HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 24/05/2555 ]
มะเร็งช่องปากไทยอันดับต้นของเอเชีย

  ถ.ศรีอยุธยา * สถาบันมะเร็งเผย ไทยมีผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากสูงเป็นอันดับต้นของเอเชีย มีผู้ป่วยแล้วกว่า 4.7 แสนราย ปี 53 มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 พันราย เหตุละเลยความเสี่ยง
          นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการหยิบยกโรคมะเร็งในช่องปากมาหารือกันอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่โรคดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในช่องปากของเรา ทั้งนี้ จริงๆ แล้วมะเร็งช่องปากไม่ค่อยพบมากในกลุ่มคนไทย แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว ประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่มากกว่า คือมีอัตราการเกิดที่ 4.7 ต่อประชากร 1 แสนราย โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้ และจังหวัดระยองที่พบโรคดังกล่าวมากที่สุด ซึ่งจากสถิติขององค์การอนามัยโลกที่ใช้ฐานข้อมูลจากเรา พบว่าคนไทยเป็นโรคดังกล่าวทั้งหมดประมาณ 470,000 คน ในปี 2553 มีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 3,104 ราย เสียชีวิต 2,324 ราย โดยมะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่พบมากอันดับที่ 7 ในเพศชาย หรือมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 10.8 ต่อประชากร 1 แสนราย และอันดับ 11 ในเพศหญิง หรืออัตราการเกิดอยู่ที่ 3.6 ต่อประชากร 1 แสนราย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และพบมากที่สุดในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กินหมาก และการทำออรัลเซ็กซ์
          รศ.ทพ.วรนัติ วีระประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในประเทศไทย กล่าวว่า จากการวิจัยเพื่อสนับสนุนการเลิกบุหรี่ใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ รพ. 5 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.ชลบุรี รพ.หาดใหญ่ และ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากจำนวน 858 ราย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือคิดเป็นร้อยละ 91 ส่วนใหญ่เป็นบริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้ม ที่สำคัญคือมารับการรักษาเมื่อเข้าสู่2 ระยะสุดท้ายแล้วถึงร้อยละ 71.65 เฉพาะระยะที่ 4 อย่างเดียวคิดเป็นร้อยละ 53.59
          นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สัญญาณเตือนของมะเร็งช่องปากระยะแรก ได้แก่ มีแผลเรื้อรังในช่องปากไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ มีรอยโรคสีขาว สีแดง หรือสีขาวปนแดงบริเวณเนื้อเยื่อในช่องปากมีขอบลิ้น ขอบริมฝีปาก หรือตำแหน่งอื่นๆในช่องปากที่มีลักษณะแข็งเป็นไต ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ มักพบบริเวณด้านข้างของลิ้น ใต้ลิ้น บริเวณด้านหลังของฟันซี่สุดท้าย และเพดานปาก กลุ่มเสี่ยงคือคนอายุ 40 ขึ้นไป พบในเพศชายมากกว่าหญิง มีปัจจัยเสี่ยง คือ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าช่องปากไม่สะอาด กินหมาก ผู้ทำงานกลางแจ้ง จะเสี่ยงเป็นมะเร็งที่ริมฝีปาก หรือมีคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งที่ทางเดินอาหารส่วนบน และผู้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ดังนั้นกรมอนามัยจึงจะดำเนินการรณรงค์ให้ทันตแพทย์เป็นผู้ตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยโรคดังกล่าว โดยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีปัญหาโรคมะเร็งในช่องปากของเอเชีย.


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved