HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 06/09/2562 ]
โรคมากับฝน น้ำกัดเท้า เตือนดูแลป้องกันผิวหนัง

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคผิวหนังที่ประชาชนทั่วไปมักจะคุ้นเคยและพบเสมอในภาวะน้ำท่วม คือ โรคน้ำกัดเท้า เมื่อเดินย่ำน้ำบ่อยๆ หรือยืนแช่น้ำนานๆ จะทำให้เท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าบริเวณที่ผิวหนังเปื่อยนี้เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ในระยะแรกเมื่อผิวหนังมีการแช่น้ำนานๆ จะเกิดอาการเปื่อย ทำให้เกิดการระคายเคืองจากสิ่งสกปรกหรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบบวม แดง คัน แสบ และทำให้เชื้อโรค เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อรา เข้าสู่ผิวหนังทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งหากผิวหนังมีการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน แต่ถ้าเป็นเชื้อราจะมีลักษณะเป็นขุยสีขาว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน
          การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า คือ 1.หลีก เลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หรือสวมรองเท้าบูตเมื่อต้องลุยน้ำ 2.ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ เช็ดให้แห้งและทาครีมบำรุงผิว 3.ถ้ามีผื่นแดงแสบหรือคันควรทายาตามอาการ 4.ถ้าอาการ ไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ ทั้งนี้ การดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีกจึงมีความสำคัญ การรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคนี้ และควรให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า เมื่อเช็ดให้แห้งแล้วให้ทายารักษาโรคเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผลควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับ ไต และควรรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำอีกได้ง่าย นอกจากนี้ผู้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมควรระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำ เพราะอาจถูกของมีคมทิ่ม ตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่างๆ รวมทั้งเชื้อบาดทะยักตามมาได้ เมื่อประสบเหตุดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุขทันที และถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักมาก่อนควรปรึกษาแพทย์
          นอกจากนั้น โรงพยาบาลศิริราช  ปิยมหาราชการุณย์ ก็ได้ออกโรงเตือนโรคที่มากับหน้าฝน (Rainy season) ว่า ในฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ประกาศเตือน 5 กลุ่ม โรคที่มากับหน้าฝน ได้แก่
          1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดิน อาหาร โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี ติดต่อจากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตับอักเสบ มีไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน
          2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง เช่น โรคไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไป โรซิส ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อกได้ 3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม ปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ H1N1 และโรคไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปีก เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้
          4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ในระยะแรกจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้สูงประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง อาจมีเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อกได้ ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการซึมลงหรือชัก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต หรือพิการหากไม่ได้รับการรักษา โรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก หากเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ
          5.กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตา แดง เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา


pageview  1205154    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved