HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 21/05/2564 ]
รู้เรื่อง วัคซีน กับนักสื่อเสียงสุขภาวะหัวใจฟูสู้โควิด

 แม้จะมีตัวอย่างจากทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะคลี่คลายได้ เครื่องมือสำคัญ คือ วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด ที่มีประสิทธิภาพ และ ทุกคนเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม แม้จะมีความเข้าใจประโยชน์การฉีดวัคซีน แต่คนไทยจำนวนหนึ่งยังไม่แน่ใจจะฉีดหรือไม่ เพราะกังวลการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน
          สอดรับกับผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครั้งที่ 31 ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 ของกรมควบคุมโรค โดยมีกลุ่มตัวอย่างอายุ 15-65 ปี ขึ้นไป จำนวน 103,692 คน ทั่วประเทศ พบว่า มีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนเมื่อช่วงเดือนมกราคม คนไทยกังวลอยู่ที่ 39.4% เดือนเมษายนกังวลเพิ่มขึ้นเป็น 44.2% และต้นเดือนพฤษภาคมกังวลสูงถึง 54.7%
          เพื่อกระตุ้นการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชน และส่งเสริมความรู้สร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเรื่องวัคซีนโควิด-19 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม "ส่งเสริมความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้กับเครือข่ายสถานีวิทยุคนไทยหัวใจฟู" สร้างเครือข่ายรณรงค์ลด ข้อกังวลวัคซีนโควิดในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ชัยนาท ระยอง กระบี่ และหนองบัวลำภู พร้อมเชื่อมประสานกับเครือข่ายสถานีวิทยุกว่า 100 สถานีทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อสื่อสุขภาวะ
          ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวต่อว่า กิจกรรม "ส่งเสริมความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้กับเครือข่ายสถานีวิทยุคนไทยหัวใจฟู" อยู่ภายใต้โครงการพลังเครือข่ายนักสื่อเสียงเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ เพื่อยกระดับนักจัดรายการวิทยุชุมชน สู่การเป็นนักสื่อเสียงสุขภาวะ เพื่อสร้างเครือข่ายที่จะรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ชื่อว่า "หัวใจฟูสู้โควิด" โดยใช้วิทยุเป็นช่องทางส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ถูกต้อง ลดความกังวลให้แก่คนไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นวิทยากร เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แก่ผู้จัดรายการสถานีวิทยุ เพื่อให้สามารถไปสื่อสารต่อในรายการวิทยุของตัวเองได้อย่างถูกต้อง
          กิจกรรมส่งเสริมความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้กับเครือข่ายสถานีวิทยุคนไทยหัวใจฟู จะทำให้นักสื่อเสียงสุขภาวะมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องวัคซีนโควิด-19 ถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น ช่วยนำความรู้ที่ถูกต้องไปสื่อสารต่อในชุมชนสร้างความตระหนักการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดต่อไป
          คนทั่วไปที่ยังกังวลว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แนะนำว่า แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่หากทุกคนร่วมใจกันจะเป็นส่วนสำคัญช่วยยุติการระบาดของโควิด-19 ช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในเร็ววัน  ไทยมีวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่นำมาฉีดให้กับประชาชนอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าเหมาะสมที่จะฉีดทุกยี่ห้อล้วนแล้วแต่มีประสิทธิภาพโดยรวมไม่ต่างกัน และในไตรมาส 3 และ 4 ไทยจะมีวัคซีนที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อใช้ในหลายกลุ่มอายุ เช่น นำเข้าไฟเซอร์เพื่อฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป หรือการขยายการฉีดซิโนแวคในผู้สูงอายุ เพื่อจะได้มีเพียงพอต่อการเข้าถึงวัคซีน ให้ครอบคลุมกับจำนวนประชากรมากที่สุด ตามนโยบายว่า "ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยจะต้องได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง"
          ส่วนคำถามเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีน นพ.นคร กล่าวว่า มี 2 ลักษณะ คือ 1.อาการข้างเคียงทั่วไป ปวด บวมแดง มีไข้ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้จะหายไปใน 24-72 ชม. เกิดได้ประมาณ 30% 2.อาการข้างเคียงชนิดรุนแรง เช่น กรณีมีผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค มีอาการแขน ขาอ่อนแรง พบ 5 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งประมาณ 50% หายเองได้ และเมื่อทำการเอกซเรย์สมองก็ไม่พบรอยโรคที่ทำให้แขนขาอ่อนแรงหรืออัมพฤกษ์อัมพาต องค์การอนามัยโลกเรียกว่า เป็นปฏิกิริยาของร่างกายหลังจากการรับวัคซีน ข้อแนะนำคือ ให้สังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้นให้รักษาตามอาการ ซึ่งการกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของไวรัส และจะเป็นปัญหาเมื่อวัคซีนไม่สามารถครอบคลุมได้ ดังนั้น ฉีดวัคซีนยังต้องควบคู่กับการป้องกันโรคส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่างด้วย


pageview  1205152    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved