HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 13/09/2555 ]
ปรับพฤติกรรม...ช่วยลดปัญหานอนไม่หลับ

ภาวการณ์นอนไม่หลับไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ยังกระทบต่อการทำงานด้วยเช่นกัน และที่สำคัญอาการนอนไม่หลับยังเป็นตัวบ่งบอกถึงโรคสมองและระบบประสาทได้ เนื่องจากในระหว่างที่นอนหลับสมองไม่ได้หยุดทำงานชั่วคราวอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการทำงานของสมองในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยอาศัยกลุ่มเซลล์ประสาทบางกลุ่มที่จะทำหน้าที่แทน จึงทำให้เกิดความรู้สึกง่วง อยากจะนอนหลับ และทำให้เกิดการฝัน พูดง่ายๆ ว่ากลไกการนอนหลับจึงถูกควบคุมโดยตรงจากสมอง ดังนั้นการนอนไม่หลับจึงเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับระบบสมองและประสาทนั่นเองซึ่งอาการนอนไม่หลับที่พบได้บ่อยมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่าภาวะ "อินซอมเนีย" ซึ่งพบได้ในวัยทำงานและผู้สูงอายุ ดังนั้นการสังเกตและปรับพฤติกรรม ที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาโรคนอนไม่หลับ นับเป็นอีกหนทางหนึ่งในการป้องกันโรค
          จากข้อมูลของ "ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ" เผยว่า สาเหตุของการนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น ซึ่งเรียกกันว่า "Primary insomnia 3" ซึ่งมักเกิดขึ้นในคนปกติ ที่บังเอิญมีตัวกระตุ้นที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น มีความกังวลที่จะต้องไปสอบสัมภาษณ์ในที่ทำงานใหม่ หรือมีความเครียดเพราะไม่มีเงินไปใช้หนี้ เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ ฯลฯ ก็สามารถเกิดภาวะนอนไม่หลับได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามหากกำจัดสิ่งกระตุ้นดังกล่าวก็สามารถนอนหลับได้ตามปกติ คนส่วนใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ แต่หากอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือเกิดต่อเนื่องเป็นเวลานานเรื้อรังโดยเฉพาะถ้าเกิดในผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
          สำหรับแนวทางการรักษาภาวะนอนไม่หลับประกอบด้วยการรักษาโดยไม่ใช้ยา ซึ่งการรักษาโดยไม่ใช้ยา "Non-pharmacologic treatment" เป็นการรักษาหลักสำหรับภาวะนอนไม่หลับซึ่งประกอบไปด้วย 1.การปรับให้มีสุขอนามัยการนอนที่ดี เช่น การปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอนหลับ โดยไม่ให้มีแสงสว่างรบกวนและเงียบมากที่สุด ขณะเดียวกันไม่ควรใช้ห้องนอนทำกิจกรรมอื่นไม่ว่าจะเป็นดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมและควรนำหลักของการเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนตามธรรมชาติมาใช้ เช่น การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะในช่วงเย็น เพื่อให้เหนื่อยเพลียซึ่งเป็นการเพิ่มแรงผลักดันของระบบ Homeostasis ให้มากขึ้น หรือการเข้านอนให้เป็นเวลา และปิดไฟในห้องนอนให้มืดสนิท เพื่อช่วยให้ระบบCircadian rhythm ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก
          เป็นต้น
          2.การฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การนั่งสมาธิก่อนนอน หรือการอ่านหนังสือ และการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเพื่อทำให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น3.การรักษาด้วยความคิดและพฤติกรรมบำบัด โดยเน้นที่การปรับความคิดไปในเชิงบวก เพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมและอารมณ์ การรักษาวิธีนี้ได้ประโยชน์มากสำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ที่เกิดร่วมกับโรคทางอารมณ์และกลุ่มโรควิตกกังวล 4.การควบคุมปัจจัยกระตุ้น เช่น งดใช้ยาหรือสารออกฤทธิ์ที่ไปกระตุ้นการตื่นตัวเช่น กาเฟอีน งดดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาเย็นและค่ำอีกทั้งควรงดรับประทานอาหารมื้อใหญ่ช่วงใกล้เข้านอน 5.การจำกัดชั่วโมงในการนอน เพื่อป้องกันการนอนไม่หลับ ควรงดการงีบหลับในช่วงเวลากลางวัน และหากรู้สึกง่วงก็ควรที่จะเข้านอนทันที
          การรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งยาเหล่านี้มักถูกเรียกว่า "ยานอนหลับ" แต่เนื่องจากยานอนหลับมีหลายชนิด มีกลไกการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป ดังนั้นยากลุ่มแรกที่นิยมใช้เพื่อทำให้เกิดอาการง่วง ได้แก่ "ยาลดน้ำมูกในกลุ่มยาแอนตี้ฮิสตามีน" เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงคือทำให้เกิดอาการง่วง แต่ผลดังกล่าวมักจะไม่มาก และความรู้สึกง่วงนอนของแต่ละคนก็แตกต่างกันอีกด้วย สำหรับยานอนหลับที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อสมองคือ "กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน" โดยออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทชนิดยับยั้งที่เรียกว่า 'กาบา (GABA)' ในสมอง เมื่อมีสารนี้เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดอาการนอนหลับโดยตรง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยคลายกังวล หยุดอาการชัก และคลายกล้ามเนื้อได้อีกด้วย ดังนั้นการรักษาด้วยการใช้ยานอนหลับจึงควรเลือกใช้เฉพาะรายที่จำเป็นเท่านั้น และควรเริ่มใช้ขนาดยาที่ต่ำที่สุด ใช้ยาให้น้อยครั้งที่สุด และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดผลอันไม่พึงประสงค์จากยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือการเกิดมะเร็งจากการใช้ยานอนหลับ.
 


pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved