HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 08/06/2564 ]
สปสช.เพิ่มสิทธิ์รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังได้รับวัคซีนโควิด

 บอร์ด สปสช.เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ สนับสนุนหน่วยบริการตรวจภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19
          ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ผ่านระบบ Zoom โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุการตรวจและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือภาวะ VITT
          สำหรับ ภาวะ VITT หรือ Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia จะแสดงอาการหลังจากได้รับวัคซีนประมาณ 4-30 วัน โดยอุบัติการณ์ของภาวะดังกล่าวอยู่ที่ 1:125,000-1:1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีน
          นายอนุทินกล่าวว่า แม้ว่าภาวะ VITT จะมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก แต่ สปสช.ก็ต้องการขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม เพื่อให้ความมั่นใจแก่ประชาชนทุกคนในการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ว่าหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นจะได้รับการดูแลทั้งกระบวนการ
          ทั้งนี้ หากผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 4-30 วัน มีอาการปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชัก ตามัว เห็นภาพซ้อน เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ขาบวมแดง หรือซีด เย็น แนะนำให้เข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง โดย สปสช.จะสนับสนุนค่าตรวจรวมทั้งค่ารักษาให้
          นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ใหม่นี้จะครอบคลุมการเบิกจ่าย 4 รายการ ได้แก่ 1.การตรวจความสมบูรณ์ ของเม็ดเลือดแดง CBC 2.การตรวจวินิจฉัย HeparinPF4 antibody (lgG) ELISA assay 3.การตรวจวินิจฉัย Heparininduced Platelet activation test (HIPA) และ 4.ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG) ซึ่งให้เบิกจ่ายตามระบบ VMI โดย สปสช.คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 9.28 ล้านบาท
          สำหรับยา IVIG สำหรับรักษาภาวะ VITT นั้น ไม่อยู่ในข้อบ่งใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงต้องเบิกจ่ายตามระบบ VMI ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินการโครงการศึกษาและพัฒนาบริการ โดย สปสช. กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโลหิตวิทยา และคณะทำงาน AEFI ที่จะดำเนินการร่วมกันใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.พัฒนาหน่วย ตรวจให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพของประเทศ 2.ติดตามข้อมูลอุบัติการณ์การเกิด VITT 3.ประเมินประสิทธิผลของยา IVIG และหลังจากที่ได้ดำเนินการครบระยะเวลา 1-2 ปี ให้มีการทบทวนสิทธิประโยชน์ในกรณีนี้อีกครั้ง.


pageview  1204837    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved