HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 21/12/2561 ]
ผู้สูงอายุกับการนอน เทคนิคช่วยสุขภาพดี

กระบวนการสำคัญของร่างกายที่เกิดขึ้นจากการนอน ก็คือการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ กระบวนการเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นให้ไปเป็นความทรงจำระยะยาว การหลั่งฮอร์โมนเพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต และทำให้ร่างกายอยากอาหาร จากงานวิจัยพบว่าการนอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมง เป็นจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งควรจะพักผ่อนเพื่อกระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมาเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับผู้ใหญ่บางคนที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงเป็นประจำ อาจจะคิดว่าร่างกายเคยชิน เพราะไม่เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวัน แต่จริงๆ แล้วมีผลทำให้การทำงานสมองนั้นไม่ดีเท่ากับสมองที่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
          นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิ การรับรสที่เปลี่ยนไปทำให้รับประทานอาหารไม่อร่อย สายตามัวลง เป็นต้อกระจก หูได้ยินไม่ชัด ความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ทำให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวลดลง รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนของร่างกาย ซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้การนอนของผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพ ได้แก่ การงีบหลับในเวลากลางวัน การนอนไม่เป็นเวลา การเข้านอนก่อนที่จะง่วง หรือเข้านอนเมื่อผ่านเวลานอนไปแล้ว ใช้เตียงเพื่อจุดประสงค์อื่น เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ รับประทานอาหาร เนื่องจากข้อจำกัดของการเคลื่อนไหวมีสิ่งรบกวนในห้องนอน เช่น เสียงดัง มีแสง ห้องร้อน ตลอดจนความไม่สบายตัวจากโรคประจำตัว ปัญหาทางด้านจิตใจทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนอนหลับในผู้สูงอายุมีคุณภาพลดลง ดังนั้น บุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ เพื่อจะได้วางแผนการดูแลที่เหมาะสม
          นพ.สกานต์ บุนนาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปแพทย์มักจะรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยให้ผู้สูงอายุฝึกเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา รับประทานอาหารให้พอดี ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันในช่วงเช้าและบ่าย งดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ ไม่อ่านหนังสือหรือดูทีวีบนเตียง หากผู้สูงอายุไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เองหรือต้องนอนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ ผู้ดูแลจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ลดการทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดังรบกวนการนอน นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยา ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากระบบเผาผลาญและการทำลายยาในผู้สูงอายุจะทำงานลดลง ทำให้ฤทธิ์ของยาตกค้างอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติ หรือทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินต้องใช้ยาที่มีขนาดสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การรักษาโดยการใช้ยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้สูงอายุ.


pageview  1205118    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved