HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 01/02/2562 ]
ชูมาตรการภาษีลดเค็มป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

 ปัจจุบันมีคนไทย 22 ล้านคนป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคเกลือหรือโซเดียมที่มากเกินไป ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ที่น่าวิตก ในแต่ละปีคนไทยล้างไตเพิ่มขึ้นถึง 20,000 คน จากการบริโภคอาหารริมทาง อาหารจานเดียว อุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยวที่ปริมาณโซเดียมสูง รวมถึงเข้าครัวเองใช้เครื่องปรุงรสสารพัด น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอส ซุปก้อนยอดฮิต
          มีข้อมูลด้านสุขภาพพบว่า พฤติกรรมติดเค็มคร่าชีวิตคนไทยกว่าปีละ 20,000 คน เพราะกินเค็มเกิน 2 เท่า สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือ 1 ช้อนชา ส่งผลให้มีความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมาตรการลดโซเดียมในประเทศไทย
          ล่าสุด ในการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดโดยองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีการประชุมความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมาตรการลดโซเดียมในไทย
          ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า การบริโภคเกลือหรือโซเดียมที่มากเกินไป จะเป็นการเพิ่มระดับความดันโลหิต และเพิ่มความเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ตายก่อนวัยอันควร และเกิดโรคไต กระดูกเปราะ และมะเร็งกระเพาะอาหาร  หากลดเค็มได้จะป้องกันการเสียชีวิตได้กว่า 2.5 ล้านคนต่อปี สำหรับสถานการณ์ในไทย คนไทยบริโภคโซเดียม 4,300 มิลลิกรัมต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 โดยการทำงานร่วมกันของ สธ. อย. สสส. เพื่อลดการบริโภคโซเดียมลง ทั้งนี้มีข้อเรียกร้องในกลุ่มผู้บริโภคสามารถลดปริมาณโซเดียมได้ด้วยการไม่เติมหรือลดเครื่องปรุงระหว่างปรุงอาหาร จำกัดปริมาณขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมสูง เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำเมื่อกินอาหารนอกบ้าน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม ผู้ผลิตต้องลดโซเดียมลง
          4 มาตรการสำคัญ ลดเค็ม ลดโรค นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า มีมาตรการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร การติดฉลากแสดงปริมาณโซเดียมเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภค การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารดีต่อสุขภาพ และรณรงค์ให้ความรู้ ซึ่งจากการศึกษาประสิทธิภาพและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากที่สุด คือ ความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับลดสูตรปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังมีภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดเค็มน้อยมาก
          นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้การลดเค็มอาหารกลางวันในโรงเรียนและร้านจำหน่ายอาหารในสถานศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เนื่องจากเป็นปริมาณเกลือที่เด็กและเยาวชนได้รับทุกวัน รวมถึงการขับเคลื่อนลดเค็มในโรงพยาบาลต้นแบบ 4 ภาค ภาคเหนือ รพ.พะเยา ภาคกลาง รพ.รามาธิบดี ภาคใต้ รพ.สุราษฎ์ธานี ส่วนภาคอีสาน รพ.สุรินทร์ พยายามหาความร่วมมือจากผู้ประกอบการร้านอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งประสบผลสำเร็จ เกิดเมนูสุขภาพทุกร้าน ต้องขยายผลต่อไป
          ในการประชุมนี้ได้เปิดงานวิจัยประสิทธิภาพและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการลดบริโภคโซเดียมในไทย โดย พเยาว์ ผ่อนสุข นักวิจัยสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)
          "การบริโภคโซเดียมจำนวนมาก ส่งผลต่อโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ไทยกินเกลือเกินมาตรฐาน WHO แนะนำ มีข้อมูลจาก สธ. ค่าใช้จ่ายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปี 2553 มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท หลายหน่วยงานมีนโยบายลดบริโภคเกลือ ไทยมีมาตรการมากมายแต่ขาดหลักฐานทางวิชาการ ประสิทธิภาพ นำมาสู่งานวิจัยนี้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย มาตรการที่ใช้ค่าใช้จ่ายมากสุด คือ การใช้ฉลากโภชนา น้อยสุดเป็นมาตรการสร้างความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเมื่อเทียบผลกระทบสุขภาพหากมีมาตรการจะมีอัตราการตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองน้อยกว่า และมีจำนวนวันสุขภาพดีมากกว่า ไม่มีมาตรการใดเลย" พเยาว์เผย
          นักวิจัยหญิง IHPP กล่าวด้วยว่า หากมีทรัพยากรจำกัด การดำเนินมาตรการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดเค็ม จะรักษาชีวิตคนไทยได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามจะต้องมีมาตรการอื่น หรือใช้มาตรการภาษีและราคาเป็นสำคัญ
          การปรับสูตรลดโซเดียมเป็นเรื่องท้าทาย นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยว่า ปี 61 ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ 4 กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ลดโซเดียมลง 5% และพยายามให้ความรู้ประชาชนเลิกพฤติกรรมติดเค็ม ถ้าผู้บริโภคตระหนักและสนใจอาหารที่ไม่มีโซเดียมมาเกินไป มาตรการทางภาษีอาจไม่จำเป็นเร่งด่วน
          "การใช้ฉลาก GDA จะเพิ่มจาก 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยงเป็น 13 กลุ่ม ส่วนการปรับลดเค็มในสูตรอาหาร นอกจากนี้ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนสูตรอาหาร มี 999 ชนิด สร้างความรู้กับคนรุ่นใหม่ ให้เด็กไทยรู้จักอ่านฉลากโภชนาการ และบอกต่อยังชุมชน นำสู่การปรับเปลี่ยนสูตรอาหารลดเค็มในร้านค้าของชุมชน มาตรการเหล่านี้จะเป็นหัวหอกให้ประชาชนเรียนรู้ ปรับพฤติกรรมบริโภคอาหารที่เหมาะสม รวมทั้งมีกระแสตื่นตัวมากขึ้น" นพ.พูลลาภกล่าว
          อย่างไรก็ตาม รองเลขาฯ อย.กล่าวว่า มาตร การลดโซเดียมในไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับ แต่ขอความร่วมมือลดเกลือจากผู้ประกอบการ ก็มีอาหารสำเร็จรูปเปลี่ยนสูตรบางส่วน เหลือแต่สูตรอาหารยอดนิยม ยังไม่ยอม ต้องเจรจาต่อ ทุกมาตรการจะมีการประเมินผล ส่วนเป้าระยะสั้นจะลดบริโภคโซเดียมลง 5% ภายในปี 2562 ส่วนอนาคตอาจพิจารณาใช้อำนาจที่มีอยู่ของ อย.ควบคุมสูตรผลิต ภัณฑ์รวมถึงการใช้ฉลาก เช่นเดียวกับการประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน ไม่เพียงแค่ลดเค็ม แต่เป็นการสร้างคนไทยสู่วิถีชีวิตสุขภาวะที่ดี เป็นเสียงจาก ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ซึ่ง สสส.ร่วมขับเคลื่อนมาตรการทั้งส่งเสริมฉลากทางเลือกสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อมเอื้อลดการกินเค็ม
          "มาตรการลดโซเดียมภาครัฐต้องเป็นโต้โผใหญ่ ส่วนภาคประชาชนต้องมีประสบการณ์ความสำเร็จและสื่อสารรณรงค์อย่างต่อเนื่องปรับพฤติ กรรมติดเค็ม รณรงค์ลดพุง ลดโรค ลดเค็มครึ่งหนึ่ง ซึ่งเน้นย้ำผลกระทบทางสุขภาพ สสส.ทำงานเชิงพื้นที่ในโรงพยาบาล สถานประกอบการและในชุมชน องค์กรท้องถิ่น รวมถึงทำโครงการลดน้ำหนักในเด็ก ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ สร้างโมเดลในโรงเรียน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญเป็นเยาวชน เพราะการลงทุนในเด็กมีความคุ้มค่าที่สุด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือลดลง" ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
          นวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหารลดโซเดียมเป็นอีกแนวทางหยุดอาหารโซเดียมสูง ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเดียวกันว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมติดเค็มในไทยทำได้ยาก เพราะเกลืออยู่ในวัฒนธรรมการถนอมอาหารมาแต่โบราณ การหมักดองใส่เกลือปรับสภาพจุลินทรีย์ ในกระบวนการผลิตอาหารบางอย่างต้องใช้เกลือ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น
          "มีการศึกษาพบอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ก่อนปรุงมีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 1,500 มิลลิกรัม อย่างก๋วยเตี๋ยวเป็ดสูงถึง 3,200 มิลลิกรัม เมื่อเติมเครื่องปรุงแล้วอยู่ที่ 4,400 มิลลิกรัม บางคนกินสองชาม ฉะนั้นการปรับพฤติกรรมการกินสำคัญ นอกจากนี้ในทางวิชาการมีสารทดแทนเกลือหรือทำให้ผลึกเกลือเล็กลง แล้วยังมีเทคนิคดึงเกลือจากน้ำปลาลดโซเดียม หากมีการส่งเสริมใช้เกลือโซเดียมต่ำและเครื่องปรุงแต่งสมุนไพรสูตรลดโซเดียมในกระบวนการทำอาหาร จะทำให้มีเมนูอาหารโซเดียมน้อยลง" ศ.ดร.วิสิฐย้ำในตอนท้าย ไทยต้องลดการตายและสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มสูง.


pageview  1204973    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved