HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 08/08/2562 ]
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากคุณผู้ชายรู้ก่อนป้องกันได้

  โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมะเร็งอันดับ 4 ที่ตรวจพบในชายไทย มักพบบ่อยในชายสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งมีอายุสูงขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าอัตราการเกิดใหม่ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อยู่ที่ 7.5% ต่อประชากร 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถรักษาให้หายได้หากพบในระยะเริ่มต้น
          การประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก "Co-creation workshop: Prostate cancer" จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในการสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นการให้ความรู้และเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไปในอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสาขาวิชาชีพต่างๆ อาทิ แพทย์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ป่วย สื่อมวลชน นักวิชาการ และอีกมากมาย
          ผศ.นพ.ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬา ภรณ์ กล่าวว่า "โรคมะเร็งต่างๆ มักเริ่มต้นที่ โรงพยาบาลชุมชนซึ่งอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรค จึงอาจรักษาตามอาการ กว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ต้องมีการเปลี่ยนย้ายโรงพยาบาลหลายครั้งและใช้เวลายาวนาน ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การส่งตัว จนไปถึงสิทธิการรักษา ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะช่วยลดขั้นตอนเพื่อลดความเครียดของคนไข้"
          นพ.ดนัย มโนรมณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า "ข้อจำกัดทางการตรวจวินิจฉัยค่า PSA คือสถานพยาบาลบางแห่งโดยเฉพาะขนาดเล็ก ห้องปฏิบัติการไม่สามารถตรวจได้จึงต้องส่งไปห้องปฏิบัติการส่วนกลางหรือภายนอก ซึ่งใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ควรจะมีโปรแกรมตรวจสุขภาพที่มีการตรวจเช็กค่าบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ด้วย เนื่องจากผู้สูงอายุชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีการรักษาแบบทางเลือกนอกเหนือจากการรักษาแบบแผนปัจจุบันมากมาย เช่น การรักษาด้วยสมุนไพรต่างๆ ซึ่งผลที่ตามมาคือ หากประชาชนเลือกการรักษาทางเลือกอื่น กว่าจะกลับเข้าสู่การรักษาในแผนปัจจุบันอาจจะช้าเกินไป ทำให้คนไข้สูญเสียโอกาสได้การรักษาได้"
          รศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "เราทุกคนสามารถช่วยกันแก้ปัญหาได้ แพทย์ที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง ควรหาความรู้ ป้องกันและดูแลตัวเอง ในส่วนแพทย์ควรพยายามติดตามวิทยาการ ความก้าวหน้าในการรักษา วินิจฉัย ประเทศไทยมีมาตรฐานในการรักษาใกล้เคียงกับตะวันตก เรามียาที่ดี มีแพทย์ที่ใช้ยาได้ คนไข้พร้อมจะรับยา แต่ค่าใช้จ่ายถือเป็นอีกอุปสรรค ในส่วนศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะมีแนวคิดที่จะรวมตัวกันในการช่วยแก้ปัญหา เพื่อส่งต่อข้อมูลเบื้องลึกที่มีความสำคัญให้แก่ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ต่อการรักษาคนไข้ โดยทั่วไปส่วนใหญ่จะมีการจัดให้ความรู้เรื่องต่อมลูกหมากให้แก่ประชาชน แต่หากรวมตัวกันและกำหนดประเด็นที่มีความชัดเจน อย่างโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น"
          ผศ.นพ.ชูศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในต่างประเทศจะมีกลุ่ม Patience Advocacy กลุ่มพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความสมดุลในการเบิกจ่ายทั้งภาครัฐและภาคประกันชีวิต เป็นการให้ข้อมูลทางภาครัฐโดยตรงถึงความจำเป็นที่ต้องได้รับการพิจารณาการเข้าถึงทางเลือกใหม่ในการรักษา ไม่ใช่แพทย์อย่างเดียว ประเทศไทยมีกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะบางโรค แต่กลุ่มคนไข้มะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่มี".


pageview  1205082    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved