HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 14/12/2555 ]
สารเคมีกับวิถีเกษตรไทย

ทุกวันนี้นอกจากเราต้องผจญกับความเครียด ทั้งจากสภาพสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมที่แย่ลง ปัญหารถติด อาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาหนี้สิน ซึ่งความเครียดจากสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาสุขภาพตามมาโดยไม่รู้ตัวแล้ว
          ขณะเดียวกันเรายังต้องเผชิญกับภัยมืดที่ไม่รู้ตัว ที่มาจากสารปนเปื้อน และความไม่สะอาดในอาหารที่เรารับประทานกันเข้าไปในแต่ละวัน วันดีคืนดีไปนั่งกินหมูกระทะ กลับมาป่วยและเสียชีวิตในที่สุดเหมือนอย่างที่เป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
          “You are what you eat” คำกล่าวนี้เป็นข้อเตือนใจให้ตระหนักในการเลือกรับประทานได้เป็นอย่างดี เพราะสิ่งที่เรารับประทานเข้าไป ก็จะสะท้อนสุขภาพของตัวเราออกมาให้เห็น
          ถ้าเรารับประทานอาหารดี มีประโยชน์ สุขภาพจะดี หน้าตาจะแจ่มใส แต่ถ้ารับประทานอาหารปนเปื้อน ถ้ามีเชื้อปนเปื้อนชนิดร้ายแรง หรือมีสารพิษในปริมาณมากก็อาจจะแสดงอาการให้เห็นในทันที เช่น อาหารเป็นพิษ อาเจียน หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต
          บางครั้งแม้จะไม่แสดงอาการในทันที แต่อาจจะเก็บสะสมในร่างกาย เข้าลักษณะ “ตายผ่อนส่ง” นำไปสู่โรคร้ายอย่าง “มะเร็ง” ในที่สุด
          สิ่งที่น่าหวาดวิตกสำหรับคนไทยก็คือ ตัวเลขการนำเข้าสารเคมีของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สารเคมีเหล่านี้ถ้าใช้โดยไม่มีความรู้ที่ถูกต้องก็เหมือนอาวุธเคมีดีๆ นี่เองที่เข้ามาประหัตประหารคนไทย
          เป็นภัยร้ายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประเทศต้องเสียเงินงบประมาณเพื่อการรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกำลังแรงงานที่จะพัฒนาประเทศก็ลดน้อยถอยลง รวมไปถึงมีผลต่อสมองและสติปัญญาด้วย
          ข้อมูลที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รายงานการนำเข้าวัตถุอันตราย พบว่า ในปี 2554 มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 164,538 ตัน มูลค่า 22,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีปริมาณการนำเข้า 117,815 ตัน มูลค่าการนำเข้า 17,956 ล้านบาท
          สำหรับปี 2555 ข้อมูลเดือน ม.ค.-ก.ย.2555 แค่ 9 เดือน มีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้ามาแล้ว 114,209 ตัน มูลค่าการนำเข้า 16,315 ล้านบาท
          สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่นำเข้าก็วนเวียนกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยนี่แหละครับ ยิ่งช่วงนี้พืชผักมีราคาแพง ข้าวขายได้ราคาดี เกษตรกรก็ยิ่งลงทุนใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงและโรคพืชมากขึ้น
          จากข้อมูลของคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ที่ลงไปสำรวจชาวนาที่สุพรรณบุรี พบว่ามีการฉีดพ่นสารเคมีถึง 15 ครั้ง ในการปลูกข้าว 1 รอบ คิดเป็นต้นทุนการใช้สารเคมีขึ้นไปที่ระดับ 30% ของต้นทุนการผลิตจากปกติอยู่ที่ 7%
          ที่เกษตรกรต้องโหมใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ก็เพราะหวังที่จะมีผลผลิตออกมาขายในปริมาณที่มากขึ้น เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่กองอยู่ตรงหน้า ซึ่งไม่แน่นอนมั่นคง อาจจะมาเร็วไปเร็ว จึงต้องรีบคว้าโอกาสนั้นไว้...งานนี้เลยไม่รู้จะโทษใครดี.
 


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved