยกย่องผู้ชายให้เป็นช้างเท้าหน้ามาตลอด
          หลังจากที่ประเทศไทยได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ซึ่งแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนอมินีของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิน ชินวัตร แต่ระยะเวลา 1 ปีที่เธอได้ครองตำแหน่งบริหารงานสูงสุดของประเทศ นับเป็นแรงขับชั้นดีที่ช่วยเปิดโอกาสให้ "ผู้หญิงไทย" อีกหลายคน ใช้บันไดจากความสามารถของตัวเองปีนป่ายขึ้นไปสู่จุดสูงสุดขององค์กร โดยไม่ถูกอคติเรื่องเพศเข้ามาเบียดบัง
          สิ่งที่พิสูจน์ว่าพลังของผู้หญิงจะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศมาจากผลการสำรวจกำลังคนภาครัฐประเภทข้าราชการพลเรือนสามัญล่าสุดในปี 2550 จากสำนักงาน ก.พ. ระบุชัดว่า ราว 5 ปีที่แล้วข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นหญิงมากกว่าชาย โดยเป็นหญิงถึง 61.67% ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 38.33% ซึ่งผู้หญิงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.20% จากปีก่อนหน้า
          ในขณะที่ส่วนราชการที่มีข้าราชการพลเรือนสามัญหญิงมากกว่าชายตั้งแต่ 65% ขึ้นไป ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข 77.59% กระทรวงศึกษาธิการ 73.44% กระทรวงแรงงาน 66.99% กระทรวงการคลัง 66.81% และกระทรวงพาณิชย์ 65.73% ซึ่งล้วนแต่เป็น กระทรวงสำคัญในการพัฒนาประเทศ ส่วนกระทรวงที่มีข้าราชการชายมากกว่าหญิง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีสัดส่วนชายสูงกว่าหญิงมากที่สุด 76.45% รองลงมาเป็นกระทรวงยุติธรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ 67.76%, 61.98% และ 61.90% ตามลำดับ
          นอกจากนี้ ข้าราชการในกลุ่มระดับ 1-5 เป็นหญิงมากกว่าชายเกือบ 2 เท่า คือ เป็นหญิง 65.57% ส่วนชาย 34.43% กลุ่มระดับ 6-8 เป็นหญิงมากกว่าชายเช่นกัน หญิง 59.83% ชาย 40.17% ส่วนกลุ่มระดับ 9-11 หญิงกลับมีน้อยกว่าชาย โดยเป็นหญิงเพียง 27.40% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในกลุ่มระดับ 9 ถึงระดับ 11 ชายมากกว่าหญิงในสัดส่วนที่แตกต่างกันพอสมควร ทว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่สัดส่วนของข้าราชการหญิงในทุกระดับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี
          ไม่ต่างกับผลสำรวจของสำนักข่าวไทยรีพับลิก้าที่ขึ้นสถิติไว้ว่า ปัจจุบัน ปี 2555 ไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.). อยู่สูงถึง 81 คน คิดเป็น 19.33% มากกว่าปี 2553 ที่มีอยู่เพียง 11% ส่วนสมาชิกวุฒิสภาหญิงมีทั้งสิ้น 25 คน คิดเป็น 20.16% อีกหนึ่งผลสำรวจจากต่างประเทศก็ยืนยันว่าไทยเรานั้นอินเทรนด์ไม่น้อย เพราะประเทศไทยติด 1 ในเกือบ 30 ประเทศทั่วโลกที่มีผู้นำเป็นผู้หญิง!!
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการบริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) แสดงทัศนะว่า 20 ปีมาแล้วที่สตรีไทยมีบทบาทในสังคมกับฐานะผู้บริหารมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคเอกชน ปัจจุบันมีผู้หญิงเป็นซีอีโอเขยิบสูงถึง 30% จึงพิสูจน์ได้ว่าหญิงไทยทำงานดี ยิ่งประเทศมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกด้วยแล้ว และแม้ว่าหนทางของการมาจะเป็นเช่นไร แต่เขาก็ทำงานได้ อีกทั้งยังช่วยเปิดมิติให้ผู้หญิงมากขึ้น เพราะบางที บางตำแหน่ง บางโอกาส ผู้หญิงไม่มีทางได้ขึ้นเลย
          "บอกได้เลยว่า นับต่อจากนี้ระดับผู้นำผู้บริหารจะเป็นผู้หญิงมากขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน และสังคมให้การยอมรับด้วย เนื่องจากทุกวันนี้โลกเราเปลี่ยนแปลงไปใช้สมองมากขึ้นหญิงชายมีสมองเท่าเทียมกัน สังเกตดูได้ว่า อย่างกระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารเป็นผู้หญิงทั้งนั้น แม้แต่เจ้ากระทรวงก็เคยให้ผู้หญิงมาดำรงตำแหน่ง รมว.วธ.คนก่อนก็เป็นผู้หญิง อธิบดีกรมศุลกากรก็เป็นผู้หญิง นั่นเพราะหลายๆ เรื่องต้องอาศัยความละเอียดอ่อนแบบผู้หญิง"
          ทั้งนี้ ศิรินา ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า จริงๆ การอยู่ร่วมโลกกันควรอยู่บนพื้นฐานความสมดุล หญิงชายใครจะพีกกว่าใครไม่ได้ แต่อาจเกยกันได้นิดหน่อยตามถนัด ประเภท และลักษณะงาน
          "อีกหน่อยเราอาจได้เห็นผู้หญิงทำงานในอาชีพที่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้มากขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนไปจริงๆ ก็แล้วแต่ว่ากระทรวง ทบวง กรมไหน ภาคไหนจะเปลี่ยนเร็วกว่ากัน จากผู้หญิงเคยเป็นภาระ ต่อไปจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเคียงคู่กันแพตเทิร์นเดิมๆ จะไม่มีอีกแล้ว ที่ผู้หญิงต้องเลี้ยงลูก ผู้ชายต้องทำงานนอกบ้าน"
          ประธานกรรมการบริษัท บูติคนิวซิตี้ ยังแนะนำถึงคุณสมบัติที่ดีของผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไว้ให้ด้วยว่า ผู้หญิงต้องคิดเสมอว่าเราไม่ได้มีจุดด้อยไปกว่าผู้ชาย และผู้หญิงที่ไม่แต่งงานจะมีปัญหาน้อยกว่าในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร เพราะผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะมีอุปสรรคในเรื่องความเสียสละและรักครอบครัวสูง แต่มิได้หมายความว่าไม่ขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ การเป็นผู้หญิงที่ทำให้สามีหรือครอบครัวประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็คือประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
          ฟาก สุกัญญา วิบูลย์คงสัจจะ อดีตนายกสมาคมเลขานุการสตรีและนักบริหารจัดการแห่งประเทศไทย (สลสท.)บอกว่า ความเป็นผู้นำของผู้หญิงเป็นมาอยู่เรื่อยๆไม่เคยตก โดยเฉพาะกรณีที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ทำให้สังคมเห็นว่าผู้หญิงมีความสามารถในทุกๆ สาขา ทุกๆ อุตสาหกรรม ที่ผู้หญิงจะก้าวขึ้นมาเป็นนัมเบอร์วันทัดเทียมกับผู้ชาย และอีก 5 ปีต่อจากนี้เชื่อแน่ว่าผู้หญิงจะก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอมากขึ้นอีก เป็นปรากฏการณ์ใหม่ อุตสาหกรรมใดที่ไม่เคยมีผู้หญิงเป็นผู้นำก็จะมีขึ้นมา
          "ประเทศไทยเป็นประเทศเปิดเสรีเรื่องความคิด เราไม่ใช่ประเทศที่แบบว่าผู้หญิงต้องเรียบร้อย ถ้ามีความสามารถก็แสดงออกมาได้ เพราะไม่ใช่เรื่องเสียหายและผู้ชายในบ้านเราก็ยอมรับ หากต้องรอแต่คนเก่งที่เป็นผู้ชายอาจเกิดความเสียหายและสู้คู่แข่งไม่ได้" อดีตนายกสมาคม สลสท. แจง และกล่าวต่อว่า
          สำหรับผู้หญิงที่คิดก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ควรมีคุณสมบัติดังนี้ คือ มีความเป็นผู้นำที่ดี มีจิตวิทยาที่ดีในการบริหารลูกน้อง บริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีบุคลิกภาพที่ดี มีความรู้รอบ ทักษะเด่น และเข้าใจเรื่องการสื่อสารเรื่องอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการขึ้นเป็นผู้บริหาร สำคัญอยู่ที่ความพร้อม ถ้าพร้อม ขึ้นไปก็สามารถบริหารได้อย่างสง่างาม แต่บางทีอายุน้อยขึ้นไปแล้วเฟลทำให้งานเสียหายก็มี กล่าวได้ว่า บางอย่างต้องอาศัยเวลา แต่บางอย่างไม่จำเป็น
          สุกัญญา บอกด้วยว่า ส่วนความอ่อนโยนของผู้หญิงจะได้เปรียบในเชิงบริหารหรือไม่ ตนคิดว่าผู้หญิงที่มีความอ่อนโยนเป็นทุนก็ถือว่าเป็นเสน่ห์ แต่ถ้าอ่อนโยนแล้วเอาแต่ร้องไห้คงไม่ได้ ทั้งนี้ ผู้นำสตรีในบ้านเราส่วนมากมีบุคลิกสตรอง แต่เขาก็มีความอ่อนโยนในแบบตัวเองมากกว่า และข้อดีของการมีผู้หญิงเป็นผู้นำก็คือ ความประนีประนอม จัดการได้ลงตัวแบบเสียหายน้อยที่สุด
          "แต่ขึ้นชื่อว่าสังคมไม่มีใครทำให้ทุกคนถูกใจได้เต็มร้อยคนหัวอนุรักษ์ย่อมมี จึงไม่อยากให้ผู้หญิงฟังเสียงรอบข้างมากนัก ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่ท้าทายก็ควรทำให้ดีที่สุด อย่าปล่อยให้โอกาสเสียไป พิสูจน์ตัวเองให้ได้ ขอให้มั่นใจในการขับเคลื่อนสำหรับตัวเองแล้วผู้หญิงคนไหนก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอได้ ถือว่าเป็นคนมีความสามารถพิเศษจริงๆ" อดีตนายกสมาคม สลสท. ให้กำลังใจ
          ด้าน พนิตตา อริยะวิชา ผู้อำนวยการฝ่ายการสังคมและประชาสัมพันธ์ โรงแรมดุสิตธานี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้หญิงมีบทบาทในแวดวงธุรกิจสังคมข้าราชการมากขึ้น ทั้งนี้มองว่าเป็นเพราะยุคสมัยเปลี่ยน ความสามารถผู้หญิงมีมากขึ้น ฐานประชากรก็เป็นผู้หญิงมากขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนที่ผู้หญิงจะขึ้นเป็นผู้นำมีมากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว และยิ่งผู้หญิงได้รับการศึกษาสูงในจำนวนที่มากขึ้น ก็ทำให้แปรเปลี่ยนจากช้างเท้าหลังขึ้นมาเป็นช้างเท้าหน้าได้
          "เรามองว่าการขึ้นแท่นนี้ ไม่ใช่ว่าต้องมาชนะหรือได้เปรียบผู้ชาย ไม่ได้มองเรื่องเพศแต่อยากให้ผู้หญิงแข่งกับตัวเอง จงเชื่อในศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกันนอกจากนี้ ผู้หญิงไทยต้องพัฒนาจุดแข็งของตัวเอง เปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเสริมความรู้ที่มีให้กับเพื่อนผู้หญิงคนอื่นด้วยคือเก่งแล้วอย่าลืมคืนกำไรให้สังคมด้วย"
          จบท้ายที่ มิเชล บาเอร์เลต รองเลขาธิการสหประชาชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ UN Women กล่าวไว้หลังจากเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีของไทยเมื่อเร็วๆนี้ว่า ความเหลื่อมล้ำทางเพศมาจากอคติที่มองว่าศักยภาพของผู้หญิงเป็นรองผู้ชายทั้งที่จริงไม่ใช่ นอกจากนี้ ประเทศไทยควรพัฒนาให้มากขึ้น ด้วยการผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมืองให้มากขึ้น
          "แม้ตัวเลข ส.ส., ส.ว. และนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นผู้หญิงจะต่ำอยู่มาก แต่ไทยก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีผู้บริหารผู้หญิงมากที่สุดในภูมิภาคเดียวกัน นับต่อจากนี้ต้องสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองให้มากขึ้น เพราะพวกเธอสามารถเป็นตัวแทนของสังคมไทย และกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทุกระดับได้" บาเอร์เลต กล่าวเชื่อได้ว่าด้วยคุณสมบัติความละเอียดอ่อนรอบคอบ อดทน และทำงานภายใต้แรงกดดันสูงได้ของผู้หญิงไทย บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สถิติการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งงานระดับสูงของอิสตรีมีมากขึ้น พลังเงียบของผู้หญิงที่เคยถูกฉาบปิดไว้ จะกลายเป็นพลังสำคัญที่ช่วยประเทศขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสมาชิกสมาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าได้อย่างสง่างาม.

 


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved