HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 16/05/2555 ]
ผู้เชี่ยวชาญแนะเตรียมพร้อมช่วยตัวเองก่อนถึงมือแพทย์

แม้จะมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ปี 2555 นี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑลของเราจะประสบเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง แต่จากการเปิดเผยล่าสุดภายใต้งานเสวนา "การเตรียมความพร้อมรับมือ...ภัยพิบัติครั้งใหม่" เนื่องในโอกาสวันครบรอบการก่อตั้งโรงพยาบาลหัวเฉียวครบ 74 ปีนั้น กูรูด้านภัยพิบัติธรรมชาติอย่าง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมฯ ได้เผยให้ทราบล่าสุดว่า "สถานการณ์บ้านเราในปีนี้ อาจเผชิญกับเรื่องของภัยแล้งมากกว่าน้ำท่วม" แม้การเตือนภัยเรื่องดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การเผยแพร่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการแพทย์ได้แม้เกิดภัยพิบัติต่างๆ นั้น รวมถึงการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้นั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
          ดร.ปวีณ นราเมธกุล ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เผยว่า ขั้นตอนเบื้องต้นนั้น ประชาชนควรที่จะศึกษาหาความรู้ข้อมูลตามสื่อต่างๆว่า ภัยพิบัติแต่ละชนิดนั้นมีความรุนแรงและสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงมีหน่วยงานใดทำหน้าที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยบ้าง เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้น มีหน้าที่ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นผ่านเบอร์ 1169 ที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ไม่เพียงให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการค้นหาศพผู้เสียชีวิต อย่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่สามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนผู้ประสบภัย ผ่านเบอร์ 0-2225-0020 ซึ่งเบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ประชาชนทั่วไปควรที่จะมีไว้
          ส่วนเรื่องการดูแลสุขภาพและการเข้าถึงแพทย์หากบ้านเราประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งนั้น ดร.ปวีณเผยว่า การดูแลสุขภาพร่างกายไปพร้อมๆ กับการเฝ้าระวังเรื่องของมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น สารเคมีที่อาจจะปนเปื้อนในอากาศ ซึ่งมาจากการเผาหรือไฟไหม้ป่าในช่วงที่สภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้งนั้น หรือสารเคมีที่ระเหยจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะหากสูดดมหรือสัมผัสไปยังบริเวณผิวหนังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนักวิชาที่ดูแลเกี่ยวข้องกับสารเคมี ควรลงมาดูแลและควบคุมในเรื่องนี้ตลอดจนให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติตนรวมถึงต้องมีการแจ้งเตือนว่า สารอันตรายเหล่านั้นมีจำนวนมากน้อยแค่ไหนในบรรยากาศ เพื่อให้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นได้ก่อนถึงมือแพทย์
          มาถึงการเกิดแผ่นดินไหว ดร.ปวีณกล่าวว่า การให้ความรู้กับประชาชนเพื่อรับทราบเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนเมื่ออยู่ท่ามกลางแผ่นดินไหวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้นสามารถเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ตลอดเวลา ดังนั้นคำแนะนำที่น่าสนใจหากอยู่บนตึกสูง ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่า "จำเป็นต้องรีบออกมาจากตึกสูงเหล่านั้น ในกรณีที่ไม่สามารถออกมาจากตึกสูงได้ทัน ควรอยู่ใต้โต๊ะเพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งก่อสร้างหล่นลงมาใส่ หรือหากเป็นไปได้ ควรเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่มีโครงสร้างรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็สามารถช่วยได้ทางหนึ่ง"
          สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับบ้านเราได้อีกครั้ง สืบเนื่องจากอิทธิพลของการเกิดพายุในระดับเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว(ประมาณ 40 ลูก ปัจจุบันอยู่ที่ 4-5 ลูก) ตลอดจนการป้องกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ดร.ปวีณแนะนำว่า อันดับแรกนั้นเริ่มจากการ เตรียมถุงยังชีพสำรองไว้ สำหรับระยะ 1-2 วันแรกก่อนที่หน่วยงานภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือถือเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้การเก็บเบอร์ฉุกเฉิน หรือเบอร์สำรองที่ใช้ติดต่อหน่วยงานในการเข้าไปช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ตลอดจนเตรียมคู่มือวิธีปฏิบัติตัวในการรับมือกับทุกภัยพิบัติจากหน่วยงานต่างๆ ไว้ นอกจากนี้การเตรียมตัวเรื่องของสุขภาพก็สำคัญ
          โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานนั้น ควรเตรียมและสำรองยาไว้บางส่วน ถ้ามั่นใจแล้วแน่ๆ ว่าน้ำท่วม และตัวเองก็ยังเป็นโรคเรื้อรังอยู่นั้น ต้องอพยพออกมาในจุดที่ปลอดภัย และที่สำคัญ ดร.ปวีณกล่าวต่อว่า ประชาชนต้องรู้จักปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือทัศนคติที่ว่า "การอาศัยอยู่ในบ้านที่มีน้ำท่วมขังนั้นจะทำให้การดูแลตนเองยากขึ้น ดังนั้นการอพยพออกมาก่อนน้ำท่วม จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ทางหนึ่ง" อย่างไรก็ตามหน่วยงานของรัฐบาลเอง ก็ควรจัดตั้งหน่วยบริการทางด้านการแพทย์ขึ้นมา โดยเฉพาะในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที.

 


pageview  1206040    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved