HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 16/07/2564 ]
ผนึกความร่วมมือภาคเหนือแก้PM2.5ก่อนหมอกควันปีหน้า

 ปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่เคยติดอันดับหนึ่งของโลกเมื่อปี 2562 แต่ไม่ใช่ปีแรกที่ชาวเชียงใหม่เผชิญวิกฤตมลพิษทางอากาศ เพราะเมื่อย่างเข้าฤดูแล้ง ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้หมอกควันของฝุ่นควันพิษมานานกว่า 15 ปีแล้ว ปีนี้สถานการณ์ ฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือก็ส่งผล กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
          เพื่อเตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2565 ผ่านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ที่ จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 9 ภาคีสภาลมหายใจภาคเหนือ ได้แก่ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงราย สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจน่าน สภาลมหายใจพะเยา สภาลมหายใจแพร่ สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน สภาลมหายใจลำปาง และสภาลมหายใจลำพูน ร่วม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศภาคเหนือ โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี
          เอ็มโอยูครั้งนี้สนับสนุนกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการลดฝุ่นควันปีหน้าในทุกพื้นที่ภาคเหนืออย่าง เข้มแข็ง ตลอดจนผลักดันข้อเสนอการป้องกันและแก้ปัญหาก่อน ฤดูฝุ่นควันรอบใหม่ เพื่อไม่ให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกิน ค่ามาตรฐานเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ไม่รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยว
          ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวในพิธีลงนาม MOU ครั้งนี้ว่า ฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมายาวนาน และคาดว่าปี 2565 จะรุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ประกอบกับการเผาในพื้นที่การเกษตร และหมอกควันที่ข้ามพรมแดน ซึ่ง สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาหมอกควันร่วมสานพลังกับภาคเอกชน ภาคการแพทย์สาธารณสุข ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบาย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา มุ่งลดมลพิษทางอากาศภาคเหนือและระดับภูมิภาค
          ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนสภา ลมหายใจภาคเหนือ 9 หน่วยงาน สร้างพลังความร่วมมือและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันในเขตภาคเหนือแก่กลุ่มเด็กเยาวชน และประชาชนในพื้นที่ ชาญเชาวน์ บอกว่า จะมีการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันเชิงบูรณาการในระดับภูมิภาค ประกอบด้วยการควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร การจัดการแนวกันไฟให้ชุมชน รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น พัฒนาเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อนำมาใช้เฝ้าระวังและเตือนภัยอย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความรุนแรงและผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ภาคเหนือก่อนฤดูฝุ่นควันจะมาถึงในช่วงต้นปีหน้า ทั้งยังมีเป้าหมายขยายเครือข่ายสภาลมหายใจเพิ่มอีก 9 จังหวัด รวมเป็น 17 จังหวัดทั่วประเทศ
          ความหวังแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือจากเอ็มโอยูฉบับนี้ สภาลมหายใจเชียงใหม่ขยายความร่วมมือไปยังภาคี เครือข่าย 8 จังหวัด และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย 8 ข้อ เพื่อป้องกันฝุ่นควันต้นปีหน้า ซึ่งคาดการณ์จะรุนแรงขึ้นกว่าปีนี้
          ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อเสนอที่พัฒนาขึ้นมาครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้ ขอให้รัฐบาลติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกตำบลใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและป้องกันสุขภาพ สร้างเวทีการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ใช้มาตรการเชิงรุกเปลี่ยนการเผาภาคเกษตรให้เป็นวิธีการอื่นที่ยั่งยืน การจัดการไฟป่าให้ชุมชนและท้องถิ่นร่วมกำหนดมาตรการระดับพื้นที่ตลอดทั้งปี และสร้างชุมชนนำร่องต้นแบบครอบคลุมทั่วภาคเหนือ
          "พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ให้ประชาชนรู้ปัญหามลพิษอากาศอย่างรวดเร็ว เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนเชิงรุกที่เกิดจากพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมควบคู่ส่งเสริมการเปลี่ยนอาชีพและรับซื้อผลผลิตเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พรมแดน ทางกฎหมายเสนอส่งเสริม พ.ร.บ.อากาศสะอาด ผลักดันสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชน ข้อเสนอสุดท้ายรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนเป้าหมายตลอดทั้งปี และเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพเป็นสาธารณะ" ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ย้ำ 8 ข้อเสนอหากขับเคลื่อนจนเกิดรูปธรรม นอกจากแก้ปัญหาใหญ่ที่สร้างฝุ่นพิษคลุมภาคเหนือ ยังเสริมสร้างศักยภาพของคนภาคเหนือให้มีทักษะรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพจากฝุ่นมรณะ PM2.5อีกด้วย


pageview  1206088    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved