HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 27/06/2562 ]
เตือน!ภัยเงียบมะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตผู้หญิงไทยอัตราเพิ่มขึ้น

 มะเร็งในผู้หญิงในปัจจุบันนี้ นับว่ามีความน่าห่วงเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ชีวิตและด้วยสภาพแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ และมะเร็งที่ถือได้ว่าเป็นมะเร็งที่น่าห่วงมากที่สุดในผู้หญิงสมัยนี้นั้นก็คือ มะเร็งปากมดลูก จากตัวเลขที่มีเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ซึ่งมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ และสามารถตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้ก่อน
          ผศ.พิเศษ พญ.อรัญญา ยันตพันธ์ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์มะเร็งในหญิงไทยมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โชคดีที่เรามีวิธีการสืบค้นได้มากขึ้น มีการตรวจพบในระยะต้นๆ และพบคนไข้ในกลุ่มที่อายุน้อยมากขึ้น มะเร็งในผู้หญิงเรามีมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม พบช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่อาจพบได้ในคนที่อายุน้อย เช่น 20 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีคู่นอนหรือมีสามีหลายคน หรือมีสามีที่มีความสำส่อนทางเพศ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
          จากข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ปี 2560 ระบุว่า ในแต่ละปีจะพบว่าสตรีไทยป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 5,513 ราย และหากลงลึกไปอีกพบว่าในแต่ละวันจะมีสตรีป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มถึง 15 ราย และแต่ละปีจะมีสตรีไทยเสียชีวิตเพราะมะเร็งปากมดลูกถึง 2,251 ราย หรือเฉลี่ยจะมีสตรีไทยเสียชีวิตเพราะมะเร็งปากมดลูกวันละ 6 ราย ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึง 8,184 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
          ทั้งนี้ สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุในอวัยวะสืบพันธุ์ จึงทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปอยู่ที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของปากมดลูก จนกลายเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง (ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก) และเป็นมะเร็งในที่สุด การป้องกันตัวเองจากมะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายใน 3 ปีหลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เว้นแต่กับผู้ชายที่จะให้เป็นพ่อของลูก และหากยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์อาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป โดยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap test) ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ที่มีอายุตั้งแต่ 9-26 ปีควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับต่อต้านเชื้อ HPV ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ครั้งแรก
          ทางด้าน นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ใน ปี 2561 ที่ผ่านมา รพ.ราชวิถี รักษาผู้ป่วยมะเร็งมากถึง 15,670 คน หรือเฉลี่ยวันละ 43 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศปีละ 10,250 คน หรือเฉลี่ยวันละ 28 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ บุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องรักษาอาจต้องรอคิวนาน ซึ่งการรอเป็นปัญหาสำคัญ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็ว โอกาสหายและกลับไปใช้ชีวิตปกติก็จะมีมากขึ้น
          ดังนั้น มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี ได้ก่อตั้งโครงการ "ทีมราชวิถี ซูเปอร์ฮีโร่ พิชิตมะเร็ง" ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และส่งเสริมดำเนินงานของ รพ. ทั้งด้านการบริการผู้ป่วย การศึกษาวิจัยด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่ง "การพิชิตมะเร็ง หากรู้เร็ว และรักษาได้ไว โอกาสมีชีวิตรอดก็สูง" การรักษามะเร็งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การระดมทุนครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัยให้เพียงพอ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากจะได้ไม่ต้องรอนาน
          ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านสามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี "มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี" หมายเลขบัญชี 0512163221 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หรือสอบถาม โทร.0-2354-7997-9 หรือ www.rajavithifondation.com มาร่วมต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่รอการรักษา.


pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved