HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 30/04/2556 ]
ระทึกผลวิจัยชี้แพร่พันธุ์สู่มนุษย์ได้ "กรมปศุสัตว์"แจงปมไข้หวัดนก ความเสี่ยงระบาดในไทยลดลง

  นายทฤษฎี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการติดตามและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกเข้ามาในไทย จนถึงขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณของเชื้อไข้หวัดนกในไทย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่เคยระบาดในไทย หรือสายพันธุ์ H7N9 ที่กำลังระบาดในจีน ล่าสุดมีข่าวดี คือ ฝูงนกอพยพที่เข้ามาในไทยเริ่มบินกลับไปยังถิ่น คือไปทางจีนและมองโกเลีย เนื่องจากสภาพอากาศเริ่มมีความอบอุ่นมากขึ้น ถือเป็นการลดปัจจัยเสี่ยง การเกิดการระบาดของไข้หวัดนกในไทยลงไปได้ส่วนหนึ่ง
          "ยืนยันว่า มาตรการเฝ้าระวังไข้หวัดนกของไทยในขณะนี้ เป็นไปอย่างเข้มงวด เป็นมาตรการที่รับมือได้ทั้งไวรัส H7N9 และ H5N1 ซึ่งในส่วนของกรมปศุสัตว์ ได้ควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก โดยเฉพาะจุดสำคัญคือแนวชายแดน จะมีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ และสุ่มตรวจเพิ่มขึ้นจากปีละ 2 ครั้งมาเป็นสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามและป้องกันผู้ป่วยต่างชาติที่อาจเดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งหมดนี้ทำให้ยังไม่ตรวจพบเชื้อ หรือสัญญาณการเกิดการระบาดไข้หวัดนกในไทยแต่อย่างใด"
          นางสาวศยามล สิทธิสาร นิสิตปริญญาเอกสาขาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์จีน ได้นำที่มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่พบเชื้อ ผู้ที่ทำงานวิจัย และผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ปีกมาเป็นตัวอย่างในการศึกษา และพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่ระบาดในจีน ไม่สามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้
          ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคืองานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิลเมดิสัน พบว่า ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 มีการกลายพันธุ์ของโปรตีน ที่ทำให้สามารถเติบโตในเซลล์ของมนุษย์ได้ แต่ตัวอย่าง จากนกและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการกลายพันธุ์ โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ข้อมูลมาจากลำดับของยีนที่นักวิจัยชาวจีนได้ศึกษาและเก็บไว้ในฐานข้อมูลนานาชาติ ทำให้นักวิจัยได้ร่องรอย ทางโมเลกุลจนสามารถสรุปได้ว่า ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 เป็นไวรัสที่น่ากลัวทั้งในด้านของวิวัฒนาการ การแพร่กระจาย และการกลายพันธุ์ เนื่องจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ไวรัสนี้ปรับตัวกลายพันธุ์ เพื่อเจริญเติบโตในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะมนุษย์ จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าไวรัสนี้จะปรับตัวไปเรื่อยๆ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีมากมายหลายชนิด


pageview  1206107    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved