HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 04/01/2556 ]
ยืด! อายุเกษียณปลดล็อกแรงงาน

รับปีใหม่ 2556 วันนี้...เราเดินผ่านคนไทย 10 คน...จะมี 1 คนเป็นผู้สูงอายุ แล้วถ้าผ่านไปอีก 20 ปี ในจำนวน 4 คนที่เราเดินผ่าน...จะมีผู้สูงอายุ 1 คน


          ตัวเลขปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุไทยคิดเป็นอัตราส่วน 11.5% ของประชากรไทยทั้งหมด แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 20%


          พูดกันมานานแล้วว่า...สังคมไทยกำลังก้าวสู่ปรากฏการณ์ใหม่ ที่เรียกว่า “สังคมของผู้สูงอายุ” หรือ “ผู้สูงวัย” ย้อนไปในปี 51 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุราว 7.4 ล้านคน แต่ในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น กว่าอีก 2 เท่า หรือเป็น 17.7 ล้านคน


          ตัวเลขข้างต้นนี้เป็นการประมาณการจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของอัตราการเกิด การตาย และการที่คนไทยมีอายุยืนมากขึ้นนั่นเอง


          คงเลี่ยงไม่ได้ว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนประชากรวัยทำงานจะลดลงในขณะที่ความต้องการแรงงานยังมีอย่างต่อเนื่อง


          แม้ว่าตลาดแรงงานไทยจะปรับตัวด้วยการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาชดเชย แต่การใช้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านก็มีข้อจำกัด ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไข


          มองปัจจัยภายใน การขยายอายุเกษียณหรือการขยายอายุการทำงานจึงเป็นทางออกทางหนึ่งที่สำคัญ ที่ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังแรงงานกลุ่มลูกจ้าง...แรงงานในระบบ


          ว่ากันตามจริง แม้จะยังไม่มีการกำหนดอายุเกษียณลูกจ้างของภาคเอกชนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ในทางปฏิบัติก็ใช้อายุการรับสิทธิประโยชน์ทดแทนชราภาพของกองทุนประกันสังคมที่อายุ 55 ปีเป็นเกณฑ์ทั่วไป หรืออาจกำหนดอายุเกษียณไว้ในสัญญาจ้างงานของแต่ละอุตสาหกรรม...


          ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งจึงไม่ได้ทำงาน แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะยังคงมีความรู้ ความสามารถ แถมยังมีศักยภาพในการทำงานที่เป็นผลมาจากแนวโน้มสุขภาพและอายุของประชากรที่ยืนยาวขึ้น


          เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรแรงงานและมิติทางเศรษฐกิจ
          เวทีมโนทัศน์ใหม่ผู้สูงอายุ เรื่อง “ขยายอายุการทำงาน : มุมมอง ต่อภาคอุตสาหกรรม” จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุและอายุเกษียณที่เหมาะสมสำหรับคนไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประสบการณ์จากวิทยากรหลายท่านสะท้อนประเด็นเอาไว้น่าสนใจ


          นางสาวกุลธิดา เลิศพงษ์วัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุและแรงงาน สำนักงานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่า สังคมไทยกำลังดำเนินไปสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ปัญหาสำคัญเรายังขาดการพัฒนาเชิงคุณภาพแม้ว่าจะมีการศึกษาสูงขึ้น


          “วัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานในหลายวิชา ขณะที่กลุ่มแรงงานพบว่าการผลิต...พัฒนากำลังคนยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้”


          แนวทางพัฒนาแรงงานสู่สังคมสูงอายุ ด้านแรงงานในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จะต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณภาพคนไทยในทุกช่วงวัย โดยการส่งเสริมการมีบุตรที่มีคุณภาพ การพัฒนาสติปัญญา อารมณ์ คุณธรรม และจริยธรรม ควบคู่ไปกับความรู้เชิงวิชาการ


          ขณะเดียวกัน ด้านกำลังแรงงานจะต้องมีการพัฒนาให้มีความรู้และสมรรถนะที่สอดคล้องกับโครงการการผลิต บริการบนฐานความรู้...เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์


          “สังคมผู้สูงอายุก็จะต้องมีการพัฒนาความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ... สังคมให้มีคุณภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมประชากรไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีสวัสดิการทางสังคมอย่างยั่งยืน”
          พูนศักดิ์ วุฒิกุล อุปนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยฯ ฝ่ายพัฒนาบุคลากร เสริมว่า ในปีที่แล้วแรงงานกลุ่มสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ช่องว่างความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน


          พูนศักดิ์ บอกว่า แรงงานส่วนมากที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมจากเดิมที่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียนอาชีวะซึ่งจบการศึกษาในระดับ ปวช. ปวส. แต่ปัจจุบันเด็กนักเรียนกลุ่มนี้มุ่งหน้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีมากขึ้นทำให้ช่องว่างความต้องการแรงงานนั้นเพิ่มมากขึ้น
          “ส่งผลให้ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก”
          พูนศักดิ์ชี้ประเด็นไปที่ข้อกำหนดการเกษียณอายุที่ 55 ปี กำลังเป็นข้อจำกัดสำคัญ ที่ทำให้แรงงานกลุ่มประชากรวัยสูงอายุหายไปจากสายการผลิตเป็นจำนวนมากในอนาคต...


          ตัวเลขประชากรในปี 2543-2573 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่ากลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากถึงร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย
          “เพื่อเป็นการแก้ปัญหากลุ่มแรงงานสูงอายุไม่ให้หายไปจากสายการผลิต ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร แรงงาน และมิติทางเศรษฐกิจ เพราะการขยายอายุเกษียณมีความหมายสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม โดยพิจารณาตามความจำเป็น และ... สถานการณ์”


          อาทิ การขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปี และรัฐควรกำหนดอัตราการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน คล้ายกับคนพิการ โดยการกำหนดอัตราลดหย่อนภาษี โดยให้นำค่าจ้างไปหักภาษีจำนวน 2 เท่า
          ส่วนอัตราค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างสูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า ร้อยละ 70 ของฐานเงินเดือนสุดท้าย รวมไปถึงการยกเว้นเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกกรณี แต่สามารถใช้สิทธิได้


          พุ่งเป้าไปที่ประเด็นขยายอายุการทำงาน มุมมองจากภาคอุตสาหกรรม วรรณา ดุลยาสิทธิพร กรรมการสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สะท้อนว่า ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการกำลังแย่งกำลังแรงงานกัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ
          คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2553-2563 แบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม อย่างเช่นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ในปี 2555 มีการคาดการณ์ขาดแคลนแรงงานราว 40,000 คน แต่ผลจากนโยบายรถคันแรกทำให้ธุรกิจยานยนต์โตขึ้นกว่า 5 เท่า...ครบ 10 ปี จะมีความต้องการแรงงานสาขานี้กว่า 185,000 คน


          ในต่างประเทศ...กำหนดอายุเกษียณทุกกลุ่มงานเท่ากัน ประเทศญี่ปุ่นกำหนดที่อายุ 65 ปี ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีหลัง โดย
          ให้เหตุผลกับประชาชนว่าไม่มีเงินสำหรับจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็น 65 ปี แต่สหรัฐอเมริกายกเลิก
          อายุเกษียณงานไปแล้ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานและเสริมรายได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ
          สำหรับเมืองไทยในเบื้องต้น...สิ่งสำคัญภาครัฐควรกำหนดอายุเกษียณภาคแรงงานให้ชัดเจน เช่นเดียวกับกลุ่มข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชน.

          ในต่างประเทศ...กำหนดอายุเกษียณทุกกลุ่มงานเท่ากัน ประเทศญี่ปุ่นกำหนดที่อายุ 65 ปี ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีหลัง โดยให้เหตุผลกับประชาชนว่าไม่มีเงินสำหรับจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็น 65 ปี แต่สหรัฐอเมริกายกเลิกอายุเกษียณงานไปแล้ว เพื่อเพิ่มโอกาส


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved