HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 05/05/2564 ]
รมสุขภาพจิตชวนคนไทยสร้างเกราะป้องกันตนเอง-ครอบครัว-ชุมชน ฉีดวัคซีนใจสู้หันตภัยโควิด-19

  โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ในระลอก 3 ที่พุ่งทะยานแตะสี่หลักหลายวันติดต่อกัน ทั้งตัวเลขผู้เสียชีวิตในระลอกนี้ไปแล้ว 151 คน
          "ทีมข่าวสาธารณสุข" ขอแสดงความเสียใจกับทุกครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปกับโรคโควิด-19 มหันตภัยร้ายของมวลมนุษยชาติ ซึ่งเรายังต้องเรียนรู้โรคและปรับตัวสู้ด้วยวิถีชีวิตใหม่ คือการสวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อยๆเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงลดการเดินทางทำงานจากที่พัก ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้และอยู่ต่อสู้กับมันไปอีกนาน
          เมื่อสุขภาพกายมีแนวทางการป้องกันแล้วเราคงต้องหันมาดูแลสุขภาพใจไปพร้อมๆกัน
          "ความเครียดของคนไทยขึ้นลงตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิใจของคนไทยขึ้นลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยตอนต้นปี 2564 ช่วงของการระบาดเดือน ม.ค.64 ความเครียดของคนไทยจะขึ้นสูงและคงที่อยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อมีสถานการณ์การระบาดในวงกว้างความเครียดของคนไทยก็เริ่มค่อยๆสูงขึ้น โดยขึ้นสูงสุดวันที่ 12 เม.ย.64 อยู่ที่ร้อยละ 6.74" พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ฉายภาพสถานการณ์ความเครียดของคนไทยที่ต้องเจอกับการระบาดของโรค
          สำหรับการติดตามดูอุณหภูมิความเครียดของคนไทย นั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต เล่าว่า "กรมสุขภาพจิตมีเครื่องมือที่เรียกว่า แบบทำสอบ Mental HealthCheck-in ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิต คัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์โควิด-19 ของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยประเมิน 4 เรื่องคือ ความเครียด ภาวะหมดไฟ ความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายภาวะซึมเศร้า โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 เม.ย.64 มีผู้เข้ามาประเมินแบบทดสอบนี้ 838,550 คน พบกลุ่มคนที่มีภาวะเสี่ยง 38,804 คน ได้รับการติดตาม 20,849 คน ยังไม่ได้ติดตาม 17,893 คน เพราะบางคนไม่ได้ทิ้งหมายเลขโทรศัพท์ไว้ จึงอยากเชิญชวนคนไทยเข้ามาประเมินสุขภาพใจของเราและให้เบอร์ติดต่อกลับเพื่อที่เราจะได้ช่วยเหลือ"
          แต่ท่ามกลางภาวะวิกฤติที่เรากำลงเผชิญอยู่ คนไทยก็ยังมีความสามารถที่จะต่อสู้เพื่อฝ่าฟันให้ผ่านพ้นจากวิกฤติได้ ความสามารถนี้เราเรียกว่า "พลังใจ"
          "เวลาที่คนเราจะเผชิญกับภาวะวิกฤติและสามารถ ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ จะต้องมีความสามารถหรือภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจเราเรียกตัวนี้ว่า "พลังใจ" เป็นความสามารถในการรับมือหรือปรับตัวต่อสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นและยังคงผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นไปได้ โดยยังมีภาวะความรู้สึกหรือสุขภาพจิตที่ดีต่อไปเปรียบเสมือนร่างกายต้องการวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย พลังใจก็เปรียบได้กับวัคซีนใจ ที่เราฉีดให้กับตัวเราได้ทันทีทุกวัน เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้าง มี 4 เข็ม ได้แก่ ปลอดภัย ไม่ตระหนก มีความหวังอยู่เสมอ และพร้อมที่จะเข้าใจดูแลผู้อื่น "พญ.พรรณพิมล ฉายภาพของ "พลังใจ" ให้เห็นกันชัดๆ
          อธิบดีกรมสุขภาพจิต ขยายความวัคซีนใจด้วยว่า เข็มแรกความรู้สึกปลอดภัย เมื่อเราเครียดเพราะกลัวติดเชื้อ เราก็ต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัยด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่ไปในที่แออัด ยังเป็นความปลอดภัยสำหรับทุกคนเสมอที่ต้องปฏิบัติตัวกันต่อไป เข็มสอง ไม่ตระหนก โดยเลือกรับข้อมูลที่เหมาะกับเรา และเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากภาครัฐ เช่น ศบค. และ สธ. ลดการรับฟังข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มา เข็มสาม ความหวัง คือ การเลือกมองในมุมมองด้านบวกที่ทำให้เรามีกำลังใจ เข็มสี่ ความเข้าใจ โดยส่งต่อกำลังใจที่ดีให้กันและกัน ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มเห็นการที่ผู้คนออกมาช่วยเหลือกัน จิตอาสานำอาหารมาแบ่งปันกัน ซึ่งสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับเมื่อเราฉีดวัคซีนใจให้กับตัวเราเองแล้ว เรายังสามารถส่งต่อวัคซีนใจให้กับครอบครัวและชุมชนได้อีกด้วยเช่น จ.นครนายก จะมีกลุ่มลูกหลานที่ตกงานกลับเข้ามาชุมชน ก็มารวมกลุ่มกันพยายามสร้างงานบางอย่างความถนัดของ เช่น เป็นแกร็บส่งอาหารและสิ่งของ
          หรือตัวอย่าง ครูกับเด็กในภาคอีสานรวมตัวกันเป็นกึ่งจิตอาสาออกเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ ทั้งคนให้และคนรับต่างก็ได้พลังใจเมื่อทุกคนก็มีพลังใจ ก็จะค่อยๆกลับมาใช้วิถีชีวิตของตัวเองต่อไปส่วนกรุงเทพฯและเมืองใหญ่อื่นๆ กรมสุขภาพจิตมองว่า ที่ทำงาน ก็คือ ชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนของกลุ่มวัยทำงานมีฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็น อสม.ที่จะส่งต่อวัคซีนใจสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้ข้อมูลการป้องกันตนเอง รวมไปถึงการรวมกลุ่มกันพูดคุยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แทนที่จะคิดอยู่คนเดียว ถ้ามีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเป็นการตัดสินใจที่มีการเตรียมความพร้อม
          "ทีมข่าวสาธารณสุข" เชื่อมั่นในพลังคนไทยที่ผ่านมาสังคมไทยเคยเจอกับภาวะวิกฤติมาแล้วหลายต่อหลายหน และเราก็ผ่านมาได้ทุกครั้งด้วยพลังของคนไทย
          การระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาเราเห็นจิตอาสาออกมาช่วยเหลือ เรามีตู้ปันสุขเกิดทุกสารทิศทั่วไทยเห็นศักยภาพเด็กไทยและคนไทยในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 สำหรับระลอกสาม แม้คนไทยจะมีความเครียดมากขึ้น แต่เราก็ยังมีพลังใจจากครอบครัวและชุมชนที่พร้อมจะช่วยสนับสนุนโอบอุ้มเราเพื่อผ่านพ้นวิกฤติครั้งไปได้
          พลังใจของคนไทยเท่านั้น ที่เปรียบเสมือนตัวช่วยสำคัญให้เรารอดจากวิกฤติมหันตภัยร้ายโควิด-19 ไปด้วยกัน.


pageview  1205149    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved