HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 23/07/2555 ]
สัญญาณโรค 'มือ เท้า ปาก' 'ผู้ใหญ่' สุ่มเสี่ยงไม่แพ้ 'เด็ก'

 ดูเหมือนว่าสังคมจะตระหนกตกใจมากขึ้น เมื่อพบว่ามีการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก อย่างหนัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายรายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย
          "ประเทศเวียดนามมีผู้ป่วยกว่า 63,000 คน เสียชีวิต 34 คน ประเทศจีน มีผู้ป่วยกว่า 1.2 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 100 คน สิงคโปร์มีผู้ป่วยประมาณ 26,000 คน"
          ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เปิดเผยออกมา
          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แสดงความเป็นห่วง...
          "บางประเทศที่มีการระบาดมีประชากรไม่มาก โดยเฉพาะที่ประเทศกัมพูชาพบว่าเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เราต้องเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น เพราะมีพื้นที่ติดต่อกันในหลายจังหวัด"
          สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า เป็นการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี เพราะยอดผู้ป่วยโรคดังกล่าวทั่วประเทศที่มีการบันทึกไว้ที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด ยอดพุ่งไปแตะที่ 13,918 ราย แล้ว
          ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุประมาณ 1-3 ขวบ เด็กโตบ้าง จนทำให้ต้องสั่งปิดหลายโรงเรียนที่พบเด็กป่วย เพื่อทำความสะอาดตัดวงจรการแพร่ระบาด ที่คาดว่าจะมีต่อเนื่องไปอีก2 เดือน
          แต่หลายคนยังสับสนไม่น้อยกับสาเหตุของการเกิดโรคมือ เท้า ปาก และเกรงว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงขึ้น จนมีผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า...
          "เชื้อไวรัสก่อโรคมือ เท้า ปาก คือเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ เอ บี ซี และเรียกย่อยๆ เป็น สายพันธุ์คอกซากี เอ็คโค และเอนเทอโร รวมๆ กันแล้วมีอยู่ประมาณ 90 ตัว เพราะฉะนั้น เชื้อทั้งตระกูลนี้ก่อให้เกิดโรคได้ และทั้งหมดก็อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่เด็ก คือคลอดเสร็จแล้วกลับบ้านจะเริ่มเจอเชื้อพวกนี้แล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่าในเด็กอายุเกิน 14 หรือผู้ใหญ่ไม่ค่อยเกิดโรค เพราะว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว"
          สำหรับอาการของโรค คือ มีตุ่ม ผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ปาก เพดานปาก มือ เท้า หรือบางรายไม่แสดงอาการของโรค แต่ที่ทำให้อาการรุนแรงและมีคนเสียชีวิตนั้นตัวแรกคือ สายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 70 ที่เคยระบาดเมื่อปี1974 (พ.ศ.2517) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาแดง บวม ไขสันหลังอักเสบ ต่อมาเชื้อไวรัสดังกล่าวเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ 71 ทำให้จากอาการไขสันหลังอักเสบ มาเป็นก้านสมองอักเสบ น้ำท่วมปอด โดยจะมีอาการหัวใจอักเสบหรือไม่ก็ตาม
          ไวรัส 2 ตัวนี้ ก่อให้เกิดการระบาดในวงกว้าง และในบางประเทศก็มีความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต แต่การจะบอกว่าอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะไวรัสสายพันธุ์ใด จะเป็นเอนเทอโรไวรัส สายพันธุ์ ซี 4 หรือจะเป็น บี 5 หรืออะไรต่างๆ นั้นทำได้ยาก เพราะว่าในประเทศไทยก็มีเอนเทอโรไวรัส สายพันธุ์ซี 4 เช่นกัน แต่ไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นความรุนแรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวไวรัสอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ รหัสพันธุกรรม และกลไกการตอบสนองต่อเชื้อไวรัส เพราะฉะนั้นอย่าไปสนใจเรื่องสายพันธุ์มาก เพราะการที่มีเชื้อชื่ออย่างนี้เบอร์นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตาย
          "ทางที่ดีที่สุดคือ การเฝ้าระวังตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข คือถ้าพบว่ามีการรุนแรง มีสมองอักเสบ หรืออาการทางปอด อาการทางกล้ามเนื้อหัวใจ เข้าไอซียู หรือเสียชีวิต อันนี้ต้องเฝ้าติดตามระวังทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ด้วยเพราะจากการเก็บตัวอย่างผู้ป่วยทางด้านสมองอักเสบ น้ำท่วมปอดในระยะ 12 ปี จำนวน 930 ราย พบว่า ผู้ใหญ่ 4 ราย เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส โดยในจำนวนนั้น 2 รายเป็นหมอ ที่มีประวัติว่าถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี ดังนั้น จึงคาดว่ากรณีนี้น่าจะเกิดการที่ไม่เคยสัมผัสกับเชื้อโรคมาตั้งแต่เด็ก หรืออาจจะเป็นเพราะสัมผัสกับคนไข้มากเกินไป"ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เตือน
          สอดคล้องกับ นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา ที่ยกข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ที่พบผู้ใหญ่ป่วยได้รับเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 100 ราย แบ่งเป็น คนอายุ 15 -24 ปี พบป่วย 43 ราย, อายุ 25-34 ปี พบ 22 ราย, อายุ 35-44 ปี พบ 15 ราย, อายุ 45-54 ปี พบ 7 ราย, อายุ 55-64 ปี พบ 4 ราย และ อายุ 65 ปีขึ้นไป พบ 9 ราย แต่ทั้งหมดอาการไม่รุนแรง
          อย่างไรก็ตาม แม้โรคมือ เท้า ปาก จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่ก็สามารถป้องกันก่อนเกิดโรคด้วยการรักษาความสะอาด ทั้งสิ่งแวดล้อม สถานที่ และการดูแลตัวเอง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะโรคนี้ติดต่อสู่กันได้ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรง หากจะเป็นการไอหรือจาม คงมีบ้างแต่น้อยมาก
          มีคำแนะนำจากที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ว่า ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ในการเช็ดทำความสะอาด เพราะร้อยละ 70 พบว่า แอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคมือ เท้า ปาก ได้ แต่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วไปล้างก่อนแล้วปล่อยให้แห้ง จากนั้นจึงใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีนทิ้งไว้ 15 นาที แล้วค่อยล้างออก ส่วนการทำความสะอาดสิ่งของที่จะนำเข้าปาก เช่น เครื่องครัวของเล่นเด็ก ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ ผงซักฟอก แล้วตากแดดให้แห้ง หรือต้มในน้ำเดือด 10 นาที โดยเฉพาะที่โรงเรียน ควรทำความสะอาดด้วยวิธีการดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ไม่เฉพาะระยะที่มีการระบาดเท่านั้น
          สำหรับการดูแลตัวเองจะเน้นที่การล้างมือด้วยน้ำสบู่ ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นน้ำสบู่จริงๆ เพราะเจลล้างมืออย่างเดียวไม่ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ จากนั้นจะใช้เจลล้างมือร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ และต้องทำให้เป็นนิสัย ทำต่อเนื่องจนสิ้นสุดการระบาดที่สำคัญคือช่วงที่มีการระบาดของโรค หากไม่มีความจำเป็นต้องว่ายน้ำ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้สระว่ายน้ำสาธารณะร่วมกัน หรือถ้าต้องใช้จริงๆ ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้ผสมสารคลอรีนในสัดส่วนที่ได้มาตรฐาน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ แม้กระทั่งสระว่ายน้ำส่วนตัวที่บ้านก็ต้องตรวจสอบ
          ที่สำคัญ หากมีเด็กป่วยควรให้หยุดอยู่กับบ้าน 7 วัน ถ้าอาการไม่รุนแรง ขอให้ผู้ปกครองเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นและรับประทานยาพาราเซตามอนเท่านั้น ห้ามรับประทานยาลดไข้ในกลุ่มอื่นๆโดยเฉพาะกลุ่มสเตียรอยด์ และแอสไพริน เพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น แต่หากพบว่ามีไข้สูง อาเจียน อ่อนเพลีย ให้พาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยแจ้งประวัติและความเสี่ยงของผู้ป่วยโดยละเอียดให้แพทย์ทราบ เช่น เคยเข้าไปในสถานที่ที่เคยมีเด็กป่วยด้วยโรคดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว เพราะบางครั้งโรคนี้ก็ไม่แสดงอาการ
          แม้กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเป็นการระบาดตามฤดูกาล โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตอยู่แล้วตามปกติ ล่าสุด 17 ก.ค.ที่ผ่านมา เกิดกรณีเด็กหญิงวัย 2 ขวบเศษ ที่เสียชีวิตด้วยอาการคล้ายโรคมือ เท้า ปาก ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และผลจาก การตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการก็พบเป็นเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71 แต่ยังไม่ได้ตรวจละเอียด ว่าเป็นสายพันธุ์ใดกันแน่ ระหว่าง บี หรือ ซี
          ฉะนั้น จึงต้องรอผลการวินิจฉัยของที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาอย่างใกล้ชิดว่า จะเป็นรายแรกของปี 55 ที่มีการเสียชีวิตในประเทศไทยหรือไม่.


pageview  1205832    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved