HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 21/06/2555 ]
ยูเอ็นวีเมนเสริมทักษะนักเรียนตำรวจ สร้าง'ผู้นำ'บรรเทาความรุนแรงผู้หญิงและเด็ก

จาก12,000 เคสความรุนแรง ที่เข้าสู่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี (OSCC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2551 ขยับขึ้นเป็น 26,000 เคสในปี 2553 และอีกนับไม่ถ้วนที่กลายเป็นปัญหาซุกอยู่ใต้พรม โดยเจ้าหน้าที่จาก OSCC ของโรงพยาบาลปทุมธานี วรภัทร แสงแก้ว ระบุว่า ความรุนแรงที่ผู้หญิงและเด็กทั่วประเทศต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยมีสาเหตุมาจากคนใกล้ชิดอย่างแฟน สามี และคนในครอบครัว มากกว่าคนไม่รู้จักหรือคนแปลกหน้า อาจสูงถึง 100,000 เคสต่อปีทีเดียว ในที่นี้ร้อยละ 30% เป็นความรุนแรงด้วยการข่มขืน
          ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่ากังวลไม่น้อย เพราะจำนวนเคสที่เกิดขึ้นเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนกรณีนั้น สาโรช นักเบศร์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักอัยการสูงสุด เผยว่า กลับมีเพียงแค่ 200 เคสในปี 2553 ที่กลายเป็นคดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะส่วนมากผู้ถูกกระทำที่เดินเรื่องร้องทุกข์มีไม่เกิน 5% นอกจากนี้ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายมีโอกาสที่จะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่ไม่ถูกกระทำถึง 12 เท่า!
          ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะองค์ทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นวีเมน (UN Women) ยูเอ็นวีเมนเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดยสำนักงานอัยการสูงสุด องค์การเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร "พลังคนรุ่นใหม่ร่วมยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง" ให้แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) ชั้นปีที่ 3 ทั้งชายและหญิงเป็นครั้งแรก เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับลักษณะขอบเขตและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง และยังแสดงถึงความมุ่งมั่นเพื่อให้ตำรวจเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในการยุติความความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
          นางโชโกะ อิชิคาวะ รักษาการผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมนเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมจะตอบสนองและเป็นธรรมต่อผู้หญิงได้ ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาเรื่องความรุนแรงที่มีพื้นฐานมาจากความแตกต่างระหว่างเพศ และเรื่องความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยเสริมกันอยู่ ฉะนั้นการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นมิตรและเป็นธรรมต่อผู้หญิง
          "ประสบการณ์จากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า การคัดเลือกตำรวจหญิงและดำเนินการที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ โดยมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ นับเป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการบรรเทาปัญหา นอกจากนี้ยังควรให้มีการจัดฝึกอบรม และสร้างแรงจูงใจให้กับตำรวจทุกคน ให้คำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อรวมถึงการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีพื้นที่ในกระบวนการยุติธรรม จะสามารถช่วยสร้างระบบที่แสดงความรับผิดชอบต่อผู้หญิงได้ แต่ที่สำคัญที่สุดเราควรร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อคิดค้นวิธีการป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น" นางโชโกะระบุ
          ด้าน พล.ต.ท.อารีย์ อ่อนชิต ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจเองก็มีแนวคิดสอดคล้องกับรักษาการ ผอ.ยูเอ็นวีเมนฯ พร้อมตอบรับว่า โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ที่จัดขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนนายร้อย โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยหญิงที่เป็นความหวังของสังคมในเรื่องนี้ถ้าเป็นไปได้อยากให้เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นทุกปีเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมในเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กจะเริ่มจากตำรวจ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่จำเป็นต้องมีทักษะ เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงมุมมองในเรื่องสิทธิความเสมอภาคระหว่างชายหญิง และกฎหมายคุ้มครองเป็นอย่างดี
          ขณะที่กัลย์สุดา จุลประเสริฐ นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงชั้นปีที่ 3 แจงถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมว่า จากเดิมที่เห็นว่าความรุนแรงในผู้หญิงและเด็กเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นในสังคมแต่หลังจากที่วิทยากรและผู้ประสบเหตุการณ์จริงเผยข้อมูล ก็ทำให้รู้ว่าปัญหาที่มีอยู่นั้นมากและหนักกว่าที่คิด ใครไม่โดนก็ไม่สามารถรู้ได้ และไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปโดยเฉพาะตำรวจจะเพิกเฉย แต่ถ้าถามว่า นรต.อย่างเราจะไปช่วยอะไรได้ไหม คงช่วยได้แค่ปลายเหตุ หากจะแก้ที่ต้นเหตุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจับมือกัน ทว่า เบื้องต้นก็พร้อมเป็นสื่อกลางไปเผยแพร่ความรู้ในเรื่องการลดละ เลิกความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ให้ชุมชน สังคมที่อาศัยอยู่ หรือเขตพื้นที่ที่มีกรณีความรุนแรงต่อผู้หญิงหนาแน่นได้รับทราบค่ะ
          ด้านวรภัทร เจ้าหน้าที่จากศูนย์ OSCC รพ.ปทุมธานี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความรุนแรงในผู้หญิงที่เกิดขึ้นจะมีขั้นตอนตั้งแต่ด่าทอ ที่เป็นการทำร้ายจิตใจ และหากยังทนกันอยู่ราวๆ 1 ปีขึ้นไป ความรุนแรงก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นปาข้าวของ และกลายเป็นการทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ หรือไม่ก็เสียชีวิต
          "ความรุนแรงดังกล่าวถ้าเกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้รับการเบรก มันจะเพิ่มทวีความแรงไปเรื่อยๆไม่มีทางลดลงได้เลย และผู้ถูกกระทำส่วนมากยังยึดติดกับค่านิยมว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องปกติจนกระทั่งถูกทำร้ายมากครั้งเข้าประมาณครั้งที่ 3-4 ถึงจะมีการแจ้งความ ซึ่งอาจจะสายไปแล้วในช่วงเวลานั้น จึงอยากให้ผู้ที่ถูกกระทำเข้าแจ้งความตั้งแต่ครั้งแรกที่โดนทำร้าย เพื่ออาศัยช่องทางกฎหมายในการบังคับคดีเยียวยาหรือป้องกันการถูกกระทำซ้ำ เช่น ขอคำสั่งไม่ให้ใช้ความรุนแรงชั่วคราวขณะดำเนินคดี เป็นต้น ถ้าทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยกันได้ก็เป็นอันจบ แต่ถ้าไม่ยุติก็ดำเนินการฟ้องร้องต่อไป ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่การเอาผิดกับคู่กรณีแน่นอน" อัยการสาโรชกล่าวทิ้งท้ายให้คิด.

 


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved