HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 06/07/2555 ]
เตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ

 ขณะที่วิทยาศาสตร์ด้านการสาธารณสุขได้ก้าวหน้ามาตามลำดับ ประเทศต่างๆได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้น ไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ จากการเปิดเผยของ นพ. สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปถึง 8.3 ล้านคน หรือร้อยละ 13 ของประชากรทั้งประเทศ กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ
          นโยบายของรัฐบาลที่จะรับมือปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ชื่อนโยบาย “ลดโรค เพิ่มสุข” แบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ช่วยเหลือตนเองได้ กลุ่มผู้ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง และกลุ่มผู้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โดยเน้นการช่วยเหลือในด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ช่วยเหลือตนเองได้ สำหรับกลุ่มผู้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องกิจวัตรส่วนตัวและอื่นๆ
          นโยบายการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐ-สภา ได้แก่ การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได กล่าวคือ รัฐบาลจะจ่ายเบี้ยยังชีพให้ตามอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รายละ 500 บาท จนถึง 1,000 บาท เป็นนโยบายที่สืบทอดมาจากรัฐบาลก่อนๆ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยม และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เน้นเป็นพิเศษให้ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
          แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนแบบประชาสงเคราะห์ หรือสังคมสงเคราะห์ไม่ได้ มุ่งช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุให้ช่วยเหลือตนเองได้ แบบยั่งยืน และดูเหมือนว่ารัฐบาลปัจจุบันจะไม่ได้สานต่อนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนที่มุ่งแก้ปัญหาผู้สูงอายุอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน นั่นก็คือ โครงการจัดตั้งกองทุนเงินออมแห่งชาติ เพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ โดยให้ผู้ทำงานนอกระบบประกันตนเอง และรัฐบาลออกเงินสมทบ
          มีข้อมูลระบุว่าสังคมไทยในปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่นอกระบบการประกันสังคม มีกลุ่มบุคคลที่อยู่ในระบบประกันสังคมเพียง 8–9 ล้านคน นอก เหนือจากข้าราชการซึ่งมีหลักประกันอยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศคือ กลุ่มเกษตรกร ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม นอกจากนั้นยังมีแรงงานนอกระบบอีกถึงร้อยละ 45 ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมเสี่ยงต่อการเป็นคนจนมากที่สุดในวัยชรา
          รัฐบาลก่อนมีนโยบายที่จะขยาย การประกันสังคมไปถึงแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เรียกว่า “ประกันสังคมชาวบ้าน” นอกจากการจัดตั้งกองทุนเงินออมแห่งชาติแล้ว ยังจะขยายไปถึงกลุ่มอื่นๆ เช่น กองทุนชาวนา เพื่อให้ทุกกลุ่มมีเงินบำนาญสำหรับใช้จ่ายในยามชรา วิธีการก็คือหักเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายข้าว เข้ากองทุน และรัฐบาลออกเงินสมทบ
          ไม่ทราบว่ารัฐบาลปัจจุบันจะสานต่อนโยบายประกันสังคมแรงงานนอกระบบหรือไม่ ถ้าสานต่อก็เป็นเรื่องที่ยินดี เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้สูงอายุให้ช่วยเหลือตนเองได้ตามหลักการพึ่งตนเอง เพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้นานที่สุด และมีหลักประกัน ที่มั่นคง ดีกว่าการช่วยเหลือแบบลดแลกแจกแถม หรือการช่วยเหลือแบบประชาสงเคราะห์ ซึ่งไม่มั่นคงและทั่วถึง.


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved