HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 06/08/2563 ]
โควิด-19 พยาธิกำเนิด และกลไกการเกิดโรคทางการแพทย์แผนไทย

  นพ.พิเชฐ บัญญัติ
          องอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
          เลขาธิการสมาคมเวชกรรมไทย
          Facebook:dr.phichetbanyati
          ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมเกือบทะลุ 17 ล้านคนแล้ว แต่ในประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อเพียงเฉพาะกลุ่มที่มาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันตัวภาครัฐเท่านั้น การติดเชื้อในประเทศไทยไม่มีมาแล้วกว่า 50 วัน สะท้อนว่าไม่มีแหล่งรังโรคในประเทศ หรือเชื้อที่ตกหล่นปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อม ไม่สามารถมีชีวิตอยู่จนติดไปยังคนอื่นๆ ได้ การติดต่อจึงเป็นการติดต่อจากตัวผู้ป่วยไปถึงผู้รับเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสโดยตรง หรือเชื้อปนเปื้อนอุปกรณ์ขณะดื่มกินร่วมกัน หรือพูดคุย ไอจามใส่กันในระยะประชิด (close contact)
          "คน" ต่างคน ต่างจิต ต่างคิดต่าง
          "มองบวก" บ้าง ทางสุข สนุกสนาน
          "โลกจะ" ให้ ได้ชิด จิตเบิกบาน
          "เต็ม" เรือนชาน สานให้ ได้สิ่งดี
          "ไปด้วย" จิต คิดดี มีคุณค่า
          "โอกาส" มา คว้าไว้ ได้สุขศรี
          "และ" ได้ก่อ ต่อเติม เสริมชีวี
          "ความสุข" ที่ มีพอ เพราะพอใจ
          ประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น แดดจัด นั่นคือ มีปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อความอยู่รอดของไวรัสโควิด-19 ตามงานวิจัยอยู่ 3 ปัจจัย คือ อากาศร้อน อากาศชื้น และแสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) ยิ่งร้อน (อุณหภูมิสูง) ยิ่งตายง่าย ยิ่งชื้น ยิ่งตายง่าย ยิ่งแดดจัด ยิ่งตายง่าย
          นี่คือเหตุที่ไทยเราจึงไม่มีแหล่งรังโรคในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ในพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทดี ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม (Environment) เพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยด้านคนไทยด้วย ทั้งลักษณะคนไทย พฤติกรรม อาหารการกิน รวมถึงพันธุกรรม
          การป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 จึงเน้นที่การสวมหน้ากากอนามัยถ้วนหน้า (mask for all) ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้อุปกรณ์ดื่มกินร่วมกัน และเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทางสังคมวัฒนธรรมในประเทศ แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดในกลุ่มคนที่จะเข้ามาในประเทศ
          ความเสี่ยงประการหนึ่งคือ การติดต่อกันขณะดื่มกินเนื่องจากต้องถอดหน้ากากอนามัย พูดคุยกันใกล้ชิด และอาจเผลอใช้อุปกรณ์ดื่มกินร่วมกัน โดยเฉพาะงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ทั้งในบ้านนอกบ้าน ทั้งคนในครอบครัวเพื่อนสนิทมิตรสหาย ความไว้ใจที่คิดว่าไม่เสี่ยง คือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
          คนที่รับสัมผัสเชื้อโควิด-19 แล้วไม่ได้ติดเชื้อทุกคน ขึ้นกับปริมาณเชื้อไวรัสที่สัมผัส ถ้าเชื้อมากโอกาสติดก็มาก และขึ้นกับสภาพร่างกายของคนเราขณะสัมผัสเชื้อ ถ้าสภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่กระทบร้อนเกิน เย็นเกิน ไม่เครียด ไม่อดนอน ภูมิคุ้มกันแข็งแรง โอกาสติดเชื้อก็น้อยลง
          โดยหลักแล้ว หากสัมผัสเชื้อในช่วงร่างกายมีภูมิไวรับ (susceptable) ภูมิคุ้มกันเราอ่อนลง ความว่องไวในการดักจับเชื้อโรคลดลง เชื้อไวรัสที่เราสัมผัส จะหลบรอดหูรอดตาภูมิคุ้มกันทั่วไป เจาะเข้าไปเจริญเติบโตขยายพันธุ์ในเซลล์ได้ เมื่อเซลล์ติดเชื้อ เมตาบอลิซึมบางส่วนของเซลล์จะชะงักไป เนื่องจากไวรัส แอบอ้างเอาอุปกรณ์ในเซลล์เราไปใช้สร้างส่วนประกอบใหม่ของมัน เมื่อมันเพิ่มจำนวนได้แล้ว เซลล์เราใกล้จะตาย ไวรัสมันจะออกไปเจาะเข้าเซลล์อื่นไปเรื่อยๆ คนเราก็จะแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา
          "ภาวะภูมิไวรับ" เป็นระยะที่ภูมิคุมกันอ่อนแอลงชั่วขณะในคนปกติ เทียบกับทางการแพทย์แผนไทย คือการเสียสมดุลของตัวคุมธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ที่เรียกว่า "ตรีธาตุ" ภาวะภูมิไวรับ (susceptable) ก็คือ ภาวะที่ร่างกายเกิดเสียสมดุลตรีธาตุ หรือ "ตรีโทษ" (Tri doshes) นั่นเองเมื่อการความผิดปกติขึ้นกับร่างกาย จะกระทบธาตุไฟ ธาตุลม ก่อน ระยะนี้เรียกว่า "ระยะฟักตัว" หรือ "ระยะก่อนเกิดอาการ" แล้วจึงกระทบธาตุน้ำ สุดท้ายจะมาแสดงให้รู้ได้ที่ธาตุดินนี้ ถ้ามาผิดปกติถึงธาตุดินแล้วก็แสดงว่าโรคเป็นมามากแล้ว โรคเป็นมาระยะหนึ่งแล้ว จึงเกิดอาการทางคลินิก (Clinical manifestration) ออกมาให้เห็นได้ เรียกว่า "ระยะมีอาการ"ถ้าคนไข้รับรู้แล้วบอกได้ ก็เรียกว่า "อาการ" (symptom) แต่ถ้าแพทย์ตรวจค้นหาเจอ ก็เรียก "อาการแสดง" (sign) ก่อนจะมาถึงธาตุดินก็จะมีการ "กำเริบ หย่อน พิการ" ของธาตุไฟ ธาตุลม หรือธาตุน้ำ มาแล้ว ซึ่งสะท้อนว่าเกิด "ตรีโทษ" หรือการกำเริบ หย่อน พิการ ของตรีธาตุ (ระบบปิตตะ วาตะ เสมหะ) ซึ่งเป็นตัวควบคุมการทำงานของธาตุทุกชนิดที่รวมกันเป็น "เบญจมหาภูตรูป"
          เมื่อคนไข้มี "อาการ" แต่ยังตรวจไม่พบ "อาการแสดง" ความผิดปกติมักจะอยู่แค่ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุน้ำ แต่ถ้าคนไข้เริ่มสังเกต "อาการแสดง" เองได้บ้างหรือไม่ได้ แต่แพทย์ตรวจพบได้ ความผิดปกติจากโรคหรือความเจ็บป่วยก็มาถึง "ธาตุน้ำ" และ "ธาตุดิน" แล้วปกติแล้ว "ธาตุไฟ" กับ "ธาตุลม" จะวิปลาส (เสียสมดุล) ไปทางเดียวกัน กำเริบก็กำเริบด้วยกัน หย่อนก็หย่อนด้วยกัน พิการก็พิการตามกัน ความสัมพันธ์ของ "ธาตุดิน" กับ "ธาตุน้ำ" ก็เป็นเช่นนี้ เราจึงเรียก "ธาตุไฟกับธาตุลม" เป็นมิตรธาตุกัน และ "ธาตุน้ำกับธาตุดิน" เป็นมิตรธาตุกัน ร่างกายเราจึงมี "มิตรธาตุ" กันสองคู่
          ขณะที่ "ธาตุไฟ" กับ "ธาตุน้ำ" จะสวนทางกัน ถ้าธาตุไฟกำเริบ ธาตุน้ำจะหย่อน ถ้าธาตุไฟหย่อน ธาตุน้ำจะกำเริบ เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน ธาตุไฟหย่อน (เพราะอพัทธปิตตะหย่อน) ทำให้ธาตุน้ำคือ มูตตังกำเริบ คนไข้จึงถ่ายปัสสาวะออกมาก กรณีแบบนี้ เราเรียก "ธาตุไฟกับธาตุน้ำ" ว่าเป็น "อริธาตุ หรือศัตรูธาตุ" ของกันและกัน
          มาดู "อริธาตุ" หรือ "ศัตรูธาตุ" อีกคู่หนึ่ง คือ "ธาตุดิน" กับ "ธาตุลม" ถ้าธาตุหนึ่งกำเริบ อีกธาตุหนึ่งจะหย่อน เช่น กรณีคนไข้เกิดตะคริวที่น่อง จะพบว่ามังสังน่องกำเริบ (กล้ามเนื้อน่องแข็งเกร็ง) ขณะที่ธาตุลมคั่งตึงไม่เคลื่อนหรือธาตุลมหย่อน
          การที่เราเข้าใจธรรมชาติของธาตุทั้ง 4 ในการทำงานที่ปกติ ลักษณะที่ปกติ คุณสมบัติตอนปกติ ว่าเป็นอย่างไรและทำงานอย่างไร เมื่อเกิดความผิดปกติ (วิปลาส) ไปก็จะตรวจพบได้และอธิบายสาเหตุและกลไกการเกิดโรคได้ ที่เรียกว่า "สมุฏฐานวินิจฉัย" แพทย์ก็จะรักษาโรคได้ตรงเหตุ ตรงคน มากขึ้น
          พยาธิกำเนิดของโรคหรือความเจ็บป่วยแบบการแพทย์แผนไทย จึงเป็นการค้นหาสาเหตุหรือจุดที่ผิดปกติ เรียกว่า "สมุฏฐานวินิจฉัย" เพื่อค้นหา "อสมดุลตรีธาตุ" (ตรีโทษ) และ "อปรกติเบญจมหาภูตรูป" เกิดพยาธิสภาพขึ้นมา
          สภาพผิดปกติหรือวิการ (Abnormality) จะเกี่ยวกับกลไกการเกิดความเจ็บป่วย ธรรมชาติการเกิดโรคหรือการดำเนินโรค (Natural history of disease) พยาธิกำเนิด (Pathogenesis) พยาธิสภาพ (Disease) พยาธิสรีรวิทยา (Pathophysiology) รวมถึงพยาธิวิการ (Lesion) ของธาตุหรืออวัยวะของร่างกาย
          ตามแนวทางการแพทย์แผนไทยที่เกิดจากระบบควบคุมการทำงานของธาตุ เรียกว่า "ตรีโทษ" (Tri doshes) หรือ "อสมดุลตรีธาตุ" (Tri dashes Imbalance) คือความผิดปกติของระบบปิตตะ (Pitta) ระบบวาตะ (Vata) และระบบเสมหะ (Semha) เกิดแปรปรวนหรือเสียสมดุล (วิปลาส) เป็นจลนะ ไปทางกำเริบ (Hyper) หย่อน (Hypo) พิการ (Failure)
          ถ้าเสียตัวใดตัวหนึ่ง เรียก "เอกโทษ" หรือ 1/3 (Monodoshes) หรือเสียสองตัว เรียก "ทุวันโทษ" หรือ 2/3 (Didoshes) หรือเสียทั้งสามตัว เรียก "มหาสันนิบาต" หรือ 3/3 (Tridoshes) เมื่อตัวควบคุม (ตรีธาตุ) ผิดปกติ ก็ส่งผลกระทบให้เกิด "อปรกติธาตุ" (Organ dysfunction) จากเตโชธาตุ (Fi/Energy) วาโยธาตุ (Lom/Movement) อาโปธาตุ (Naam/Liquid) สุดท้ายจึงกระทบไปถึงปัถวีธาตุ (Din/Solid) ทำให้เกิดหรือเห็นพยาธิวิการ หรือธาตุวิการ จากการกำเริบ/วฤทธิ (Hyper) หรือหย่อน/กษายะ (Hypo) หรือพิการ/ล้มเหลว/ภินนะ (Failure) เกิดพยาธิสภาพ หรือโรค (Disease) หรือความเจ็บป่วย (Illness) ขึ้น จนแสดงออกเป็นลักษณะทางคลินิก คืออาการ (Symptom) และอาการแสดง (Sign) ของโรค (Disease) หรือความเจ็บป่วย (illness) ทำให้คนไข้ทุกข์ทรมาน ไม่สบายกายไม่สบายใจ (Suffering)
          การรู้กลไกการเกิดโรคหรือพยาธิกำเนิดหรือสมุฏฐานวินิจฉัย จะต้องรู้สาเหตุหรือสมุฏฐาน (Etiology) โดยรู้จักตรีโทษ (Tridoshes) เรียกว่า "ตรีธาตุสมุฏฐาน" เป็นเบื้องต้น (1) และรู้ความผิดปรกติของคุณสมบัติ (Biochemistry) รูปร่าง (Anatomy) หน้าที่ (Physiology) ของธาตุหรืออวัยวะและระบบอวัยวะ (Organ dysfunction & Lesion) ตามมา เรียกว่า "ธาตุสมุฏฐาน" (2)
          การแพทย์แผนไทย แบ่งธาตุ 4 เป็น 42 ธาตุ แต่มักจะเรียกกันทั่วๆ ไปว่า อวัยวะของร่างกายมีครบ 32 ประการ เพราะนับเอาธาตุที่สังเกตได้ง่าย ไม่แปรเปลี่ยนง่ายตามกาลเวลา เป็นอวัยวะแสดงความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างกาย คือ "วีสติปัถวีธาตุ 20" รวมกับ "ทวาทศอาโปธาตุ 12" รวมเป็น 32 ประการ ส่วนเตโชธาตุ (ไฟ) กับวาโยธาตุ (ลม) จับต้องได้ยากแต่รู้ว่ามี เปลี่ยนแปรได้ง่ายตามเวลา (กาล) แทรกและแปรเปลี่ยนไปอยู่กับวีสติปัถวีธาตุและทวาทศอาโปธาตุ จึงไม่ได้ใช้ประกอบการพิจารณา คำเรียก "จตุกาลเตโชธาตุ" กับ "ฉกาลวาโยธาตุ" จึงมีคำ "กาล" อยู่ในชื่อทั้งสองกลุ่ม
          เมื่อแพทย์เวชกรรมไทย วิเคราะห์ได้ทั้งตรีธาตุสมุฏฐานและธาตุสมุฏฐานแล้วก็นำเอาสมุฏฐานทั้งสองมาวิเคราะห์ร่วมกับอายุผู้ป่วย เรียกว่า "อายุสมุฏฐาน" (3)
          การแบ่งช่วงวัย (อายุ) ทางเวชกรรมไทย จะแบ่งตาม     ชีโวรสายนต์ (ชีวเคมี) ในการนำโอชาไปสังเคราะห์เป็นธารณธาตุ (จตุธาตุหรือ ธาตุ 4) คือ "ปฐมวัย" แรกเกิดถึง 16 ปี วัยสร้าง (สร้างเยอะกว่าสลาย) "มัชฉิมวัย" อายุ 16-32 ปี วัยเสริม (สร้างพอๆ กับสลาย) และ "ปัจฉิมวัย" อายุ 32 ปีขึ้นไป วัยเสื่อม (สร้างน้อยกว่าสลาย) สอดรับกับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ร่างกายคนเราเริ่มเสื่อมเมื่ออายุราว 32 ปี โดยเลนส์ตาเสื่อมเร็วที่สุดและอวัยวะเพศชาย (ลึงค์) เสื่อมช้าที่สุด
          การได้รับปัจจัยดำรงชีพหรือตรีสาร คือ อาหาร (Food) อากาศ หรืออัสสาสะ หรือลมหายใจเข้า (Gas) อาโปหรือน้ำดื่ม (water) ปัจจัย 3 อย่างนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางช่องปาก (ชิวหาทวาร) แต่อัสสาสะจะเข้าทางช่องจมูก (ฆานทวาร) ไปยังปับผาสัง (ปอด) เป็นหลัก ไปช่องปากพร้อมน้ำดื่มและอาหารเป็นรอง เมื่ออาหาร (Food) เข้าสู่ช่องปาก (ชิวหาทวาร) ก็จะถูกบดเคี้ยวด้วยทันตา (ฟัน) และคลุกเคล้าด้วยเขโฬ (น้ำลาย) เผาผลาญด้วยปริณามัคคี  (ไฟย่อยอาหาร) ที่กระตุ้นด้วยพัทธปิตตะ (น้ำย่อย) ในชิวหาทวาร (ปาก) อันตังส่วนต้นหรือหลอดอาหาร (Esophagus) ขับเคลื่อนลงสู่อันตังส่วนกลางหรือกระเพาะอาหาร (Stomach) และต่อเนื่องไปจนถึงอันตคุณังหรือลำไส้เล็ก (Small bowel) จะกลายเป็นอาหารใหม่หรืออุทริยัง  (Chyme) ที่จะถูกพัทธปิตตะ (น้ำย่อย) กับอพัทธปิตตะ (ฮอร์โมน/สารคล้ายฮอร์โมน และเอนไซม์/โคเอนไซม์) มากระตุ้นเกิดปริณามัคคี (ไฟย่อยอาหาร) เผาผลาญดูดซึมไปใช้ประโยชน์เกิดเป็น "กำเดา" หรือเปลวความร้อน (พลังงาน) ที่ทำให้มี "จตุกาลเตโชธาตุ" แล้วเคลื่อนต่อไปอยู่ที่อันตังส่วนปลายหรือลำไส้ใหญ่ (Large bowel) กลายเป็น "กรีสัง" หรืออาหารเก่า (Feces) และถูกขับออกทางทวารหนัก (Anus) กลายเป็นอุจจาระ (Stool)
          (4) พฤติกรรมคนไข้หรือมูลเหตุก่อโรค (Behavior) 8 ประการ เป็นตัวกระทบให้เจ็บป่วยง่ายขึ้น ได้แก่ อาหาร อิริยาบถ ความร้อนและเย็น อดนอน/อดข้าว/อดน้ำ กลั้นอุจจาระ/กลั้นปัสสาวะ ทำงานเกินกำลัง ความโศกเศร้าเสียใจ และโทสะมาก
          ร่วมกับ (5) ลักษณะทางคลินิก (Clinical manifestation) คือ อาการ (Symptom) สิ่งที่คนไข้บอกเราได้จากการพูดคุยหรือการซักประวัติ (History taking) และอาการแสดงหรือการตรวจจับอาการ (Sign) สิ่งที่เราตรวจพบจากตัวคนไข้ด้วยวิธีการตรวจจับอาการหรือการตรวจร่างกายทางคลินิก (Physical examination) ด้วยหลักการดู ฟัง เคาะ สัมผัส หรือคลำ ดม
          โรคโควิด-19 อาจเกิดจากปิตตะกำเริบ (ร่างกายไปกระทบเย็นเกินไป ตากฝน ตากน้ำค้าง) ทำให้เสมหะหย่อน หรือเสมหะหย่อน (ดื่มน้ำน้อย ขาดน้ำ คอแห้ง กินยาหรือสมุนไพรที่ทำให้เสมหะแห้ง) หรือวาตะหย่อน (ขนที่โบกพัดไล่สิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจทำงานน้อยลงหรือไม่ทำงาน) ทำให้เสมหะคั่ง ขับออกไม่ได้
          เมื่อปิตตะ (ตัวคุมธาตุไฟ)-วาตะ (ตัวคุมธาตุลม)-เสมหะ
          (ตัวคุมธาตุน้ำ) เสียสมดุล การทำงานของธาตุไฟ ลม น้ำ ดิน ก็ผิดปกติ เมื่อเชื้อโรคเข้าไปก็เจริญเติบโตแบ่งตัวทำให้เราเจ็บป่วยได้ง่าย เกิดอาการขึ้นมาเช่น สันตัปปัคคีกำเริบ (มีไข้) เสมหังกำเริบ (เสลดเยอะ) สิงฆานิกากำเริบ (มีน้ำมูก) บุปโพกำเริบ (เจ็บคอ) และอาจรุนแรงไปจนถึงปับผาสังพิการ (ปอดบวม) ส่งผลให้โลหิตังพิการ หทยังพิการ  (ระบบหัวใจหลอดเลือดล้มเหลว) ถึงตายได้
          เมื่อนำอาการ อายุของผู้ป่วยมาพิจารณาร่วมกับปัจจัยภายนอกหรือสภาพแวดล้อม (Environment) ได้แก่ ฤดูกาลที่เจ็บป่วย ฤดูร้อน ฝน หนาว หรือจะแบ่งย่อยเป็น 4, 6 ฤดู เรียกว่า อุตุสมุฏฐาน หรือ Season (6) ช่วงเวลาที่ป่วยกลางวันกลางคืน ช่วงเวลากี่โมงยาม เรียกว่า กาลสมุฏฐาน หรือ Time (7) และถิ่นที่อยู่ของผู้ป่วยเป็นภูมิประเทศแบบใด เรียกว่า ประเทศสมุฏฐาน หรือ Place (8) เรียกว่า พิจารณาครบทั้งปัจจัยสามทางการระบาด คือ บุคคล ตัวก่อโรค สิ่งแวดล้อม (host-agentenvironment) และปัจจัยการกระจายตัวของโรค คือ เวลา สถานที่ บุคคล (time-place-person) ไม่ต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบัน
          สิ่งที่ได้จากทั้ง (1)-(8) เรื่องนี้ช่วยแพทย์ให้สามารถวินิจฉัยสาเหตุของโรค หรือสมุฏฐานวินิจฉัย (Pathogenesis) วินิจฉัยโรคแยกโรค (Differential diagnosis) วินิจฉัยโรค (Definite diagnosis) และวินิจฉัยกำลังโรค หรือการพยากรณ์โรค (Prognosis) ได้ นำไปสู่การดูแลรักษาหรือบำบัดโรค (Care/Therapy) ด้วยการรุ (ขับของเสีย) การล้อม (จำกัดอันตราย) การปรับ (สมดุล/สภาพ) การเสริม (ความแข็งแรงธาตุ)
          ในการแพทย์แผนปัจจุบันเรียกว่าการบริการผสมผสาน (Comprehensive care) คือ การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคและการฟื้นฟูสภาพ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริบาล (care) อย่างเหมาะสมทั้งกายและใจ หรือเบญจขันธ์ คือ รูป (Body) เวทนา (sensation/feeling) สัญญา (Perception/Memory) สังขาร (Volition/Thought) และวิญญาณ (Consciousness) ด้วยการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้ (Holistic approach) ด้วยหลักง่ายๆ คือ เห็นทั้งคนและเห็นทั้งไข้ และใส่ใจทั้ง "เบญจขันธ์"
          ชีวิตหรือเบญจขันธ์ ล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความเจ็บป่วยก็ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แม้เราจะสวมหน้ากากอนามัยกันทุกคนแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าโอกาสจะป่วยเป็นโรคโควิด-19 เป็นศูนย์ อาจเหลืออีกราว 1.5%
          เมื่อป้องกันตัวเอง ดูแลตนเองอย่างเต็มที่แล้ว หากยังเจ็บป่วยอีก ก็ควร "ทำใจ" หรือ "ปล่อยวาง"
          พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุได้กล่าวไว้ว่า "ครูบาอาจารย์ท่านสอนเรื่องการปล่อยวาง การปล่อยวางนั้น ไม่ใช่การปล่อยทิ้งหน้าที่ของเรา แต่หมายถึง การปล่อยวางความหวังในผลของการกระทำ ไม่ใช่ปล่อยวางในการสร้างเหตุในการกระทำ".


pageview  1205091    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved