HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 29/05/2555 ]
สศช.แฉคนไทยเป็นหนี้ท่วมหัว เดินหน้ากู้สนองนโยบายรัฐทั้งซื้อรถซ่อมบ้าน

 สศช.หวั่นปี 55 ประชาชนเป็นหนี้ท่วมหัว หลังรัฐอัดนโยบายประชานิยม ทั้งปล่อยกู้ช่วยน้ำท่วม รถคันแรก และบ้านหลังแรก หวั่นตัวเลขว่างงานน้อย แต่ว่างงานแฝงสูงมาก ส่วนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น 15.1% เมื่อนำมาหักกับดัชนีราคาผู้บริโภคหรือราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 3.4% ทำให้ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้น 11.4%
          นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในปี 2555 สัดส่วนของหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากปี 2554 ที่มีอยู่ 55.8% ของครัวเรือนทั่วประเทศ หรือประมาณ 134,900 บาทต่อครัวเรือน โดยส่วนหนึ่งเป็นการก่อหนี้จากผลการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ต่อเนื่องมาจากปี 2554 ทั้งนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 นโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก และการแปลงหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ
          ขณะเดียวกัน ยังมีการก่อหนี้รายย่อมเพิ่มขึ้น เห็นได้จากยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต เมื่อสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 10.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 6.4% ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้น 13.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.7% ขณะที่การให้สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ก็ยังสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากประชาชนต้องกู้เงินมาซ่อมแซมและฟื้นฟูที่อยู่อาศัย รวมทั้งรถยนต์หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะประชาชนส่วนหนึ่งได้ใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดซื้อสิ่งของมากขึ้น “หลังจากน้ำท่วมแต่ละคนก็มีค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตแทนเงินสด ซื้อของใช้เพื่อทดแทนที่ชำรุดเสียหาย เช่น ทีวี พัดลม เพราะใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งคนที่มีรายได้คงที่คงไม่ส่งผลอะไรมาก และจากนี้คงต้องดูพฤติกรรมการใช้จ่ายอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร”
          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ภาวะการจ้างงานในไตรมาสแรกของปี 2555 พบ ว่าแม้ภาพรวมการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น แต่มีผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จำนวน 7.94 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.8% สะท้อนว่ายังมีการว่างงานแฝงอยู่ และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งยังเปิดดำเนินการได้ไม่ได้ ขณะที่มีผู้ทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตเต็มที่ 1.05 ล้านคน คิดเป็น 2.76%ของผู้มีงานทำทั้งหมด เพิ่มขึ้น 13.61% จากช่วงเดียวของปีก่อน
          สำหรับอัตราการว่างงานของไตรมาสแรกปีนี้เท่ากับ 0.73% หรือ 285,150 คน ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ในระดับ 0.83% อย่างไรก็ตามการว่างงานแฝงเพิ่มขึ้น 1.44% คิดเป็น 557,540 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.2% จำแนกเป็นผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และต้องการทำงานเพิ่ม 111,755 คน และแรงงานรอฤดูกาล 445,785 คน ส่วนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น 15.1% เมื่อนำมาหักกับดัชนีราคาผู้บริโภคหรือราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 3.4% ทำให้ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้น 11.4%
          นายอาคม กล่าวต่อว่า ในปี 55 นี้ มีสิ่งที่ควรเฝ้าระวัง 3 เรื่อง คือ แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการปรับเพิ่มราคาพลังงานในประเทศ ทั้งการปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าไฟฟ้าและค่าแรงขั้นต่ำ, การปรับเพิ่มผลิตภาพของแรงงานต้องสูงขึ้นตามค่าแรงที่ขึ้น รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้จบการศึกษาใหม่ ที่คาดว่าจะมีถึง 530,000 คน อาจทำให้มีการชะลอการจ้างงาน หรือจ้างงานเฉพาะที่ตรงกับความต้องการเท่านั้น
          ด้านนางสุวรรณี ยังกล่าวถึงโครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบัน ว่า โครงสร้างประชากรไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยสัดส่วนผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นจาก 11.9% ในปี 53 เป็น 25.1% ในปี 73 ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานลดลงโดยเฉพาะแรงงานอายุต่ำกว่า 35 ปี เริ่มหดตัวลงตั้งแต่ปี 53 ส่งผลให้วัยแรงงานต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่การลดลงของประชากรวัยเด็ก จะทำให้นักเรียนในอีก 10 ปีข้างหน้า ลดลงทุกระดับชั้นจึงเป็นโอกาสในการระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพมากขึ้นช่วยทดแทนกำลังแรงงานที่ลดลง
          ทั้งนี้ โครงสร้างดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาระและความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยกลุ่มวัยแรงงานรุ่นที่เกิดช่วงปี 2506-2526 ที่มีจำนวนเด็กเกิดมากกว่าล้านคน ที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นผู้สูงอายุนั้น มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานและผลผลิตในอนาคต ขณะที่โครงสร้างตลาดแรงงานนอกระบบที่สูง 62% เสี่ยงต่อการขาดหลักประกันทางสังคมเมื่อสูงอายุหรือไม่ได้ทำงาน, การออมเพื่อวัยสูงอายุยังมีปัญหาโดยเฉพาะครัวเรือนที่ยากจนมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ไม่สามารถออมได้ และการขาดการเตรียมตัวของแรงงานที่กำลังเป็นผู้สูงอายุ เป็นความเสี่ยงต่อภาระครอบครัวและภาระทางการคลังในการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนเด็กที่เกิดหลังและจะเข้าสู่วัยแรงงานยังมีปัญหาด้านพัฒนาการ รวมทั้งแรงงานอายุน้อยถึง 25% ยังมีการศึกษาต่ำ และมีแนวโน้มเป็นแรงงานไร้ฝีมือ.


pageview  1205145    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved